posttoday

กรณีศึกษาปัญหาการอุปสมบทของสตรีในพุทธศาสนาอีกครั้งที่ควรพิจารณา (จบ)“

17 ตุลาคม 2555

อุเบกขาธรรม อำนาจนี้จึงเป็นจุดศูนย์กลางที่เป็นที่พึ่งให้แก่ทุกฝ่ายได้ จุดศูนย์กลางนี้มีคุณค่าและความหมายก็ด้วยยุติในธรรม เป็นอำนาจธรรมที่ทำให้ปัญหาทั้งหมดยุติด้วยธรรมะ”

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

อุเบกขาธรรม อำนาจนี้จึงเป็นจุดศูนย์กลางที่เป็นที่พึ่งให้แก่ทุกฝ่ายได้ จุดศูนย์กลางนี้มีคุณค่าและความหมายก็ด้วยยุติในธรรม เป็นอำนาจธรรมที่ทำให้ปัญหาทั้งหมดยุติด้วยธรรมะ”

จะเป็นพระ จะเป็นฆราวาส อาตมาว่าเสมอกันที่ความดี ถ้าใครทำความดีตรงไหนได้ ทำตรงนั้นเถิด ทำตรงที่ทำได้ ฐานะใดที่เกื้อกูลให้ทำความดีได้ ก็ใช้ฐานะนั้นทำเถิด ทำความดีให้มากที่สุด ใช้สิ่งที่เป็นอยู่ ใช้สิ่งที่เป็นจริง ใช้สิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สุขในธรรม สิ่งนั้นมีคุณค่าทันที

ฐานะใดๆ ก็ตามแต่เป็นแค่เครื่องมือเท่านั้นเอง ซึ่งแท้จริงแล้วเราต้องการเข้าถึงแก่นธรรม หลักธรรมต่างหาก การเข้าถึงธรรม ชอบโดยธรรม ประพฤติโดยธรรม คือเรื่องอันยิ่งใหญ่

อาตมาย้ำอีกครั้ง ว่าการอาศัยฐานะทั้งปวงก็เพื่อให้เข้าถึงโลกุตรธรรม ฐานะใดที่ทำให้เข้าถึงธรรมได้ ถือว่าฐานะนั้นประเสริฐแล้ว เพราะสุดท้าย ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

แต่ในทางโลกียธรรมซึ่งมีปัจจัยทางสังคมแวดล้อมอยู่มากมาย อาจจะสร้างสุขหรือทุกข์ก็ได้ จะเจริญรุ่งเรืองหรือหายนะก็ได้ ถ้าสังคมนั้นไม่เป็นไปตามวิถีแห่งธรรม แน่นอนก็ย่อมทำให้สังคมเกิดความเร่าร้อนวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม กระบวนการของสังคมย่อมต้องรับผิดชอบต่อกฎระเบียบ และไม่ทำให้กฎหมายเกิดข้อขัดแย้งกับกฎศีลธรรม และต้องไม่ทำลายกฎวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามด้วย สังคมจึงต้องช่วยกันจรรโลงสร้างสรรค์ให้ทั้งสามกฎนี้ อันได้แก่ กฎศาสนา กฎวัฒนธรรม และกฎหมาย อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์โดยธรรม เพื่อสันติสุข เพื่อสันติธรรมที่จะเกิดขึ้นกับสังคมนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าออกกฎหมายใดๆ ก็แล้วแต่ หรือคิดเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนใหญ่ ต้องกลับไปพิจารณาวลีที่ว่า “จิตสำนึกภาคสังคมเพื่อประโยชน์โดยธรรม” ถ้าอำนาจใดที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับสังคม โดยอำนาจนั้นไม่เดินสายกลาง ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยธรรม สังคมนั้นก็ย่อมไม่เกิดความสงบสุข อำนาจดังกล่าวจึงต้องยุติโดยธรรม เพื่อให้เกิดความศานติสุขร่วมกัน ซึ่งในทางพระพุทธศาสนา เรียกอำนาจสายกลางนี้ว่า อุเบกขาธรรม อำนาจนี้จึงเป็นจุดศูนย์กลางที่เป็นที่พึ่งให้แก่ทุกฝ่ายได้ จุดศูนย์กลางนี้มีคุณค่าและความหมายก็ด้วยยุติในธรรม เป็นอำนาจธรรมที่ทำให้ปัญหาทั้งหมดยุติด้วยธรรมะ ยุติธรรมจึงเป็นความเที่ยงตรงที่เกิดขึ้นจากอำนาจจิตที่มีค่าความสำนึกที่ถูกต้องตามศีลธรรมในสังคม

การตรากฎหมายใดออกมาใช้ก็ตาม จึงต้องไม่ขัดแย้งต่อหลักพระพุทธศาสนาและต้องสามารถรองรับกฎศาสนาได้ด้วย และควรเป็นกฎหมายที่เชิดชูพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่อย่างถาวรสืบเนื่องตลอดไป เพื่อจะได้เกิดความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อความสุขในสันติธรรมของมนุษย์ เทพยดา และสัตว์ทั้งหลาย ถือเป็นการอนุเคราะห์โลก ความหมายที่กล่าวมาล้วนคืออำนาจธรรมแห่งพระพุทธศาสนา

โดยสรุปแล้วการเกื้อประโยชน์แก่สตรีที่มีความศรัทธาสูงยิ่งในพระพุทธศาสนา อันจะก้าวต่อไปสู่คำว่าบรรลุธรรม ความสิ้นทุกข์ ล้วนเป็นไปได้ทุกฐานะ หากฐานะนั้นเอื้อให้สตรีผู้นั้นเข้าถึงธรรมอันสมบูรณ์ อย่าลืมว่า เราต้องการการบรรลุธรรม ต้องการพุทธภาวะในจิต ต้องการความสิ้นทุกข์นั่นต่างหาก

จากความเป็นจริงดังที่กล่าวนี้ จึงมีข้อยุติโดยธรรมะว่า ทุกฐานะที่ให้คุณค่าอันสูงสุด กล่าวคือ เพื่อความสิ้นทุกข์ ทุกฐานะนั้นแลคือฐานะอันชอบธรรมโดยพระพุทธศาสนา ดังนั้นแล้วพระธรรมในพระพุทธศาสนาจึงมีขึ้นเพื่อความสิ้นทุกข์อย่างแท้จริง

อาตมาขอเจริญพร