posttoday

กรณีศึกษาปัญหาการอุปสมบทของสตรีในพุทธศาสนาอีกครั้ง ที่ควรพิจารณา (ตอน ๕)

15 ตุลาคม 2555

ญาณดังกล่าวนี้ คือตัวรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตที่พัฒนาด้วยคุณภาพที่ดีแล้ว ดังนั้นการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ญาณดังกล่าวนี้ คือตัวรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตที่พัฒนาด้วยคุณภาพที่ดีแล้ว ดังนั้นการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา จึงเป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิต Inside Develop ที่เรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” เป็นการเรียนรู้เข้าไปในธรรมชาติความจริงว่ามันเป็นเช่นนี้

ความรู้แจ้ง รู้จริงดังกล่าว เกิดขึ้นได้ด้วยญาณทัศนะวิสุทธิ จึงไม่ใช่เพียงแค่ความนึกคิด แต่เป็นการรู้เข้าไปถึงธรรมด้วยอำนาจแห่งธาตุตัวรู้

การเข้าสู่พระพุทธศาสนา จึงเป็นไปเพื่อการพัฒนาจิต เป็นไปเพื่อการพัฒนาอารมณ์ เป็นไปเพื่อการพัฒนาทัศนคติ และเพื่อการพัฒนาพฤติกรรม ถูกหรือไม่ ขอใช้ภาษาอังกฤษว่า To Learn To Change หมายถึงเป็นการเรียนรู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง พระพุทธศาสนาเป็นการเรียนรู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการในเชิงบวก เป็นความสร้างสรรค์อันไปสู่ความมีสันติและความสุขสงบ

การบวชเรียนของพระพุทธศาสนา จึงเน้นที่การพัฒนาจิต และเพื่อให้จิตนั้นมาพัฒนาพฤติกรรม กล่าวคือ ทั้งกาย วาจา ใจ ต้องสุจริต

กาย วาจา ใจที่สุจริต จึงปราศจากความเศร้าหมอง เนื่องจากสภาพแห่งจิตนั้น ชำระธุลี สิ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง จึงเป็นจิตที่พ้นจากโลกธรรม หรือจิตนั้นเป็นวิมุตติ แปลว่า จิตที่หลุดพ้นจากทางโลก

การที่จิตจะพัฒนาไปจนถึงขั้นญาณทัศนะวิสุทธิได้ ต้องอาศัยตั้งแต่ศีลเป็นเบื้องต้น

ศีลคืออะไร ศีลคือความตั้งมั่นรู้ชอบว่าควรกระทำในสิ่งนี้ หรือไม่ควรกระทำในสิ่งนี้ ไม่ละเมิดกาย วาจา ใจ เพราะเกรงกลัวต่อบาป และเน้นที่การทำความดี ประพฤติธรรม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ประการต่อมาของการบวชในพระพุทธศาสนาก็เพื่อมุ่งเน้นให้รู้ให้เข้าใจ ให้รู้แจ้งในอริยสัจ ทำอย่างไรให้เข้าถึงแก่นธรรม ตรงนี้สำคัญ การบวชไม่ใช่เรื่องของบุคคล แต่เป็นเรื่องของธรรม หากบวชผิดพระธรรมวินัย ก็เปรียบเสมือนอาภัพบุคคล ประดุจต้นไม้ที่ไม่มีราก ปลูกไม่ขึ้น ไม่ให้ผล ยิ่งเมื่อปฏิบัติธรรมแล้ว ได้ผลหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จด้วยพระธรรมวินัย ก็ย่อมไม่ได้ผล

พระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดแจ้งว่า โย โว อานันท มยา ธัมโม จ วินโย จ เทสิโต ปัญญัตโต โส โว มมัจจเยน สัตถา แปลว่า พระธรรมวินัยนี้เป็นองค์แทนของพระบรมศาสดาเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว... “ดูกร อานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้ว วินัยอันเราบัญญัติแล้ว อันใดแก่ท่านทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ธรรมและวินัยนั้น เป็นศาสดาแห่งท่านทั้งหลาย”

ดังนั้น พระธรรมวินัยจึงคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก อาตมาจึงบอกว่าไม่สามารถแตะต้องได้ ไม่สามารถใช้กฎหมายมาบังคับให้เปลี่ยนแปลงได้ และอริยสัจที่เกิดขึ้นนั้น เกิดด้วยพุทธะ เกิดด้วยพระสัพพัญญู ไม่ใช่ความรู้ของบุคคล ไม่ใช่ความรู้ของชาวโลก ไม่ใช่อย่างนั้น

พระสงฆ์ที่บวชเข้ามา หากไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็ถือว่าการบวชนั้นเป็นโมฆะ จึงเห็นพระภิกษุสายอรัญวาสี อย่างเช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ต้องเล็งหาพระอุปัชฌาย์สงฆ์ที่บริสุทธิ์ในการนั่งกระทำการสังฆกรรมเพื่อกระทำญัตติจตุตถกรรม (เป็นสังฆกรรม ๑ ใน ๔ อย่างของภิกษุสงฆ์ที่ทำร่วมกัน จัดเป็นสังฆกรรมที่มีน้ำหนักมากที่สุด หนักแน่นที่สุด ใช้ทำกรรมที่สำคัญมาก เช่น การให้อุปสมบท) เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิผลในการบวช และการบวชนั้นต้องบริสุทธิ์ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมวินัย อันเป็นพุทธอาณาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นไม่ว่าการบวชของสงฆ์ที่เป็นภิกษุหรือภิกษุณี จะสำเร็จความเป็นพระถูกต้องอย่างสมมติสงฆ์หรือไม่นั้น ความถูกต้องขึ้นอยู่กับพระธรรมวินัย และคงดำเนินความเป็นสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัยจนกว่าจะพัฒนาเป็นพระอริยสงฆ์ด้วยการปฏิบัติเรียนรู้ ประพฤติชอบโดยธรรม จึงจะเข้าถึงธรรม ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้น

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้