posttoday

คำถามคำตอบเกี่ยวกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

14 ตุลาคม 2555

คอลัมน์นี้ ได้พูดถึงหนังสือ 4 เล่มที่พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองพระชันษา 99 ปี

โดย...สมาน สุดโต

คอลัมน์นี้ ได้พูดถึงหนังสือ 4 เล่มที่พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองพระชันษา 99 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ไปครั้งหนึ่ง ในจำนวนนั้นหนังสือ 99 คำถาม เป็นเล่มหนึ่งที่ผู้อ่านสนใจ ซึ่งได้ตีพิมพ์ในคอลัมน์นี้แล้ว 2 คำถาม วันนี้นำคำถามที่ 13 และ 4448 มาตีพิมพ์ไว้ เพราะเป็นเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระองค์

คำถามที่ 1 ในสมัยเด็กพระองค์ท่านทรงรักใครมากกว่ากัน ระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่

คำตอบ – สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 3 ต.ค. 2456 เวลาประมาณ 10 ทุ่มเศษ (หรือเวลาประมาณ 4 นาฬิกาเศษ ของวันเสาร์ที่ 4 ต.ค. ตามที่นับแบบปัจจุบัน) พระชนกชื่อนายน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2465) พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2508)

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น โยมป้าเฮ้งผู้เป็นพี่ของพระชนนีได้ขอไปเลี้ยงตั้งแต่ยังเด็กๆ และได้อยู่กับโยมป้าเรื่อยมา แม้เมื่อพระชนนีย้ายไปอยู่ จ.สมุทรสงคราม ก็หาได้นำสมเด็จฯ ไปด้วยไม่ เพราะเกรงใจโยมป้าซึ่งรักเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาก ส่วนพระชนกนั้นส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด จนกระทั่งป่วยจึงกลับมารักษาตัวที่บ้านเมืองกาญจนบุรี และถึงแก่กรรม เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีพระชันษา 9 ปี

ดังนั้น เมื่อยังเยาว์วัย พระองค์ไม่ได้อยู่กับพระชนกและพระชนนี เติบใหญ่มาภายใต้การเลี้ยงดูของโยมป้าเฮ้ง อย่างไรก็ตามในยามที่พระชนนีชราภาพ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงรับมาอยู่ด้วยที่วัดเพื่อจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีเรือนไม้หลังเล็กอยู่ข้างตำหนักคอยท่าปราโมช เข้าใจว่าคงทูลขอสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เป็นการพิเศษ เนื่องจากทางวัดบวรนิเวศวิหารไม่ได้มีที่พักสำหรับอุบาสิกา

อีกเรื่องที่แสดงถึงความรักความห่วงใยที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีต่อพระชนนีก็คือ เมื่อครั้งที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังเป็นพระเปรียญธรรม 7 ประโยค เคยมีผู้มาชักชวนให้ไปเป็นอนุศาสนาจารย์ และพระองค์ก็คิดอยากจะไปเป็นอนุศาสนาจารย์ตามคำชวนนั้น จึงได้ยื่นหนังสือขอลาสิกขา โดยในสมัยนั้นนอกจากจะต้องลาเจ้าอาวาสแล้วยังต้องทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถึงกระทรวงศึกษาธิการด้วย ระหว่างนั้นเองพระชนนีทราบเรื่องก็รีบมาพบพระองค์ท่านที่กุฏิและบอกว่า “หากคุณมหาสึก อิชั้นจะผูกคอตาย” ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงมีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงศึกษาธิการขอถอนใบลาที่ส่งไปก่อนหน้า โดยให้เหตุผลว่า “มีความจำเป็นอย่างที่สุดที่จะลาสิกขาไม่ได้”

ต่อคำถามที่ว่ามานั้น จึงเป็นการยากที่จะชี้ชัดลงไปว่า ทรงโปรดพระชนกหรือพระชนนีมากกว่ากันเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ แต่ทรงแสดงความรักต่อพระชนนีทุกครั้งที่มีโอกาส

คำถามที่ 2 อยากทราบเรื่องราวช่วงที่เป็นจุดเปลี่ยนแต่ละช่วงของท่าน ว่าผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาอย่างไร

คำตอบ – จุดเปลี่ยนคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดการหันเหทิศทางในชีวิต จุดเปลี่ยนช่วงบวชเณรน่าจะเป็นจุดสำคัญด่านแรก ที่เริ่มต้นด้วยบวชแก้บน เนื่องจากตอนเด็กเรียนหนังสือเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ป่วยหนักมาก โยมป้าถึงกับบนไว้ว่าถ้าหายป่วยจะให้บวช ประกอบกับเมื่อเรียนจบประถมห้า ไม่รู้จะทำอะไร ในขณะที่เพื่อนๆ เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อ ส่วนพระองค์ท่านไม่มีทุน ไม่มีคนส่งเสีย พระชนกก็เสียไปแล้ว อยู่กับโยมป้า ไม่มีกำลังพอจะส่งเสียและไม่มีคนชี้แนะว่าควรจะเรียนอะไร พระองค์ท่านใช้คำว่ามันมาถึงทางตันไม่รู้จะทำอะไร โยมป้าก็เลยบอกว่าไหนๆ หายเจ็บแล้วก็บวชแก้บนเสีย และเป็นปีที่น้าชายบวช 2 คนจึงให้บวชพร้อมกันไปในคราวเดียว

ประกอบกับเมื่อบวชแล้วหลวงพ่อดี วัดเหนือ พระอุปัชฌาย์ ช่วยแนะนำและผลักดันให้มาสนใจเรื่องศึกษาเล่าเรียนต่อ จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยชี้ทางว่าจะไปทางไหน ต้องถือว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่แค่ส่งไปเรียนเฉยๆ แต่ตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องให้ลูกศิษย์กลับมาสอนที่โรงเรียนที่วัดเหนือด้วย หลวงพ่อดีได้พาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาฝากเรียนบาลีที่วัดเสนหา นครปฐม แล้วต่อมาพามาฝากที่วัดบวรนิเวศวิหารในปี พ.ศ. 2472 และปีถัดมาทางหลวงพ่อดีก็สร้างโรงเรียนบาลีรอไว้ที่วัดเหนือด้วย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งก็คือ เมื่อสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยคแล้วเคยคิดจะลาสิกขาแต่โยมแม่ไม่ยอม ในช่วงนี้ประมาณ พ.ศ. 2480 กำลังเริ่มเรียนภาษาต่างๆ ทั้งภาษาสันสกฤต อังกฤษ ที่นับว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่ง คือการหันมาสนใจกรรมฐานตามที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงแนะนำ แม้กระนั้นก็ยังไม่ทิ้งการเรียนภาษาที่สนใจแต่แรก ความรู้ทางด้านภาษาและด้านกรรมฐานที่หันมาสนใจมากขึ้นในระยะนี้ จึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการปฏิบัติพระศาสนกิจของพระองค์ในเวลาต่อมา

จุดเปลี่ยนที่สี่ คือการเป็นพระพี่เลี้ยงของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2499 และการเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ปี พ.ศ. 2506 ซึ่งเป็นพระภารกิจที่มีความท้าทายหลายด้าน

คำถามที่ 3 เนื่องจากเหตุผลใดพระองค์จึงได้รับเลือกให้เป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระผนวช และท่านรู้สึกอย่างไร

คำถามคำตอบเกี่ยวกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

 

คำตอบ – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวชที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 ต.ค. พ.ศ. 2499 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ แล้วเสด็จฯ มาทรงปฏิบัติสมณวัตรในสำนักสมเด็จพระราชอุปัธยาจารย์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงวันที่ 5 พ.ย. พ.ศ. 2499 รวมเป็นเวลา 15 วัน จึงทรงลาผนวช

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงมอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้มอบหมายสนองพระเดชพระคุณ จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า “หัวใหม่” ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา

ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า “บวชด้วยศรัทธา” เพราะทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา ประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

ส่วนที่ได้รับเลือกให้เป็นพระพี่เลี้ยงของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น น่าจะมาจากเหตุผลเรื่องความรู้ความสามารถและอาวุโสที่ไม่สูงเกินไป ศิษย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ คงเห็นแววบางอย่างของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และคงพอพระทัยในเรื่องของความรู้ความสามารถและความประพฤติ เพราะตามที่เขาเล่าให้ฟังก็คือเวลาที่มีอะไร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ มักจะเรียกเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปใช้ไปทำ ตั้งแต่สมัยยังเป็นพระเปรียญ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ มักทรงเรียกเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า “อาจารย์เจริญ” ไม่ได้เรียกว่า “คุณเจริญ” หรือ “มหาเจริญ”

คำถามที่ 44

ตามที่สมเด็จพระสังฆราชประชวรและได้ประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น ท่านประชวรด้วยโรคอะไร ปัจจุบันนี้มีพระอาการเป็นอย่างไรบ้าง

คำตอบ – สมเด็จพระสังฆราชประชวรด้วยโรคชราภาพ ตามพระอายุขัย ซึ่งแทรกซ้อนตามมาด้วยเบาหวาน ไต เป็นต้น เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันนี้มีพระอาการเป็นปกติตามพระอัตภาพ

คำถามที่ 45 สมเด็จพระสังฆราชประทับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตลอดเวลา แสดงถึงอาการประชวรของพระองค์เป็นที่น่าตกใจ แต่เมื่อวันสำคัญทางศาสนา พระองค์จะเสด็จมาวัดบวรนิเวศวิหารทุกครั้ง ทรงสามารถสนทนาปราศรัยกับผู้ที่ไปเฝ้าเสมอ พระองค์สามารถปฏิบัติธรรมได้เสมอมาโดยตลอด ฉะนั้นจะอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนเข้าเฝ้าเยี่ยมพระองค์ที่โรงพยาบาลได้หรือไม่

คำตอบ – ในระยะแรกที่เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลเมื่อราว 10 ปีก่อน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เสด็จกลับมาที่วัดเป็นครั้งคราว แต่ระยะหลังนี้ไม่สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากคณะแพทย์เห็นว่าต้องได้รับการรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ ปัจจุบันไม่สามารถสนทนาได้ เพราะเจาะพระศอ พุทธศาสนิกชนที่ประสงค์เข้าเฝ้าเยี่ยมพระองค์ที่โรงพยาบาลสามารถทำได้ แต่ต้องติดตามวันที่โรงพยาบาลอนุญาตให้เข้าเฝ้า โดยติดตามข่าวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารสามัคคีพยาบาร

คำถามที่ 46 คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาสมเด็จพระสังฆราชมีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างไร

คำตอบ – โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ตั้งคณะกรรมการคณะแพทย์พร้อมคณะพยาบาลเฉพาะเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชครอบคลุมทุกด้าน แต่ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจที่จะรักษาในรูปแบบใดต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าแพทย์หลวงเสียก่อน และต้องแจ้งคณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหารทราบด้วย

คำถามที่ 47 ระหว่างที่สมเด็จพระสังฆราชประทับอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการจัดเวรสำหรับลูกศิษย์ที่ดูแลท่านอย่างไร

คำตอบ – ทางวัดบวรนิเวศวิหารมีการจัดพระภิกษุสามเณรอยู่เวรถวายการอุปัฏฐาก โดยแบ่งเวรเป็น 2 กะ หมุนเวียนไประหว่างพระภิกษุสามเณรทุกรูปในวัด

คำถามที่ 48 เกี่ยวกับการดำเนินงานในระหว่างที่สมเด็จพระสังฆราชประชวร มีการจัดแบ่งงานของคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอย่างไร

คำตอบ – มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 20/2547 เมื่อวันที่ 20 ก.ค. พ.ศ. 2547 มีมติเลือกคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชโดยอาศัยอำนาจตามวรรค 5 ของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2547 มีพระราชาคณะชั้นสมเด็จทั้งหมด 8 รูป เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ งานทางคณะสงฆ์ทั้งหมดจะจัดแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงานกันไป ประกอบด้วย

สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศ เป็นประธานคณะกรรมการผู้ปฏิบัติ‌หน้าที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วงวรปุญฺโญ ป.ธ.9) วัดปากน้ำสมเด็จพระมหาวีรวงศ์‌(มานิต ถาวโร ป.ธ.9) วัดสัมพันธวงศารามสมเด็จ‌พระมหามุนีวงศ์(อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6) วัดราช‌บพิธสถิตมหาสีมารามสมเด็จพระวันรัต(จุนท์พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหารสมเด็จ‌พระพุทธโฆษาจารย์(วีระ ภทฺทจารี ป.ธ.9) วัดสทัศนเทพวรารามสมเด็จพระธีรญาณมุนี‌(สมชาย วรชาโย ป.ธ.8) วัดเทพศิรินทราวาส ‌สมเด็จพระพุทธชินวงศ์(สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) ‌วัดพิชยญาติการาม

ในส่วนพระองค์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เองผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้สนองงานถวาย