posttoday

กรณีศึกษาปัญหาการอุปสมบทของสตรีในพุทธศาสนาอีกครั้งที่ควรพิจารณา (ตอน ๓)

11 ตุลาคม 2555

โดย...พระอาจารย์อาจารยะวังโส

โดย...พระอาจารย์อาจารยะวังโส

พระพุทธศาสนาสอนหลักความจริงนี้ การเคลื่อนไหวในพระธรรมวินัยทั้งหมด เคลื่อนไปหาความจริงอันสูงสุดตรงนี้ เส้นทางความเคลื่อนไหวดังกล่าวเรียกว่า มรรค คือ มรรคที่เรารู้ว่าเป็นอริยมรรค เป็นไปโดยไม่มีโทษ มีแต่คุณ มรรคนี้เป็นความประเสริฐ มรรคนี้เป็นไปโดยความสิ้นทุกข์ จึงเรียกว่า อริยมรรค

อาตมาอยากให้ทุกท่านเข้าใจเรื่องจิตและธรรมชาติแห่งจิต และขอให้เข้าใจคำว่า กฎแห่งกรรม หรืออีกนัยหนึ่ง กรรมนิยาม (Moral Laws) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ธรรมนิยาม (Causal Laws) คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลายเป็นกฎสากลที่ครอบคลุมความเป็นไปทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ เช่น กฎแห่งอนิจจัง อิทัปปัจจยตากฎข้อนี้มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางที่สุด

จิตนิยาม (Psychological Laws) คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกลไกการทำงานของจิต เช่น การเกิดดับของจิต การรับอารมณ์ของจิต องค์ประกอบของจิต (เจตสิก) พีชนิยาม (Biological Laws) คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ การสืบพันธุ์หรือพันธุกรรมก็จัดอยู่ในพีชนิยาม เช่นเดียวกับกฎทฤษฎีทางชีววิทยาทั้งหมด และ อุตุนิยาม (Physical Laws) คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของปรากฏการณ์ในธรรมชาติ เกี่ยวกับวัตถุที่ไม่มีชีวิตทุกชนิด เช่น ฤดูกาล อุณหภูมิ ดินฟ้าอากาศ ปรากฏการณ์ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แม้กระทั่งการเกิดของโลกและจักรวาลก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติข้อนี้ เช่นเดียวกับกฎทางฟิสิกส์ทั้งหมด

ขอให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้อันเป็นกฎธรรมชาติในพระพุทธศาสนา ต้องอย่าลืมว่านี่คือกฎความจริงที่ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เปลี่ยนไปจากนี้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น อันหมายถึง ตถตา ซึ่งเป็นคำสรุปรวมของเรื่องปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตาที่ครอบโลกให้เหลืออยู่เพียงว่า ตถตา-เป็นอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น “สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” “สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด” “สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ” ซึ่งยังแบ่งแยกย่อยออกไปอีก กล่าวคือ อวิตถตา-ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา-ไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น ธัมมัฏฐิตตาเป็นความตั้งอยู่โดยความเป็นธรรมดาของธรรมชาติ ธัมมนิยามตา-เป็นกฎตายตัวของธรรมดา

นี่คือกฎแท้จริงของธรรมชาติ (Natural Laws) เป็นกฎอันยิ่งใหญ่มาก ผู้ใดก็ตามแต่ที่ค้นคว้ากฎดังกล่าว เข้าถึงกฎแห่งความจริงได้ด้วยตัวของผู้นั้น ผลนี้จึงเรียกว่าผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง กฎดังกล่าว รวมแล้วก็คือ “อนัตตา” การไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของของตน เป็นความหมายแห่งการปฏิเสธคำว่า อัตตา

พราะฉะนั้น การจะพูดคุยอะไรกัน ควรต้องทำเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน อุปมาเหมือนการยื่นมือไปสัมผัสพระอาทิตย์ ไม่ได้หรอก อาตมาเป็นพระ เล่าเรียนธรรมมามากพอสมควร ยังไม่กล้าแตะต้อง ไม่วินิจฉัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ แม้นพระพุทธองค์สอนให้เรารู้จักปุจฉา แต่ต้องหาความหมายของวิสัชนาให้พบด้วย เราควรถามหรือปุจฉาอยู่ในกระบวนการที่รู้จักคิดไปพร้อมกัน

กระบวนการที่รู้จักคิด ก็คือ โยนิโสมนสิการ หมายถึง การคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ มี ๑๐ วิธีการคิดที่ถูกต้อง (๑.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ๒.วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ ๓.วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา ๔.วิธีคิดแบบแก้ปัญหา ๕.วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ โดยคิดเชื่อมโยงหลักการและความมุ่งหมาย ๖.วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก ๗.วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้คุณค่าเทียม ๘.วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม ๙.วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน ๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท แยกประเด็นปัญหา ไม่มองปัญหาด้านเดียว) ประโยชน์แห่งการคิดอันถูกต้อง ถูกจุด ถูกธรรม คือคิดด้วยปัญญา และปัญญานั้นจึงนำไปสู่ความสิ้นทุกข์

ดังนั้น ในเรื่องพระพุทธศาสนา ไม่ว่าหลักการ หลักเกณฑ์ หลักธรรม มีความชัดเจนไปหมดทุกด้าน ไม่สามารถเปลี่ยนได้ พระพุทธองค์ได้มีพระดำรัส ตรัสไว้ชัดแจ้งว่า ผู้ใดที่เปลี่ยนแปลงต่อเติม ถือเป็นอลัชชี แปลว่า ผู้ไม่ละอาย หรือหมายถึงพระภิกษุผู้ประพฤตินอกรีตนอกรอยบทบัญญัติของศาสนา ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยโดยไม่ละอายใจ ไม่ละอายชาวโลก ไม่ใส่ใจถึงกฎระเบียบตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่

อาตมาก็ต้องขอกล่าวไว้ตรงนี้ว่า พระพุทธศาสนามิใช่สิ่งที่ขึ้นอยู่กับกาลสมัย พระพุทธศาสนาเป็นอริยสัจที่อยู่เหนือกาลเวลา เป็นธรรมเหนือโลก และยังเป็นการเรียนรู้ที่เหนือความคิด หากต้องการเข้าถึงพระธรรม ต้องยุติความคิดปรุงแต่งที่เป็นวิจิกิจฉาทั้งปวง

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้