posttoday

กรณีศึกษาปัญหาการอุปสมบทของสตรีในพุทธศาสนาอีก ครั้งที่ควรพิจารณา (ตอน ๒)

10 ตุลาคม 2555

พระพุทธศาสนาไม่ใช่ลัทธิความเชื่อ แต่พระพุทธศาสนาเป็นกฎแห่งความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นธรรมธาตุ เป็นธรรมธิติ เป็นธรรมนิยาม

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

“พระพุทธศาสนาไม่ใช่ลัทธิความเชื่อ แต่พระพุทธศาสนาเป็นกฎแห่งความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นธรรมธาตุ เป็นธรรมธิติ เป็นธรรมนิยาม เราไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงธรรมนิยาม ตั้งแต่สร้างโลกจนโลกสลาย ไม่ว่าโลกจะอุบัติขึ้นกี่ร้อยครั้งกี่พันครั้ง ไม่ว่าโลกจะเคลื่อนไหวไปสู่ยุคสมัยใด อริยสัจก็ยังตั้งมั่นเป็นอริยสัจเสมอ”

 เนื่องเพราะพระอาจารย์อารยะวังโส ท่านนำหลักคิดข้อธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแจกแจงเผยแผ่ให้แก่สาธุชนที่เป็นพุทธมามกะทั้งหลาย ได้สดับถึงเหตุและปัจจัยในโอกาสการอุปสมบทของสตรี หรือแม้กระทั่งข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า ทำไมเมืองไทยจึงไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ถือครองจีวร นุ่งห่มผ้าเหลืองเฉกเช่นบุรุษที่อยู่ในสังคมเดียวกัน

ต่อไปนี้จึงเป็นการบรรยายธรรมจากพระอธิการอารยะ อารยะวังโส เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จ.ลำพูน เพื่อสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องร่วมกันในหมู่ชนชาวพุทธในประเทศไทย

...ขอเจริญพรสาธุชนผู้ฟังทุกๆ ท่าน คือจริงๆ แล้วต้องย้อนกลับไปที่ปัญหา เพราะมีการตั้งคำถาม ทำไมผู้หญิงจึงบวชเป็นภิกษุณีในประเทศไทยไม่ได้ ทำไมต้องไปบวชถึงศรีลังกาหรือไต้หวัน จึงทำให้เกิดการตั้งโจทย์ขึ้นมาจากนักสิทธิมนุษยชน จากผู้ที่มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมบทบาทของสตรี รวมถึงนักวิชาการ ท่านสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นสตรีบางท่าน ก็พยายามตั้งคณะศึกษาปัญหาดังกล่าว

เมื่อวันที่ ๑๐ ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวกันไป ขณะเดียวกัน คุณพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เล็งเห็นปัญหานี้ว่าน่าศึกษา จึงนิมนต์อาตมามาบันทึกเทปโทรทัศน์ออกรายการให้ความรู้ จนนำไปสู่ความสนใจของประชาชนจำนวนมากขึ้นๆ

ถามว่าเหตุใดจึงมีความสนใจกันยิ่งนัก คงเป็นเพราะว่าหลายคนได้มีการตั้งคำถามกันมาตลอด ว่าทำไมที่อื่นจึงบวชภิกษุณีได้ แต่เหตุใดประเทศไทยจึงบวชไม่ได้ ทำไมพุทธศาสนาในประเทศไทย ไม่มีวงศ์ภิกษุณีสืบต่อ ทำไมผู้หญิงไทยต้องไปอุปสมบทยังต่างประเทศ

การบวชเป็นภิกษุณีในพุทธเถรวาทที่หลักพุทธศาสนาในประเทศไทยยึดถืออยู่ ไม่สามารถสืบเนื่องภิกษุณีได้ ซึ่งข้อนี้ประเทศไทยประกาศชัดแจ้งมาก ถ้าเช่นนั้นภิกษุณีทั้งหลายที่บวชจากต่างประเทศมาแล้ว อาศัยกฎหมายรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพื่อที่จะมีฐานะการเป็นนักบวชในนิกายหนึ่งตาม มาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเราได้วิเคราะห์กันถึงเรื่องนี้

มีจดหมายจากนักวิชาการในแวดวงสิทธิสตรีหลายท่านมาถึงอาตมาเพื่อแสดงความคิดเห็นต่างๆ โดยส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่าเราสามารถใช้ข้อกฎหมายเพื่อเปิดสถานะให้แก่ผู้หญิงที่อยากบวชเป็นภิกษุณีในเมืองไทยได้หรือไม่

ความจริงเรื่องนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า ต้องกลับมาหาความจริงในหลักแห่งการดำเนินชีวิตของสัตว์สังคม เรามีอยู่สามหลัก หลักที่หนึ่ง ก็คือกฎศาสนา การเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศาสนา ไม่ใช่ฐานะของมนุษย์ที่ประเสริฐ ทุกคนต้องนับถือศาสนา เพราะนี่คือหลักพึ่งทางจิตใจ หลักที่สอง มนุษย์ต้องมีกฎสังคม มีจารีตวัฒนธรรมอันดีที่สืบเนื่องมาแต่บรรพชน อะไรดีๆ ที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความเจริญรุ่งเรือง ความงดงาม ความเรียบร้อย ที่ถือสืบกันมาเรียกว่าวัฒนธรรม เป็นกฎแห่งสังคม ส่วนหลักที่สาม

เรียกว่ากฎหมาย อันเป็นสิ่งค้ำยันให้สังคมนั้นดำรงอยู่ได้ เป็นกรอบหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้วัฒนธรรมมีความสืบเนื่องได้ ความสืบเนื่องนี้จึงอยู่ภายใต้กรอบอันหนึ่งซึ่งหมายถึงกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายจึงมีหน้าที่ช่วยค้ำชูสังคม เชิดชูวัฒนธรรมอันดี และทำนุบำรุงศาสนาให้มีความรุ่งเรืองสืบต่อไป แต่กฎหมายจะมาแย้งต่อกฎศาสนาไม่ได้

เพราะพระพุทธศาสนาไม่ใช่ลัทธิความเชื่อ แต่พระพุทธศาสนาเป็นกฎแห่งความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นธรรมธาตุ เป็นธรรมธิติ เป็นธรรมนิยาม เราไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงธรรมนิยาม ตั้งแต่สร้างโลกจนโลกสลาย ไม่ว่าโลกจะอุบัติขึ้นกี่ร้อยครั้งกี่พันครั้ง ไม่ว่าโลกจะเคลื่อนไหวไปสู่ยุคสมัยใด อริยสัจก็ยังตั้งมั่นเป็นอริยสัจเสมอ

แม้แต่องค์พระสัพพัญญูอย่างเช่นพระพุทธเจ้ายังทรงเคารพในธรรม ยกธรรมเป็นสรณะ ทรงบูชาธรรม

ธรรมดังกล่าวนี้ก็คือธรรมนิยาม ธรรมดังกล่าวเป็นอริยสัจ ธรรมดังกล่าวเป็นความจริงสูงสุดที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เรียกว่าอกาลิโก ไม่ขึ้นกับกาลเวลา อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทั้งหมด เรียกว่า โลกุตรธรรมก็ว่าได้ เรียกว่าอสังขตธรรมก็ว่าได้ หรืออสังขตธาตุก็ว่าได้ ไม่เปลี่ยนแปลง และจะเป็นเช่นนี้เสมอ เพราะมันจะต้องเป็นอย่างนี้ คือ หนึ่ง ไม่เที่ยง สอง เป็นทุกข์ สาม เป็นอนัตตา เรียกกฎดังกล่าวว่าพระไตรลักษณญาณ

พระพุทธศาสนาสอนหลักความจริงนี้ การเคลื่อนไหวในพระธรรมวินัยทั้งหมด เคลื่อนไปหาความจริงอันสูงสุดตรงนี้ เส้นทางความเคลื่อนไหวดังกล่าว เรียกว่ามรรค คือ มรรคที่เรารู้ว่าเป็นอริยมรรค เป็นไปโดยไม่มีโทษ มีแต่คุณ มรรคนี้เป็นความประเสริฐ มรรคนี้เป็นไปโดยความสิ้นทุกข์ จึงเรียกว่าอริยมรรค

อาตมาอยากให้ทุกท่านเข้าใจเรื่องจิตและธรรมชาติแห่งจิต และขอให้เข้าใจคำว่ากฎแห่งกรรม หรืออีกนัยหนึ่ง กรรมนิยาม (Moral Laws) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ธรรมนิยาม (Causal Laws) คือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลายเป็นกฎสากลที่ครอบคลุมความเป็นไปทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ เช่น กฎแห่งอนิจจัง อิทัปปัจยตากฎข้อนี้มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางที่สุด

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้