posttoday

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ก่อตั้งธรรมยุต บรรลุพระนิพพาน

07 ตุลาคม 2555

สัปดาห์ก่อนโน้นได้หนังสือเก่าเรื่อง มรโณบาย ของ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) มา เป็นหนังสือเก่าหายาก เมื่อนำมาตีพิมพ์ใหม่ในคอลัมน์นี้แล้ว

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

สัปดาห์ก่อนโน้นได้หนังสือเก่าเรื่อง มรโณบาย ของ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) มา เป็นหนังสือเก่าหายาก เมื่อนำมาตีพิมพ์ใหม่ในคอลัมน์นี้แล้ว ก็รุมๆ อยู่ในใจว่า อยากจะไปวัดโสมนัสราชวรวิหาร กทม. เพื่อเสาะหาดูว่า ทางวัดยังมีเทศนาเรื่องอื่นๆ ของพระคุณท่านอีกหรือไม่ เพราะเทศนาของสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) นั้น เป็นเทศนาชั้นยอดที่เป็นดอกผลจากปริยัติและปฏิบัติ เป็นแนวทางที่ควรจะศึกษาอย่างยิ่ง

ต้องขอขอบพระคุณทายกและทายิกาวัดโสมนัสฯ ที่ได้กรุณาชี้แนะอย่างดี ที่น่าประทับใจคือ วัดโสมนัสฯ ได้แบ่งสถานที่ไว้จำหน่ายหนังสือธรรมะไว้อย่างเป็นสัดส่วน แถมมีหนังสือหลากหลาย บางเล่มเป็นหนังสือที่หาไม่ได้ทั่วไป หนึ่งในนั้นคือ “ประวัติ ผลงานและรวมธรรโมวาท ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริมหาเถร)”

หนังสือเล่มนี้พิมพ์มาทั้งหมด 4 ครั้ง ล่าสุดคือ ปี 2550 แต่ก็พิมพ์จำนวนน้อยมากคือ 1,000 เล่มเท่านั้น

หนังสือเล่มนี้ นอกจากจะบอกเล่าประวัติสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ยังรวบรวมธรรโมวาทของพระคุณท่านไว้ 12 เรื่อง คือ วิธีบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนและวิธีไหว้พระ/วิธีรักษาศีล 5 และศีลอุโบสถ จตุรารักขกัมมัฏฐาน/วิธีเจริญวิปัสสนาโดยย่อ/ปกิณณกกถา/สังขิตโตวาท/สติสัมปชัญญกถา/อัฏฐังคิกมรรค/อธิษฐานธรรม/การเตรียมตัวก่อนตาย/นิพพานธรรมและบันทึกโอวาท

ใครสนใจก็ลองไปที่วัดนะครับ เพราะเท่าที่เห็นก็เหลือไม่มากแล้ว

ธรรโมวาทของสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เหล่านี้ บางเรื่องได้เปลี่ยนชีวิตผู้คนมาแล้วอย่างสุดจะพรรณนา อาทิ จตุรารักขกัมมัฏฐานนั้น ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งอ่านแล้วถึงกับตัดสินใจออกบวชตลอดชีพ ในเวลาต่อมาชายหนุ่มผู้นั้นเป็นที่สักการะของพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนทั่วประเทศ ในนาม พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) จ.หนองคาย

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ก่อตั้งธรรมยุต บรรลุพระนิพพาน

เรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ เรื่อง “สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) อาริยะเหนือสมณศักดิ์” มาแล้วครั้งหนึ่ง

หนังสือเล่มนั้น เป็นตำรับตำราสำคัญที่พระกัมมัฏฐานใช้ศึกษากันมานาน พ่อแม่ครูอาจารย์ก็สรรเสริญ พิมพ์ต่อเนื่องกันมาโดยบางช่วงบางยุคไพล่เข้าใจผิดคิดว่า เป็นหนังสือที่รจนาโดยพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ก็มี

โอกาสนี้ ขอเก็บความจาก “ประวัติ ผลงานและรวมธรรโมวาท ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริมหาเถร)” มาเสนอเพื่อให้เรื่องราวของท่านมีความสมบูรณ์ขึ้นจากที่เคยเสนอไปแล้วครั้งหนึ่ง ดังนี้

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2349 ซึ่งเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ถิ่นฐานเดิมของท่านอยู่แถวๆ วัดเทวราชกุญชรในปัจจุบัน

ไม่มีหลักฐานว่า ท่านบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่เมื่อไหร่ ทราบแต่ว่า ท่านบรรพชาที่วัดสังเวชวิศยาราม ย่านบางลำพู เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างวัดราชโอรสขึ้นก็โปรดให้ท่านไปอยู่ที่วัดราชโอรส

ในปี 2369 หรือรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 3 นั่นเอง ท่านได้อุปสมบทที่วัดเทวราชกุญชรแล้วไปอยู่ในสำนักวัดราชาธิวาส โดยไปศึกษาที่วัดเบญจมบพิตรบ้าง วัดชนะสงครามบ้าง

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) รูปนี้ มีความสำคัญนัก เพราะท่านเป็น 1 ใน 10 รูป ที่ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเป็นพระวชิรญาณเถระก่อตั้งวงศ์พระธรรมยุตขึ้นในประเทศไทย

ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช และประทับอยู่ที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส นั้น ทรงศึกษาและปฏิบัติแล้วพบว่า “หลักการปฏิบัติสับสน ขาดหลักอ้างอิงที่แน่นอน เป็นแต่เพียงรับฟังคำบอกเล่าของโบราณาจารย์ ปฏิบัติไปก็ยิ่งห่างไกลจากความรู้”

หลังตั้งพระทัยว่าจะศึกษาให้แตกฉาน ก็ทรงสอบระเบียบแบบแผนและคัมภีร์ต่างๆ แล้วพบว่า “ศาสนวงศ์อันตรธานมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งโน้นแล้ว” จึงทรงตั้งสัจจกิริยาธิษฐานในอุโบสถวัดมหาธาตุฯ ว่า

“ข้าพเจ้าออกบวชด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใส มิได้เพ่งต่ออามิส สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ถ้าวงศ์บรรพชาอุปสมบทมีเนื่องมาแต่สุคตทศพลยังมีอยู่ ณ ประเทศใด ทิศใด ขอให้ประสบหรือได้ยินข่าวให้ได้ภายในสามวันหรือเจ็ดวัน ถ้าไม่เป็นดังนั้น ข้าพเจ้าก็จักเข้าใจว่า ศาสนวงศ์นั้นสิ้นแล้ว”

ไม่กี่วันหลังจากนั้น พระองค์ก็ได้พบพระเถระชาวรามัญผู้รู้ข้อวัตรปฏิบัติแตกฉานในพระไตรปิฎก

หลังจากนั้นทรงได้อุปสมบทใหม่ เพราะสงสัยว่า การอุปสมบทในคราวก่อนนั้นจะมีความผิดพลาดไม่สมบูรณ์อยู่ หรือที่เรียกว่า ทัฬหีกรรม อุปสมบทที่สีมาน้ำวัดสมอราย มีพระรามัญ 20 รูป ทุกรูปมีกาลพรรษาล่วง 20 พรรษา มาเป็นพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด โดยให้สลับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวดทุกหนึ่งจบรวม 6 ครั้ง

เมื่อทรงผนวชเสร็จแล้ว ก็ทรงให้ศิษย์หลวง 9 รูปร่วมอุปสมบทใหม่ในพิธีนั้นด้วย

หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)

นั่นเป็นการอุปสมบทครั้งที่ 4 ของท่าน ซึ่งไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะตามประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) อุปสมบทถึง 7 ครั้ง

หลังบวชครั้งที่ 4 และเรียนพระปริยัติในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ต่อมาท่าน “ไม่สู้ชอบใจพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน” ท่านจึงเข้าอุปสมบทใหม่ซ้ำอีก เพื่อให้แน่ใจว่า การอุปสมบทของท่านบริสุทธิ์จริงๆ

ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่า การอุปสมบทแบบรามัญนั้นไม่มีการสวดบุพพกิจ ท่านจึงอุปสมบทใหม่อีกเป็นครั้งที่ 6

ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อท่านไปนมัสการพระปฐมเจดีย์แล้วได้ปฏิญาณตนเป็นอุปสัมบันภิกษุต่อพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอุทิศบรรพชา และเป็นการบรรพชาครั้งที่ 7 ของท่าน

ศิษย์รุ่นหลังได้วิเคราะห์ไว้ว่า การที่ท่านได้อุปสมบทถึง 7 ครั้งนั้นชี้ให้เห็นว่า “ท่านมุ่งความบริสุทธิ์ในชีวิตพรหมจรรย์มากเพียงไร”

นอกจากเรื่องนี้แล้ว เรื่องราวความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของท่านนั้นปรากฏตกทอดมาอีกเรื่องหนึ่งคือ ปกติท่านจะจำวัดผู้เดียวในกุฏิใหญ่คณะ 5 แต่มีคืนหนึ่งอสุรกายปรากฏขึ้นในรูปหญิงสาว นับแต่นั้นมาท่านจึงให้พระเณรมานอนเป็นเพื่อน เพราะเกรงว่าจะมีผู้พบแล้วเข้าใจผิด

นอกจากศึกษาปริยัติแล้ว สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ยังมุ่งปฏิบัติโดยเฉพาะอสุภกรรมฐาน แม้แต่ภาพถ่ายของท่านที่ตกมาถึงคนรุ่นหลังก็ยังเป็นรูปที่ท่านกำลังนั่งพิจารณากองกระดูกอยู่

ตามประวัตินั้นบ่งชัดว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยมาก ท่านจะสวดมนต์ไหว้พระวันละ 3 ครั้ง กล่าวคือ หลังฉันเช้าแล้วจะไหว้พระสวดมนต์ที่กุฏิเพียงลำพัง พอ 4 โมงเช้าจะไหว้พระในพระอุโบสถพร้อมพระภิกษุสามเณร พลบค่ำก็จุดเทียนไหว้พระพร้อมกับลูกวัด

ครั้งหนึ่งซึ่งพิเคราะห์กันแล้วเชื่อว่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชพิธีจัดสวดมนต์ในวังหลวง สังฆการีได้มานิมนต์ท่านเข้าไปร่วมสวดมนต์ด้วย โดยนิมนต์ท่านให้เข้าวังในเวลา 4 โมงเย็น ท่านก็ตอบว่า “4 ทุ่มข้าจะไป” เพราะที่วัดโสมนัสฯ สวดมนต์เย็นไหว้พระเสร็จกันตอน 3 ทุ่ม

พอพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก พระภิกษุทั้งหลายก็เข้าประจำที่ ขาดแต่สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เลยทรงถามสังฆการี ว่า ไปนิมนต์ท่านอย่างไร ท่านถึงยังไม่มา สังฆการีก็กราบทูลตามความดังกล่าว จึงมีรับสั่งว่า “ท่านไม่อยากเข้าวังแล้ว ทีหลังอย่าไปนิมนต์ท่าน”

พอสังฆการีไปกราบเรียนให้สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ทราบ สมเด็จฯ ท่านจึงว่า “เออ ข้างๆ วัดของข้านี้ก็อิ่มแล้ว”

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นที่ได้รับการยกย่องอย่างยิ่งจากพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 3 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 3 ที่ 4 และที่ 5

คราวรัชกาลที่ 5 ทรงผนวชนั้น ท่านได้รับนิมนต์ให้เข้าไปประจำที่พระพุทธรัตนสถาน ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายพระธรรมปริยายแด่พระองค์จนกระทั่งลาผนวช และในรัชกาลนั้นเองที่ทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระวันรัต โดยปรากฏในประกาศทรงแต่งตั้งตอนหนึ่งว่า “มีพรรษายุกาลเจริญมาก ประกอบด้วยรัตตัญญูมหาเถระธรรมยั่งยืนมานานปละมีปฏิภาณปรีชาตรีปิฎกกลาโกศลฉลาดในธรรมโมบาย ขวนขวายในการสั่งสอนนิกรบรรษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิต เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ย่อหย่อน เป็นที่มหานิกรนับถือ เป็นปูชนียฐานบุญเขตที่ควรเคารพบูชา และมีสุตาคมและศีลาธิคุณมั่น...”

กล่าวกันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) นั้น เป็นที่นับถือของหมู่พระสงฆ์ธรรมยุตมากเป็นพิเศษ ภาษาสมัยใหม่ก็คงเรียกว่า นับถือท่านเป็นไอดอลของพระธรรมยุต

พิเศษขนาดไหนพิจารณาได้จากคำบอกเล่าของ พระพรมมุนี (บู่ สุจิณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส เคยเล่าว่า “ครั้งสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) มีชีวิตอยู่นั้น พระสงฆ์ในคณะธรรมยุตนับถือท่านมากเป็นพิเศษ ถือท่านเป็นแบบอย่าง เป็นอาจารย์ ถึงกับมีธรรมเนียมเกิดขึ้นในสมัยนั้นว่า พระเถระหรือเจ้าคณะจังหวัดต่างๆ ตามหัวเมืองทุกภาคของประเทศเมื่อเข้ามาในกรุงเทพฯ ต้องไปวัดโสมนัสฯ ขอนิสสัยกับสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) และในการเข้าขอนิสสัยกับท่านนั้น ต้องสวดโมกขุปายคาถาหรือคาถาแสดงอุบายในการพ้นทุกข์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิพนธ์เอาไว้ในสมัยเมื่อทรงผนวชให้ท่านฟังด้วย”

เชื่อว่ากันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งที่บรรลุพระอรหันต์ และสถานที่ที่ท่านบรรลุธรรมคือ กุฏิข้างโบสถ์วัดโสมนัสฯ นั่นเอง

กำลังมหาสิติ มหาปัญญาของท่านเป็น‌อย่างไร ชนชั้นหลังศึกษาได้จากมูลมรดกที่‌ท่านทิ้งไว้ให้ และคณะสงฆ์ยังใช้หนังสือสมถ‌กรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานของท่าน ‌เป็นหนังสือประกอบการศึกษาในชั้นนักธรรม‌เอกและธรรมศึกษาชั้นเอกอยู่ถึงปัจจุบันนี้ แต่‌การบวชเรียนของท่านนั้นเป็นไปเพื่อสิ่งใด‌ท่านได้ประกาศชัดอยู่ในบทนิพนธ์เรื่องธรรมนุ‌ศาสน์ ดังความว่า

“เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ บวช‌เป็นภิกษุและสามเณร ณ ศาสนานี้ เพื่อจะ‌หลอกให้คนในโลกเลื่อมใสนับถือก็หามิได้ เพื่อ‌จะได้พูดจาปราศรัยกับชนมีศักดิ์คือ เจ้านาย‌เป็นต้นก็หามิได้ เพื่อจะอวดให้เขารู้ว่า ตนเป็น‌คนสุกมิใช่คนดิบ คือ ได้บวชประพฤติ‌พรหมจรรย์แล้วสึกไปจะหาเมียง่ายๆ ก็หามิได้

เราทั้งหลายมาบวชเป็นพระภิกษุและ‌สามเณรประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนานี้ หวังจะออกจากทุกข์ ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน จึงลั่นวาจาว่า สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย ดังนี้ทุกคน

การที่จะปฏิบัติออกจากทุกข์ ทำให้แจ้งซึ่ง‌พระนิพพานนั้นก็ต้องปิดกั้นบาปกุศลเสีย ‌อย่าให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเพียละเสีย เว้นเสีย ด้วยการทำกาย วาจา ใจ ให้‌บริสุทธิ์ อยู่ด้วยสติความระมัดระวังปิดกั้น‌บาปและมาละอกุศล อย่างนี้แหละ เป็นการ‌ชอบสมควรแก่เราทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจะออก‌จากทุกข์ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน จะระวัง‌ปิดกั้นบาปอกุศลเสียได้ ก็ต้องอาศัยการ‌ปฏิบัติดีในพระธรรมวินัยนี้”

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) มรณภาพ‌เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2434 นับพรรษาได้ 66 ‌พรรษา อายุ 86 ปี

จนถึงทุกวันนี้วัดโสมนัสฯ ถือเอาวันที่ 4 ‌พ.ย. เป็นวันทำบุญอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาส‌ของวัด

ใครอยากเห็นว่า ท่านเป็นคนหน้าตา‌อย่างไร มีรูปปั้นที่ท่านให้คนปั้นไว้ตั้งแต่ครั้งมี‌ชีวิตอยู่ ทุกวันนี้ทางวัดนำไปประดิษฐานไว้ที่‌ซุ้มด้านตะวันออกของพระมหาเจดีย์ในพระ‌วิหารคต แต่ถ้าอยากเห็นธรรมะที่ท่านรู้ท่าน‌เห็นต้องลงมือปฏิบัติเอาเอง