posttoday

โกหกสีขาว...โกงกิน ไม่น่ารังเกียจ ชาวพุทธควรพิจารณาอย่างไร!? (ตอน ๙)

24 กันยายน 2555

ด้วยอิทธิพลของไอ้เสือ ผ. กลายเป็นแบบอย่างให้คนในสังคมโดยเฉพาะเด็กๆ เยาวชน คิดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ด้วยอิทธิพลของไอ้เสือ ผ. กลายเป็นแบบอย่างให้คนในสังคมโดยเฉพาะเด็กๆ เยาวชน คิดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะเข้าใจว่า เป็นเรื่องโก้เก๋ น่าชื่นชมยินดี หากเอแบคโพลล์ ไปสำรวจคนในลักษณะชุมชนอย่างนี้ ก็อาจจะมีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นทันทีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทัศนคติที่ผิดแผกไปจากสังคมวัฒนธรรมวิถีพุทธ เพราะคงจะเห็นด้วยที่ปล้นทรัพย์สินผู้อื่นไม่ผิด หากนำมาแบ่งกันในหมู่ตนที่เป็นชุมโจรเหล่านี้.... หากจะถามว่า ความคิดอัปลักษณ์–ทรลักษณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องวกกลับไป เรื่อง การขาดการศึกษาที่ถูกต้องต่อการพัฒนาชีวิตไปสู่ความสงบสุขตามวิถีพุทธ จึงทำให้ไม่รู้จักบุญ บาป เวรกรรม ว่ามีจริง... อันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม

ดังนั้น การศึกษาในเชิงวิถีพุทธ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชีวิตให้ก้าวไปสู่ความถูกต้องตรงธรรม ซึ่งในปัจจุบันเริ่มอ่อนล้า อ่อนแรงไปมาก ทั้งนี้เพราะวิสัยแห่งปุถุชนที่มุ่งสู่การแสวงหา เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะมีจะได้เป็นสำคัญ การแสวงหานั้นมีตัณหาเป็นปัจจัย และตัณหานั้นคือกิเลสกองใหญ่ ที่เต็มไปด้วยความกำหนัดยินดี อยากได้อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ตามวิถีจิตที่ฝังราก ราคะ โทสะ โมหะ ไว้ลึก ให้เป็น สัตว์กามโภคี แปลว่า ผู้บริโภคกาม ซึ่งบรรดา กามโภคี มีอยู่ ๑๐ จำพวกโดย ๓ จำพวกแรก มีการแสวงหาไม่เป็นธรรม ทารุณโหดร้าย

๓ จำพวกต่อมา มีการแสวงหาเป็นธรรม ทารุณโหดร้ายบ้าง มีการแสวงหาไม่เป็นธรรม ไม่ทารุณโหดร้ายบ้าง ๓ จำพวกต่อไป เป็นการแสวงหาเป็นธรรม ไม่ทารุณโหดร้ายด้วยประการทั้งปวง รวมเป็น ๙ จำพวก ส่วนจำพวกที่ ๑๐ จำพวกนี้แสวงหาเป็นธรรม ไม่ทารุณโหดร้าย รู้จักเลี้ยงตนให้เป็นสุข และรู้จักการแจกจ่ายทำบุญ ไม่กำหนัด (อคธิโต), ไม่สยบหมกมุ่น (อมุจฺฉิโต), ไม่พัวพัน (อนชฺฌาปนฺโน), รู้จักพิจารณาเห็นโทษแห่งการจมอยู่ในกามคุณ (อาทีนวทสฺสาวี) และเป็นผู้มีปัญญาเครื่องนำออกจากกามคุณนั้น ด้วยสรรเสริญทั้ง ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เราควรเรียกเขาว่า เสฏฺโฐ(เศรษฐี) แปลว่า ผู้ประเสริฐ, อคฺโค แปลว่า ผู้เป็นเลิศ, ปาโมกฺโข แปลว่า เป็นผู้เดินตรง, อุตฺตโม แปลว่า เป็นผู้สูงสุด, ปวโร แปลว่า ผู้เป็นบวร กามโภคี ประเภทที่ ๑๐ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องนั้น ถือได้ว่าเป็น ฆราวาสที่ดีนั้น จะไม่หลับหูหลับตา

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้