posttoday

มรโณบาย

23 กันยายน 2555

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นผู้ทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เชี่ยวชาญในการธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งที่บรรลุธรรม

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นผู้ทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เชี่ยวชาญในการธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งที่บรรลุธรรม

เทศนาฉบับนี้เป็นหนังสือหายาก เพื่อสืบทอดอายุหนังสือ คาบใบลานผ่านลานพระจึงขอนำมาเสนอโดยละเอียดดังนี้

สาธุชนทั้งปวง แต่บรรดาที่นับถือพระพุทธศาสนาพึงทราบทั่วกันว่า อาการตายของมหาชนทั้งสิ้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ ตายปราศจากองค์ 4 เรียกว่า ตายอนาถาหาที่พึ่งมิได้อย่างหนึ่ง ตายพร้อมด้วยองค์ 4 เรียกว่า ตายไม่อนาถาประกอบด้วยที่พึ่งอย่างหนึ่ง

รวมกันเป็น 2 อย่างด้วยกัน

องค์ 4 นั้นคือ ละห่วงใยภายนอก คือ วิญญาณกับทรัพย์ อวิญญาณกับทรัพย์เสียได้อย่างหนึ่ง ละห่วงใยภายในคือ เห็นจริงว่านามรูปเกิดขึ้นแล้วนามดับรูปแตกไป เพิกเฉยเสียได้อย่างหนึ่ง ปรารภถึงทางศีลภาวนาของตนแล้ว เกิดความปีติอิ่มใจ ชื่อว่าละนิวรณ์ได้อย่างหนึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นที่พึ่งของตน ก็เห็นว่าเป็นที่พึ่งได้จริงๆ ไม่มีความสงสัยอย่างหนึ่ง

รวมเป็นองค์ 4 ด้วยกันดังนี้

เมื่อจะตายให้นึกว่า กายมันจะแตก วิญญาณนี้มันจะดับ เป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่มีใครตาย นามดับรูปแตกต่างหาก

เมื่อจะตายนึกให้เห็นจนใจเป็นกลาง ไม่ยินดีต่อความเป็น ไม่กลัวต่อความตาย เมื่อทำใจได้ดังนี้ เป็นเอกทีเดียว

ปัญจขันธ์ แปลว่า ขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ 1 เวทนาขันธ์ 1 สัญญาขันธ์ 1 สังขารขันธ์ 1 วิญญาณขันธ์ 1 รวมเป็นขันธ์ 5 ด้วยกัน

นี่แหละจัดเป็นตัวทุกข์ ขันธ์ทั้ง 5 นี้เป็นปริญญาตัพพธรรม คือ เป็นธรรมควรที่สัตว์จะต้องกำหนดรู้เสียให้จงได้ ทุกข์อริยสัจ จบ

อวิชชา ความที่ไม่รู้ว่าเบญจขันธ์เป็นทุกข์ ตัณหาจึงได้หลงรักหลงใคร่ หลงอยากได้ซึ่งภวะ คือ ความอยากมีอยากเป็นในภพ อันจะบังเกิดต่อๆ ไป ท่านเรียกว่า อุปัตติภพ คือ เบญจขันธ์นั้นเอง นี่แลจัดเป็นตัวสมุทัย คือ เป็นเหตุที่จะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น

มรโณบาย

อวิชชาภวตัณหา ทั้งสามนี้เป็นปหาตัพพธรรม คือ เป็นธรรมควรที่สัตว์จะต้องสละละวางเสียให้จงได้ฯ

ทุกข์สมุทัยอริยสัจ จบ

วิชชา ความรู้ที่ว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์และรู้ว่า อวิชชาภวตัณหา เป็นสมุทัย รู้แจ้งชัดดังนี้แล้วก็วิมุตติ สละละเสีย ปล่อยเสีย วางเสีย ไม่ยินดี รักใคร่ ไม่ดิ้นรนอยากได้ ด้วยตัณหาไม่ถือว่าตัวตน ด้วยทิฏฐิว่า นั่นตัวเรา นี่แลจัดเป็นนิโรธความดับทุกข์ วิชชากับวิมุตตินี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ว่าเป็นธรรมควรที่สัตว์จะต้องให้เกิดมีขึ้นให้จงได้

ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ จบ

สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัส ท่านสั่งสอนว่า ถ้าไข้หนักพักใหญ่มีความเวทนากล้านัก ให้เอาเวทนาเป็นอารมณ์ให้ทำในใจว่า เวทนาอาศัยสัมผัสเกิดขึ้นมันจะดับ เวทนาต่างหาก ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วพูดยกย่องสรรเสริญว่า ในศาสนาก็เป็นยอดอยู่เท่านี้เป็นของสำคัญนัก ใครอุตส่าห์ศึกษาในวิชานี้เป็นวิชชาประเสริฐ

สมาธิ มี 2

อุปจารสมาธิ 1 อัปปนาสมาธิ 1 เป็น 2 ดังนี้

อธิบายว่า สาธุชนเมื่อจะเจริญกัมมัฏฐานอันใดมีอารมณ์หยาบ กัมมัฏฐานนั้นท่านจัดว่าเป็นอัปปนาสมาธิ

กัมมัฏฐานใดมีอารมณ์ละเอียด กัมมัฏฐานนั้นท่านจัดว่าเป็นอุปจารสมาธิ ท่านจึงจัดเอากสิญ 10 อสุภะ 10 อนุสติ เอาแต่ 2 คือ กายคตาสติ อานาปานสติ อัปปมัญญา 4 รวมเป็น 26 ดังนี้ ท่านจัดเป็นฝ่ายข้างอัปปนาสมาธิ ยังอนุสติอีก 8 กับจตุธาตุววัตถาน 1 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 อรูป 4 รวมเป็น 14 ก็กัมมัฏฐาน 14 นี้ท่านจัดเป็นฝ่ายข้างอุปจารสมาธิ

จะว่าด้วยอุปจารสมาธิก่อน

อุปจารสมาธินั้น ตั้งอยู่ไม่นาน มีอาการเหมือนทารกท่าสอนยืน ยืนไม่สู้มั่น ยืนอยู่ได้ไม่นาน อีกอย่างหนึ่งอุปจารสมาธินี้ ท่านเปรียบเหมือนบุคคลที่เลี้ยงไม้ ไม่ตั้งอยู่ได้นานๆ ก็ฝ่ายข้างอัปปนาสมาธินั้น แนบเนื่องอยู่กับอารมณ์ปรากฏตั้งอยู่นานๆ มีอาการเหมือนทารกที่ยืนมั่นๆ นั้น ย่อมอยู่ได้นานๆ ตามประสงค์

สมาธิ 2 ประการนี้ เรียกว่า จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของจิต เป็นบาทของวิปัสสนา

วันหนึ่ง ท่านว่า ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีความอัศจรรย์อยู่ แต่ไม่มีผู้ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถึง ถ้าปฏิบัติจริงๆ ก็ยังปรากฏเป็นตทังคปหานได้ คือ ละกิเลสได้ครู่หนึ่งพักหนึ่งขณะหนึ่ง ต่อได้ฌานจึงจะเป็นวิขัมภนปหาน คือ ละกิเลสได้นานๆ

ต่ออริยมรรคบังเกิดจึงจะเป็นสมุจเฉทปหาน

วันหนึ่ง ปรารภถึงความตายว่า ความตายนี้ไม่รู้ตัวด้วยกันหมดไม่ว่าใคร เร่งเตรียมตัวตายเถิด แล้วท่านว่าอย่างไร จึงจะเรียกว่าเตรียมตัวตาย จะทำอย่างไร ทำให้เห็นว่าตัวตนไม่มี นั่นแหละเรียกว่าเตรียมตัวตายล่ะ เรียกว่า อนัตตา

แล้วท่านถามต่อไปว่า รู้อวิชชาแล้วหรือ พระเรียนว่า ทราบแล้ว ท่านว่าถ้าไม่รู้จักอวิชชาแล้วหรือ พระเรียนว่า ทราบแล้ว ท่านว่าถ้าไม่รู้จักอวิชชาเต็มที่แล้ว อวิชชานี้ครอบหมดทั้งสามภพ

อวิชชานี้ละเอียดกว่าโมหะ โมหะนั้นหยาบ เพราะโมหะนั้นทำแต่บาป ห้ามบุญ วิชชานั้นทำแต่บุญห้ามบาป อวิชชานั้นโง่ไม่รู้วิเศษก็เมื่อว่า ทำบุญแล้วมันก็ให้ก่อเกิดเพราะว่าอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็เป็นทุกข์ ต่อไม่เกิดจึงจะเป็นสุข หมดบุญหมดบาปจึงจะเป็นสุข

ทำอย่างไรจึงจะหมด บุญ บาป

ก็อย่าให้มันมีตัวซี ก็ใครเล่ามันจะเสวย บุญ บาป สมด้วยเทศนาว่า สิ่งใดเป็นไปด้วยความก่อเกิดแล้ว ไม่เป็นธรรมเป็นวินัยเป็นศาสนาของพระตถาคต

วันหนึ่ง ท่านแสดงว่า จะรู้จักของ 8 สิ่งคือ พระพุทธ ธรรม สงฆ์ นี้ รู้จักยากนัก รู้แต่ชื่อ จำได้แต่ชื่อ เปรียบเหมือนคนตามืด ธรรมดาคนตามืดนั้น เมื่อมีผู้จับมือไปลูบเข้าที่ตัวช้างม้าก็จำไว้ได้ ครั้นตนไปพบปะถูกต้องลูบคลำ เข้าทีหลังก็จำได้ว่านี่ ช้าง ม้า รู้แต่เท่านั้น ที่จะรู้ว่า ช้าง ม้า นั้น รูปพรรณสัณฐานอวัยวะน้อยใหญ่อย่างนั้นๆ ไม่รู้ เหมือนกันคนที่ไม่มีปัญญาๆ นั้นเขาเรียกว่า อันธะ แปลว่า คนมืด ถ้ามีปัญญาเขาเรียกว่า จักขุมา แปลว่า มีตา คือ ปัญญา

แล้วท่านว่าบุญอยู่ที่ไหน พระเรียนว่า อยู่ที่ใจ

ท่านว่า ไม่ถูก ไปหาใหม่ เรียกว่าหาไม่ได้ ท่านว่าบุญก็ที่สติ ถ้าระลึกตรึกอยู่ในอารมณ์ที่ควรระลึก ที่ควรตรึกแล้วก็เป็นบุญอยู่เสมอ ถ้าปล่อยสติเสียวางสติเสีย บาปก็เข้าได้ ก็การที่ระลึกตรึกนั้น จำเพาะให้ระลึกให้ตรึกอยู่ 4 อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

เมื่อระลึกถึงกายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อระลึกถึงเวทนาจิตธรรม ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ว่าด้วยธรรมในที่นี้ ธรรมข้างดีประสงค์เอาโพชฌงค์ ธรรมข้างชั่วประสงค์เอานิวรณ์ นี่แหละจะระลึกจะตรึก ก็ระลึกก็ตรึกใน 4 อย่างดังว่ามานี้ จึงเป็นสติปัฏฐาน 4

เมื่อระลึกอยู่ใน 4 อย่างนี้แล้ว บาปจะมีมาแต่ไหน

คราวหนึ่งท่านปรารภว่า ถ้าเห็นจริงเสียแล้วก็จะดีๆ นี่มีอาการเหมือนวานรอุ้มผลมะพร้าว พวกเราทั้งหมดสวดไปร้องไป ไม่เห็นจริงๆ เพราะอะไรไม่เห็นจริง เพราะโง่ ถ้าเห็นจริงเสียว่าไม่ใช่ใครแล้ว ก็หายโง่ เรียกว่าวิชชา ตามแต่จะเห็นเถิดเห็นเป็นขันธ์ก็ตาม ธาตุก็ตาม อายตนะก็ตาม นามรูปก็ตาม อาการ 32 ก็ตาม เหมือนกันหมดทั้ง 3 ภพ ไม่มีอะไร

เมื่อเห็นแล้วก็มีความเย็นเป็นสุขกันเท่านั้น สามัญญสัตว์ทั้งสิ้น เห็นว่าอบายเป็นทุกข์ มนุษย์ ฉกามาวจร รูป อรูป เป็นสุข แต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น และเห็นว่าเป็นทุกข์ สัตว์ทั้งสิ้นไม่เห็นเลยว่าเป็นทุกข์ พระองค์ตรัสว่า ชาติปิ ทุกฺขา เกิดเป็นทุกข์ เกิดไหนๆ เป็นทุกข์หมด เห็นแล้วหรือพระองค์ตรัสเป็นอัศจรรย์นัก เช่นนี้นี่ไม่มีใครพูด

นั่นแหละเป็นของสำคัญนัก เป็นหลักใหญ่ เป็นกระทู้ใหญ่ ตรึกตรองให้เห็นให้ได้เป็นศาสนา คำสอนของพระแท้ๆ อันจะเห็นว่าชาติเป็นทุกข์นั้น ต่อเห็นว่า ไฟ 11 กอง มันไหม้มันเผาอยู่เป็นนิตย์ อาทิตตปริยายสูตร ไฟ 11 กอง 1.ไฟราคะ 2.ไฟโทสะ 3.ไฟโมหะ 4.ไฟชาติ 5.ไฟชรา 6.ไฟมรณะ 7.ไฟโสกะ 8.ไฟปริเทวะ 9.ไฟทุกข์ 10.ไฟโทมนัส 11.ไฟอุปายาส จึงจะเห็นว่าชาติเป็นทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ไม่เห็น นั่งอยู่ด้วยกันทั้งหมด ไฟมันไหม้มันเผาอยู่ก็ไม่รู้ตัว ไฟอะไร ไฟโง่นั่นซิ เรียกว่า โมหัคคิ จะดับได้ด้วยปัญญา เรียกว่าปัญญาอัคคิ พระสอนไว้ในวินัยว่าไฟป่าไหม้มาให้จุดไฟบ้านรับ ไฟป่าไหม้มาถึงเชื้อไม่มีแล้วไฟป่าก็ดับ ไฟกิเลสไหม้มาให้จุดไฟปัญญารับ ไฟกิเลสก็ดับ

พระพุทธเจ้าท่านเป็นสีตภูโตแล้ว ท่านเป็นผู้เย็นแล้ว ไฟ 11 กองท่านดับได้แล้ว ท่านว่าเห็นแล้ว หรือนิพพาน พระกราบเรียนว่าเห็นแล้ว ท่านว่าเออดีล่ะ คราวหนึ่งท่านแสดงว่า ธัมโม สันทิฏฐิโก พระธรรมนี้ใครปฏิบัติแล้ว คนนั้นเห็นด้วยตนเองเห็นจริงๆ ทีเดียวอย่าสงสัยเลย แต่ผู้ปฏิบัติใคร่จริง อยากจะรู้อยากจะเห็นธรรมของพระ ปรารถนาธรรมของพระด้วยกันทั้งนั้น สิ่งนั้นก็เอา สิ่งนี้ก็เอา แต่ไม่ได้จริงสักสิ่ง

ถ้าอย่างนั้นแล้วเป็นที่พึ่งไม่ได้

เพราะว่าถึงที่จะต้องการสิ ไม่รู้ว่าจะหยิบจะฉวยเอาสิ่งไหน ถึงน้อยถึงสิ่งเดียวก็เอาเถิด แต่ต้องให้ได้จริงๆ

ถ้าว่าได้จริงแล้วก็เป็นที่พึ่งได้

ถ้าปรารถนาข้างมากแล้วก็ต้องให้ได้จริงทุกสิ่งๆ ไป สิ่งนั้นได้จริงแล้ว ทำสิ่งโน้นให้ได้จริงอีก ไม่ว่าสิ่งไหนได้จริงทุกสิ่ง ถ้าเช่นนั้นใช้ได้ จะหยิบเอาสิ่งไหนก็ได้ ทันใจ เอาเป็นที่พึ่งได้

ถ้าเป็นแต่มากเปล่าๆ เช่นนั้นจะทำอย่างไร เมื่อจะตายจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง จะเอาอะไรเป็นที่ตั้งแห่งจิตที่เร่าร้อนยิ่ง

เหมือนอย่างหลวงรัตน์เขาว่า เขาใช้อานาปา ปลัดรอด สามเสน เขาว่าเขาใช้อานาปา แต่หาเป็นอานาปาไม่ กลายเป็นมรณสติไป เอาเถอะถึงอย่างนั้นก็ใช้ได้ เป็นอนัตตาอยู่ล่ะ

แล้วจึงถามว่า ถ้าเราเล่าจะเอาอะไร พระกราบเรียนว่า เกล้าผมใช้อยู่ทุกวันนี้ ตามที่ฝ่าเท้าสอน

ถามว่าอย่างไรเล่า กราบเรียนได้กระทำในใจดังนี้ว่า นามรูปอาศัยแก่กัน ชีวิตเลี้ยงนามรูปไว้ ชีวิตขาด นามดับ รูปแตก ได้ทำตามคำสอนของฝ่าเท้าดังนี้

ท่านว่าแน่หรือ กราบเรียนว่าแน่ ท่านว่า เออ ดีล่ะ แต่ให้จริงๆ นี่แหละ

ถามว่าอย่างไรเล่า กราบเรียนได้กระทำใน‌ใจดังนี้ว่า นามรูปอาศัยแก่กัน ชีวิตเลี้ยงนามรูป‌ไว้ ชีวิตขาด นามดับ รูปแตก ได้ทำตามคำสอน‌ของฝ่าเท้าดังนี้

ท่านว่าแน่หรือ กราบเรียนว่าแน่ ท่านว่า ‌เออ ดีล่ะ แต่ให้จริงๆ นี่แหละศาสนาคำสอน‌ของพระล่ะ แล้วถามที่ตั้งแห่งจิตนั้นอะไร พระ‌กราบเรียนว่ายังไม่ทราบ

ท่านจึงบอกว่าปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ ‌นี่แหละที่ตั้งแห่งจิต

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสวรรคตไปบังเกิดในกำเนิดงูเหลือม เพราะโทสะพยาบาทนิวรณ์

ภิกษุที่ตายไปเป็นเอรกปัตตนาคราช เพราะ‌โทสะ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์

อุบาสกเจริญกายคตาสติ ไม่ได้ธรรมวิเศษ‌เกิดสงสัยตายไปเป็นจระเข้ เพราะโทสะ วิจิ‌กิจฉานิวรณ์ ภิกขุห่วงในจีวรตายไปเกิดเป็นเล็น ‌โตเทยยพราหมณ์ห่วงในของที่ฝังไว้ตายไปเกิด‌เป็นสุนัข ชนทั้ง 2 นี้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ‌เพราะโทสะ กามฉันทนิวรณ์ ท่านทั้งหลายถึง‌มีความสังเวชเถิด แต่ภิกษุมีศีลบริสุทธิ์แล้ว ยัง‌หาได้ไปสวรรค์ไม่ กามฉันทนิวรณ์กั้นกางไว้ ‌ฝ่ายโตเทยยพราหมณ์เล่า กามฉันทนิวรณ์ก็‌หน่วงไว้ ให้เป็นเดรัจฉานก่อนตายไปจากเดรัจ‌ฉานไปอบาย

คราวหนึ่ง สมเด็จท่านไปสอนพระยาตาก ‌เมื่อป่วยหนักใกล้จะตายสอนว่า เมื่อเวทนา‌ครอบงำกล้านัก ให้ภาวนาว่า ไม่มีใครเจ็บ นาม‌ต่างหาก รูปต่างหาก ไม่ใช่ของเราช่างมัน เมื่อ‌ใกล้จะตายให้ภาวนาว่า ไม่มีใครตาย นามดับรูป‌แตกต่างหาก ไม่ใช่ของเรา ช่างมัน ถ้าภาวนา‌แต่ปาก ใจไม่เพิกเฉยได้ ไม่เห็นจริงดังว่า ก็ยัง‌เป็นอัญญานุเบกขาอยู่ ต่อเพิกเฉยได้จริง เห็น‌จริงเหมือนดังว่า จึงจะเรียกว่า อุเบกขาได้ ‌เรียกว่า สังขารุเบกขาญานเป็นตัววิปัสสนา

พราหมณ์ผู้หนึ่งนามไม่ปรากฏ เข้าไปสู่ที่‌เฝ้าพระผู้ทรงพระภาค กราบทูลถามว่าจะถวาย‌บูชาพระธรรมจะทำอย่างไร ถวายแก่ใคร จึงจะ‌ได้ชื่อว่าถวายแก่พระธรรม บูชาแก่พระธรรม ‌พระธรรมไม่มีรูปไม่มีร่างไม่มีตัว ขอพระผู้ทรง‌พระภาคโปรดแสดงให้ฉันทราบเทอญ ทรงตรัส‌ว่า ดูกร พราหมณ์ท่านจะบูชาพระธรรมไซร้ ถ้า‌ผู้ใดทรงธรรม ท่านจงบูชาผู้นั้นเถิด ท่านจงให้‌แก่ผู้นั้นเถิด บูชาของท่านก็ได้ชื่อว่าบูชาพระ‌ธรรม ทานของท่านก็ได้ชื่อว่าให้แก่พระธรรม

คฤหบดีผู้หนึ่งไม่ปรากฏโดยนาม ถ้า‌
จะถวายเทยยธรรมเป็นทานครั้งใด ย่อม‌เลือกย่อมคัดจัดสรรเอาแต่ภิกษุที่ถือธุดง‌ควัตร วันหนึ่งจึงไปสู่ที่เฝ้ากราบทูล‌อัชฌาศัยของตนให้พระผู้ทรงพระภาค‌ทรงทราบเหตุทุกประการ พระองค์จึง‌ตรัสว่า ดูกร คฤหบดีจงถวายแก่พระสงฆ์‌เถิด อันจำเพาะต่อสงฆ์นี้ จิตใจบริสุทธิ์‌ปราศจากความรังเกียจไม่สอดแคล้วกิน‌แหนง พ้นจากอคติทั้ง 4 เอาจิตที่ตรงต่อ‌พระสงฆ์เป็นประมาณนั้นและประเสริฐ

พระมหาปชาบดี พระแม่น้า จะถวาย‌ผ้าแก่พระผู้ทรงพระภาค พระองค์เจ้าไม่‌ทรงรับ ทรงพระกรุณาจะให้พระเจ้าแม่‌น้ามีผลานิสงส์มาก โปรดให้ถวายแก่สงฆ์ ‌ทรงตรัสว่า ถวายสงฆ์ก็ได้ชื่อว่าถวายตถา‌คต ตถาคตก็นับในสงฆ์อันถวายเป็นสงฆ์‌ได้ชื่อว่าถวายพร้อมทั้ง 3 รัตนะ

คราวหนึ่ง ท่านว่าเราทุกวันนี้นับถือ‌พระพุทธ ธรรม สงฆ์ เราปรารถนาจะ‌บริจาค จะถวายแก่พระพุทธ ธรรม สงฆ์ ‌เราก็บริจาคถวายแก่ผู้ที่นับถือพระพุทธ ธรรม ‌สงฆ์ พึงรู้เถิดว่า พระนามพระพุทธเจ้านั้น ก็‌เพราะพระองค์รู้ธรรม จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ‌ศีลเป็นคู่ปรับกับราคะ สมาธิเป็นคู่ปรับกับโทสะ ‌ปัญญาเป็นคู่ปรับกับโมหะ ปฐวีธาตุเป็นมรรค‌วิถีของทุกขสัจ อาโปธาตุเป็นมรรควิถีของ‌สมุทัย เตโชธาตุเป็นมรรควิถีของนิโรธ เป็นกิจ‌ของกิเลสนิพพาน วาโยธาตุเป็นเหตุของความ‌จะดำเนินไปยังขันธนิพพาน อากาสวิญญานดู‌เหมือนมีแต่โลกอุดร

คราวหนึ่งสมเด็จพระวันรัต พระอุปัชฌาย์‌สอนพระครูธัมมคุต เมื่อไข้หนักดังนี้ ให้นึกถึงตัว‌ให้เห็นว่าไม่มีใคร เกิดแก่เจ็บตาย เป็นแต่รูปนาม ‌ชีวิตเลี้ยงไว้เป็นอยู่ไม่ใช่ของเราช่างมัน อย่าเอา‌จิตอาดูรไปที่ทุกขเวทนา นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา จงทำไว้ในใจอย่างนั้นร่ำไปเถิด อย่า‌ประมาทเลย ชีวิตเป็นอนิจจัง เพราะอาพาธป่วย‌ไข้มากอยู่แล้ว แต่คนดีๆ ไม่เจ็บไข้ยังตายง่ายๆ ‌อย่าไว้ใจของตนเลย ครั้งที่ 1 ที่ 2 เดี๋ยวนี้ร่างกาย‌ก็เต็มที ประกอบไปด้วยความทุกขเวทนามากนัก ‌ดับเสียหมดเป็นสุขจริง นึกเอาพระนิพพานเป็น‌อารมณ์ว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ นี่ละเอียดนัก ‌นี่ประณีตนัก อะไรคือร่างกาย จิตในนามรูปนี้มัน‌ดับเสียสิ้น เป็นธรรมอันประณีตละเอียดนักดังนี้ ‌นี่เป็นโอวาทของพระอุปัชฌาย์สอนพระครูธัมม‌คุต อุตส่าห์มีสตินึกไว้ให้ดีเถิด เป็นปัจฉิมที่สุดอยู่‌แล้ว เกิดกับตายเป็นของคู่กัน เกิดแล้วก็ต้องตาย‌เป็นธรรมดา

โลกวิทู เป็นเหตุ สุคโต เป็นผล

สุคโต เป็นเหตุ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผล

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นเหตุ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผล

สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นเหตุ อรหํ เป็นผล

ตณฺหานิโรโธ นิพฺพานํ ดับตัณหาหมด ‌เรียกว่า กิเลสนิพพาน

รู้จักตัณหาแล้วก็รู้จักนิพพาน ทุกฺขนิโรโธนิพฺพานํ ดับทุกข์หมดเรียกว่า ขันธนิพพาน

รู้จักทุกข์แล้วก็รู้จักนิพพาน

คราวหนึ่งเจ้าคุณถามว่า ชาติ รู้จักง่ายหรือ‌ยาก ฉันเรียนว่ารู้จักยาก ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า ‌ท่านถามพระองค์เจ้า พระองค์เจ้าก็ว่าเตร็ดเตร่‌ไปไม่ตรง แล้วท่านว่า ของๆ ท่าน ท่านแก้ไข‌ไว้ตรงๆ ว่า ขนฺธานํ ปาตุภโว ปรากฏขึ้นแห่ง‌ขันธ์ทั้งหลาย เรียกว่า ชาติ ก็ใครเกิดเล่า ขันธ์‌เกิดต่างหาก ขนฺธานํ เภโท ความแตกแห่งขันธ์‌ทั้งหลายเรียกว่า มรณํ

ก็ใครตายเล่า ขันธ์ตายต่างหาก

ท่านว่าถ้าใครรู้ชาติ แล้วไม่กลัวเกิดตาย ‌ถอนสักกายทิฏฐิได้เป็นองค์โสดาบัน ได้พบพระ‌ล่ะ เห็นตามกระแสพระล่ะ ออกตัวได้ล่ะ เกิด‌แก่เจ็บตายจะทำไม ใครเล่าออกตัวได้ทุกแห่ง ‌ออกขันธ์ก็ได้ ออกอายตนธาตุ ออกรูปนาม ออก ‌ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ได้ ออกได้ทุกแห่ง ใคร‌เกิดก็ไม่มี ใครตายก็ไม่มี

วันพฤหัสบดี เดือนเก้าขึ้นเก้าค่ำ สมเด็จ‌พระวันรัตได้สั่งไว้ว่า จำไว้ให้ได้ เอาไว้ใช้เมื่อจะ‌ตาย แล้วให้บอกกล่าวกันทั่วๆ ไป ให้ภาวนาว่า ‌ร่างกายจิตใจนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว‌ของเรา ท่านสั่งกำชับนัก พึงรู้ทั่วๆ กันเถิด เป็น‌ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทาง‌พระนิพพาน แล้วพูดยกย่องสรรเสริญว่า ใน‌ศาสนาก็เป็นยอดอยู่เท่านี้ เป็นเอกอยู่เท่านี้ เป็น‌ของสำคัญนัก ใคร่อุตส่าห์ศึกษาในวิชชานี้ เป็น‌วิชชาประเสริฐ ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้ว

พึงสำเหนียกโดยเคารพเถิด

อนึ่ง คำว่าให้ภาวนาว่า ร่างกายไม่ใช่ของ‌เรา เป็นต้นนั้น ให้พึงจำทรงไว้ให้แม่นยชำนาญด้วยดี เพราะเป็นมรรคาปรมัตถ์‌ประโยชน์อย่างยิ่ง แลเป็นพาหุลเทศนา ‌พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเรื่องนี้มากกว่าอย่าง‌อื่นๆ ขอพึงให้อุตส่าห์มนสิการไว้ทุกวันๆ เถิด ‌อย่าให้ขาดได้ จะได้เป็นความชอบความดีอย่าง‌ยิ่งของเรา และเป็นอันไม่เสียที่เกิดเป็นมนุษย์ ‌พบพระพุทธศาสนานี้ จบแต่เท่านี้