posttoday

พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา 35ปีไปอินเดีย50-60ครั้ง

23 กันยายน 2555

พระสงฆ์ในประเทศไทยนับแสนรูปนั้น จะมีรูปใดทำสถิติ (อย่างไม่เป็นทางการ) ได้เท่าพระธรรมวรนายก

โดย...สมาน สุดโต

พระสงฆ์ในประเทศไทยนับแสนรูปนั้น จะมีรูปใดทำสถิติ (อย่างไม่เป็นทางการ) ได้เท่าพระธรรมวรนายก แห่งวัดพระนารายณ์มหาราช เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาได้บ้าง คิดว่ายาก เพราะท่าน

1.เป็นเจ้าคณะจังหวัดที่อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ถึงปัจจุบันก็ 36 ปี เมื่อท่านอายุ 80 ปี พ.ศ. 2557 จะอยู่ในตำแหน่งนานถึง 38 ปี (ท่านเกิด วันที่ 5 ม.ค. พ.ศ. 2477)

2.เดินทางไปอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ถึงปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 50-60 เที่ยว ล่าสุดได้เดินทางไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. เพื่อเป็นวิทยากรโครงการพระธรรมทูตของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ณ เมืองสาวัตถี กลับเมื่อวันที่ 18 ก.ย. และกำหนดเดินทางไปอีกครั้งปลายเดือน ต.ค. 2555 เพื่อเป็นประธานปิดโครงการพระธรรมทูตดังกล่าว ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์

3.จัดพระธรรมทูตระดับจังหวัดประมาณ 30 รูป ออกไปพบปะกับพระและญาติโยมระดับอำเภอทั่ว จ.นครราชสีมา เริ่มวันที่ 27 มี.ค. ไปสิ้นสุด สัปดาห์แรกเดือน พ.ค. ทุกปี โดยพระธรรมทูตจะพักทำกิจกรรมเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ในขณะที่แต่ละอำเภอจัดโครงการแฝดต้อนรับเป็นเวลา 2 คืน 3 วัน (อำเภอทำล่วงหน้า 1 วัน) เป็นโครงการครบหลักกุศลกรรม ทาน ศีล และภาวนา (เมื่อจังหวัดจบโครงการ แต่ละอำเภอส่งไม้ต่อไปยังตำบลต่างๆ จนกระทั่งเข้าพรรษา)

พระธรรมวรนายก  เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา 35ปีไปอินเดีย50-60ครั้ง

ประวัติส่วนตัว

ประวัติเบื้องต้นของท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2477 บรรพชาเป็นสามเณร พ.ศ. 2489 ที่วัดตะกรุด ต.งิ้ว อ.ปักธงชัย ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิด

เป็นสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ได้มาอยู่วัดทองนพคุณ เมื่อพบพระเถระที่วัดนั้นซึ่งเป็นคนโคราชเหมือนกัน แนะนำว่า หากต้องการศึกษาต่อต้องมาอยู่วัดทองนพคุณ เพราะเป็นสำนักเรียนดี มีมาตรฐาน จึงย้ายมาอยู่วัดทองนพคุณเมื่อ พ.ศ. 2495 และเรียนบาลีสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2497 ที่พระอุโบสถวัดทองนพคุณ คลองสาน โดยมีพระสังวรวิมล วัดทองนพคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์

ย้ายกลับไปช่วยงานอาจารย์และคณะสงฆ์ที่โคราชเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพรหมราช แต่เพิ่งมารับตราตั้งเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2517 เคยดำรงตำแหน่งองค์การศึกษา (ตาม พ.ร.บ. สงฆ์ พ.ศ. 2484) และเมื่อ อายุ 35 ปี พรรษา 15 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอปักธงชัย

ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เมื่ออายุ 42 ปี ในปี พ.ศ. 2519 ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครู เจ้าอาวาสวัดพรหมราช ต.ตูม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2535 ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนารายณ์มหาราช พระอารามหลวง แทนพระพรหมคุณาภรณ์ (พุ่ม กิตฺติสาโร ป.ธ.7)

นักเดินทางสู่ชมพูทวีป

การเดินทางไปชมพูทวีป หรือประเทศอินเดียของท่านบ่อยมาก เส้นทางจะยากลำบากแค่ไหน ท่านไม่เคยเหนื่อย ดูได้จากการเดินทางเมื่อวันที่ 12–18 ส.ค. 2555

คณะที่จะเดินทางไปอินเดียวันที่ 12 ส.ค. 2555 มี สุภชัย วีระภุชงค์ เป็นผู้นำพร้อมด้วยสื่อมวลชน เพื่อไปร่วมพิธีเปิดโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ โดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ซึ่งพระธรรมวรนายก วัดนารายณ์มหาราช จ.นครราชสีมา เดินทางไปทำหน้าที่ประธานเปิดโครงการ

เครื่องบินใช้เวลา 3 ชั่วโมงก็ถึงสนามบินอินทิรา (เวลาอินเดียช้ากว่าไทย 1.30 ชั่วโมง) หลวงปู่พระธรรมวรนายก ฉันเพลที่สนามบินแล้วนั่งเครื่องบินในประเทศไปสนามบินปัตนะ ใช้เวลาบินชั่วโมงเศษ ที่นั่นพระราชรัตนรังษีแห่งวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ส่งรถโตโยต้าแวน 3 คัน มารับพวกเรา 9 คน เดินทางอีก 6 ชั่วโมง จึงถึงวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ที่พระสงฆ์ไทย (29 รูป) และกัมพูชา (3 รูป) ที่เข้าโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาเชิงลึก มาพักและอบรมวิปัสสนา 10 วันแล้ว

ปัตนะคือเมืองหลวงของรัฐพิหาร เมืองนี้พื้นที่ประมาณ 25 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรหนาแน่นมาก ในสมัยพุทธกาลเมืองนี้คือบ้านปาฏลีคาม ต่อมากลายเป็นเมืองหลวงแคว้นมคธ แทนราชคฤห์ โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นจักรพรรดิที่ทรงอำนาจสูงสุด

ผู้ที่สร้างหมู่บ้านเล็กๆ ให้เป็นเมืองหน้าด่านคือพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชาแห่งแคว้นมคธผู้ครองกรุงราชคฤห์ในปลายพุทธกาล เพื่อตรวจความเคลื่อนไหวของแคว้นวัชชีที่มีเจ้าลิจฉวีปกครอง

สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หมู่บ้านเล็กๆ กลายเป็นเมืองหลวง และเป็นสถานที่ที่ทำตติยสังคายนา โดยพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช (บางตำราว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช) มหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย

6 ชั่วโมงแห่งการเดินทางตามถนนที่เล็กและแคบบางช่วงบางตอน สะพานบางแห่งไม่รู้มีสภาพอย่างไรแต่ยาวมาก เพราะมืดมองไม่เห็น นอกจากอาการที่พวกเรารู้สึกเหมือนกันคือโยกไปโยกมาจนหัวคลอน เราเลยเรียกว่าสะพานหัวคลอน ลงจากสะพานก็เจอสภาพถนนที่ไม่ต่างกับสะพาน อีกด้านหนึ่งเป็นรถบรรทุกจอดขวางทำให้รถวิ่งไปตามปกติไม่ได้ ในที่สุดก็ถึงวัดกุสินาราฯ ในเวลา 22.00 น. เศษ โดยหลวงปู่พระธรรมวรนายก ไม่มีอาการเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางแต่อย่างใด

รุ่งขึ้นวันที่ 13 ส.ค. 2555 ท่านมานั่งเป็นประธานเปิดโครงการอบรมพระธรรมทูต พร้อมกับให้โอวาทแก่ผู้เข้าประชุมได้น่าประทับใจ ตอนค่ำนำพระที่เข้าอบรมสวดมนต์และบูชาที่สาลวโนทยาน สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ว่า กว่าจะนิพพานได้พระองค์ได้ปฏิบัติหน้าที่หลายอย่าง เช่น อุปสมบทสุภัททะ ทรงวางระเบียบเรียกขานระหว่างภิกษุ ว่า ผู้บวชก่อนพึงเรียกผู้ที่บวชใหม่ ว่า อาวุโส ในขณะที่ผู้บวชใหม่พึงเรียกผู้บวชก่อนด้วยความเคารพ ว่า ภทันเต หรือ อายัสมา ทรงแนะนำเรื่องการถอนสิกขาบทเล็กน้อย ให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะที่ไม่ยอมฟังใคร ทรงเปิดทางให้ผู้ที่สงสัยในความเป็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคหรือในปฏิปทา ให้ถาม อย่าปล่อยให้โอกาสผ่านไป จะถูกตำหนิในภายหลัง ว่า อยู่ใกล้พระพุทธเจ้าแล้วไม่ถาม ทรงเปิดโอกาสดังนี้ 3 ครั้ง แต่ที่ประชุมสงฆ์พากันนิ่ง พระอานนท์จึงกราบทูลว่า เป็นอัศจรรย์ ไม่มีภิกษุสงฆ์รูปใดสงสัยในพระรัตนตรัย มรรค และปฏิปทา แม้แต่องค์เดียว ต่อแต่นั้นพระองค์ประทานปัจฉิมโอวาท ว่า วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด

พระธรรมวรนายก  เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา 35ปีไปอินเดีย50-60ครั้ง

นับแต่นั้นพระองค์ทรงนิ่ง ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง 9 แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อทรงออกจากจตุตถฌาน ด้วยภวังคจิตเป็นพยากฤตทุกขสัจ ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปุรณมีมหามงคลสมัย

วันที่ 14 ส.ค. 2555 นำสวดมนต์ไหว้พระในช่วงเช้าและตอนค่ำนำไปสวดมนต์ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ และโทณพราหมณ์เจดีย์ ที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งใกล้กับวัดกุสินาราเฉลิมราชย์

วันที่ 15 ส.ค. 2555 ก่อนเดินทางจากกุสินารามายังพุทธคยาไปเป็นประธานเชิญธงอินเดียขึ้นสู่ยอดเสาที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่เมืองกุสินารา ซึ่งเป็นวันชาติอินเดีย

ทั้งนี้ โรงเรียนต่างๆ 23 โรงเรียนในเมืองกุสินาราแย่งนิมนต์พระไทยให้ไปร่วมงานสำคัญของชาติ ทางวัดต้องแบ่งพระสงฆ์ที่จำพรรษา และพระธรรมทูตที่อยู่ในโครงการร่วมพิธีจนครบทุกโรงเรียน

พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตไทยประจำอินเดีย เนปาล ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ บอกว่า ที่โรงเรียนต่างๆ นิมนต์พระไทยร่วมพิธีในวันชาติ เป็นเพราะสังคมอินเดียยอมรับบทบาทของพระและวัดไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

สวดมนต์ที่เกสริยาเจดีย์

เมื่อเชิญธงที่โรงเรียนเรียบร้อย พระธรรมวรนายกกับคณะเดินทางไปพุทธคยา ระหว่างทางแวะนมัสการเจดีย์เกสริยา ซึ่งอยู่ที่รัฐพิหารเป็นพุทธสถานที่พบใหม่ แต่ขุดค้นไปได้เพียงครึ่งหนึ่ง รูปทรงเจดีย์แบบบุโรพุทโธ ในประเทศอินโดนีเซียที่เราคุ้นตากันดี ที่ตั้งเจดีย์เกสริยานี้ในสมัยพุทธกาลเรียกว่า โภคนคร หรือหมู่บ้านกาลามคาม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงกาลามสูตรแก่กาลามบุตร

การสร้างเจดีย์เป็นรูป 4 เหลี่ยมฐานกว้าง แบ่งเป็นชั้นๆ จนถึงยอด จะเห็นพระพุทธรูปไม่มีเศียรตั้งตามชั้นต่างๆ หลายองค์ด้วยกัน แต่ขึ้นไปดูอย่างใกล้ชิดไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่สั่งห้ามขึ้น หลวงพ่อพระธรรมวรนายกจึงพาคณะสวดมนต์ภาวนา และเดินรอบพระเจดีย์แล้วเดินทางตรงไปพุทธคยา

ไปถึงวัดไทยพุทธคยาในเวลาประมาณ 20.00 น. เศษ รุ่งขึ้นวันที่ 16 ส.ค. 2555 พระธรรมวรนายกรับนิมนต์เป็นประธานทำบุญอุทิศบุรพาจารย์ หัวหน้า พระธรรมทูตไทยสายอินเดียเนปาล อดีตเอกอัครราชทูตไทยในอินเดียกับกงสุลใหญ่นครกัลกัตตา 10 ท่านด้วยกัน ซึ่งเป็นผู้มีคุณต่อวัดไทยพุทธคยาที่ล่วงลับไปแล้ว

ท่านเป็นพระเถระที่สามารถพูดได้น่าฟัง เป็นคติสอนใจทุกเรื่อง บางครั้งพูดเพลินไปเลย ดังนั้นในการพูดอนุโมทนาที่วัดไทยพุทธคยาจัดงานแสดงมุทิตา พระ ดร.มหาฉลอง เจ้าอาวาสวัดไทยไวสาลี ที่ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระ ดร.มหาวิเชียร ที่ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักร เมื่อวันที่ 15 ส.ค. พิธีกรจึงขอความเมตตาให้ท่านพูดเพียง 15 นาที เพราะเป็นเวลาใกล้เพล

พระธรรมวรนายก  เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา 35ปีไปอินเดีย50-60ครั้ง

วันที่ 17 ส.ค. 2555 เดินทางกลับไทยผ่านปัตนะ ขึ้นเครื่องที่สนามบินอินทิราคานธี เดลี และกลับถึงไทยเวลาตี 5 วันที่ 18 ส.ค. 2555 โดยไม่มีอาการเหน็ดเหนื่อย

พรหมจรรย์ 2 เกรด

ท่านเมตตาเล่าให้ฟังทางโทรศัพท์ หลังจากเดินทางไปเป็นวิทยากรเพื่อบรรยายพุทธประวัติเชิงลึกแก่พระธรรมทูตที่สาวัตถี เป็นเวลา 4 วัน โดยนำพระธรรมทูตศึกษาและปฏิบัติธรรม ที่แดนมหามงคล บ้านอนาถปิณฑิกเศรษฐี วัดพระเชตวันมหาวิหาร วัดปุพพาราม และสถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์

พระธรรมทูตต่างพอใจ ทั้งบรรยากาศและสิ่งเหมือนปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เมื่อมีฝนตกปรอยๆ ให้ความรู้สึกเย็นสบาย ในแดนมหามงคลของอุบาสิกาบงกช สิทธิผล หลังจากพระธรรมทูตทั้งนั้นและญาติโยมประมาณ 300 คน ฟังธรรมเรื่องพรหมจรรย์ สวดมนต์ภาวนาจบ

สำหรับเรื่องพรหมจรรย์นั้น ท่านจำแนกให้ผู้ฟัง‌เข้าใจว่ามี 2 เกรด คือ เกรดเอ ได้แก่ เมถุนวิรัติ ‌เกรดบี ได้แก่ สทารสันโดษ คือการมีสามีและภรรยา‌เดียว ปรากฏว่าได้รับความพอใจจากผู้ฟังมาก

สำหรับพระธรรมทูต หลังจากฟังประวัติศาสตร์‌พุทธศาสนา คติพจน์ คติธรรม จากท่านมาตลอด ก็‌สงสัยว่าหลวงปู่มีเคล็ดลับสะสมความรู้อย่างไร ท่าน‌จึงเล่าว่าสนใจพุทธประวัติมาแต่เด็ก อ่านกามนิตวาสิฏฐี ด้วยความพอใจ และอยากรู้อยากเห็นพุทธ‌ประวัติยิ่งขึ้น เมื่อบรรพชาอุปสมบทนอกจากได้เรียน‌ตามลำดับชั้นแล้ว ยังหาหนังสือเกี่ยวกับพุทธประวัติ‌และสังเวชนียสถานที่มีผู้ประพันธ์ไว้มาก รวมทั้ง‌โบรชัวร์ท่องเที่ยวมาอ่านด้วยความพินิจพิเคราะห์ ‌เพื่อจะดูว่าแต่ละท่านเห็นอย่างไร ในเรื่องเดียวกัน‌จึงทำให้เกิดความแม่นในเรื่องนั้นๆ

การเดินทางระหว่างไทยกับอินเดีย เป็นส่วนหนึ่ง‌ของชีวิตของพระเถระชื่อพระธรรมวรนายก ที่เป็น‌เจ้าคณะจังหวัดนานที่สุดในประเทศไทย