posttoday

โกหกสีขาว...โกงกินไม่น่ารังเกียจชาวพุทธควรพิจารณาอย่างไร!? (ตอน ๖)

19 กันยายน 2555

เรื่องทิฏฐิจึงจำแนกสัตว์ออกจากกันอย่างชัดเจน แม้จะดำรงอยู่ในสถานะความเป็นมนุษย์

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เรื่องทิฏฐิจึงจำแนกสัตว์ออกจากกันอย่างชัดเจน แม้จะดำรงอยู่ในสถานะความเป็นมนุษย์ มีสภาพบุคคลเหมือนกัน ที่นำไปสู่ความแตกต่างด้านการปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด ด้วยจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน มีอุดมคติที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางบุคคล ...บางหมู่คณะ จะให้ความสำคัญว่า ค่าของความสุขอยู่กับการได้สนองการเสพในเบญจกามคุณ จึงให้ความสำคัญกับการพยายามแสวงหาวัตถุกามให้พรั่งพร้อมเป็นสำคัญ และจัดวัดมาตรฐานความสำเร็จแห่งชีวิตที่ความมั่งมีในวัตถุกาม รวมถึงการมีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี สรรเสริญ สุข ที่เป็นอามิสสุข การดำเนินวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ จะเป็นไปในรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากกลุ่มบุคคลที่ให้ความสำคัญว่า ค่าของความสุขอยู่ที่คุณภาพจิตใจที่มีความสงบสุขเป็นที่หมาย

มุ่งพัฒนาการด้านสติปัญญา เพื่อรู้ทันรู้เท่าต่อโลกวิสัย ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีกรอบแห่งศีลธรรมเป็นคอกกั้นพฤติกรรมพฤติจิต ให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจดำกฤษณา ฤทธิ์อวิชชา จนเกิดโมหจิต ผลิตเป็น ทิฏฐิวิบัติ มีความคิดเห็นผิดเพี้ยนไปจากความจริงที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติ... จึงมุ่งมั่นดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานสุจริตกรรม อันเป็นไปตามคำสั่งสอนในศาสนา เรียกว่า ชีวิตมีศาสนาเป็นเกาะ ... เป็นที่พึ่งต่อการดำเนินไปตามวิถีแห่งสัตว์โลกที่เผชิญภัยอันตรายมากมาย ด้วยการเข้าถึงเข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็นจริง ดังที่กล่าวไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วงอกงามไพบูลย์ เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย...

ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้น กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วงอกงามไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐิเลย...”

เมื่อพิจารณาเห็นความจริงดังกล่าว ก็คงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมยาเสพติดจึงขยายตัวเติบโตมากขึ้นในสังคมไทย ทั้งที่เป็นชุมชนที่เคยเข้มแข็งในด้านจิตวิญญาณ สามัญสำนึกตามวิถีพุทธศาสนาที่มีคำสอนหักล้างทำลายสิ่งเสพติดทั้งปวง ดังแสดงกรอบปฏิบัติตนไว้เป็นเบื้องต้นในรูปแบบศีลธรรม ที่แจกแจงให้เห็นชัดต่อการกระทำที่ถูกควรในรูปแบบกรรมบถทั้งสิบ ได้แก่ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ที่จะต้องมีอินทรีย์สังวรเป็นเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การเจริญสติปัญญา ดังที่เห็นได้จากโครงร่างการศึกษาปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ที่วางไว้ ๓ หลักแห่งการศึกษา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยให้ความสำคัญที่ศีลเป็นกรณีเบื้องต้นที่สำคัญยิ่ง ความหมายที่ว่า ศีลจะต้องวิสุทธิ สมาธิจึงวิสุทธิ ... เมื่อสมาธิวิสุทธิ ปัญญาจึงวิสุทธิ และปัญญาวิสุทธิก็จะอบรมให้ศีลและสมาธิวิสุทธิ จนยกระดับเป็นวิสุทธิธรรม ... วิสุทธิจิต และพิจารณาเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ เกิดความรู้แจ้งจบทุกข์ เป็นไปเพื่อที่สุดแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ คือ พระนิพพาน...

ในเมื่อศีลระดับธรรม (ศีลธรรม) ถูกทำลาย จนพังทลายลงอย่างยับเยิน จึงส่งผลให้เกิดการแปรสภาพกรรมบถเป็นทุจริต ทั้งกายวาจาใจ ที่เคยสืบเนื่องการถือปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมประเพณีในวิถีพุทธ ... สัตว์มนุษย์ในสังคมที่ไร้คอกกั้นจิตวิญญาณ ไร้ระเบียบการปฏิบัติตามกฎศีลธรรม จึงไร้รูปแบบการกระทำ ให้ผันแปรผิดเพี้ยนเป็นอกุศลกรรมบถ... การหักทำลายโครงสร้างแนวกำแพงเขื่อนกั้นที่ก่อร่างสร้างสานด้วยพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา จึงถูกรื้อทิ้ง เหยียบย่ำทำลายไปอย่างไม่ไยดี นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่เคยอยู่ในรูปแบบเข้มแข็ง มั่นคง ด้วยอำนาจธรรมในพระพุทธศาสนา จึงไม่แปลกที่ ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยสูงถึง ๒ ใน ๓ หรือประมาณ ๖๕.๘% ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริต คอร์รัปชัน แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย ในกรณีเป็นเด็กและเยาวชนต่ำกว่า ๑๘ ปี ที่เห็นด้วยสูงถึง ๗๙.๑% และสอดคล้องกับพฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนไปจากบรรพชนวิถีพุทธอย่างกลับหลังหัน

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้