posttoday

วิถีธรรม(ชาติ)ในอินโดนีเซีย

16 กันยายน 2555

“อินโดนีเซีย” ผืนดินแผ่นน้ำที่เคยสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางประเพณี วัฒนธรรม ในมิติของศาสนาพุทธและฮินดูมากว่าพันปี

โดย...พระครูวินัยธรธีรวิทย์ ฉนฺทวิชฺโช

ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

วัดราชาธิวาสวิหาร

 “อินโดนีเซีย” ผืนดินแผ่นน้ำที่เคยสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางประเพณี วัฒนธรรม ในมิติของศาสนาพุทธและฮินดูมากว่าพันปี แม้บางห้วงจังหวะของเวลาจะถูกเว้นวรรคไปบ้างก็ตาม จึงมีประจักษ์พยานหลักฐานที่ยืนยันความยิ่งใหญ่ได้ นั่นก็คือมหาสถูปบุโรพุทโธ หรือบรมพุทโธ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในภาคกลางของเกาะชวา ห่างจากยอกยาการ์ตาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร สร้างขึ้นในระหว่างปี 1293-1393 เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ถ้าไม่นับนครวัดของกัมพูชา บุโรพุทโธจะเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก และองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้บุโรพุทโธเป็นมรดกโลกในปี 2534

ศาสนาฮินดูก็มีศาสนสถานที่เป็นมรดกโลก ชื่อ พรัมบานัน เป็นเทวสถานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ไม่ห่างจากมหาสถูปบุโรพุทโธมากนัก สร้างขื้นราวปี 1390 เคยถูกทอดทิ้งมานานจึงทรุดโทรม จนถึงปี 2461 มีการบูรณะใหม่ แต่กว่าจะสมบูรณ์ก็ถึงปี 2496 ขณะนี้เป็นศาสนสถานแห่งหนึ่งในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและความใหญ่โตของปรางค์ซึ่งมีความสูงถึง 47 เมตร

วิถีธรรม(ชาติ)ในอินโดนีเซีย

 

ผู้เขียนเคยไปอินโดนีเซียเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยความคิดที่ไม่สุขุมลุ่มลึกนัก ก่อนไปจึงวาดภาพว่าอินโดนีเซียยังด้อยพัฒนาในหลายอย่างรวมทั้งปัจจัยพื้นฐาน ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ทั่วถึง แต่ความคิดต่างๆ หายไปเมื่อได้สัมผัสกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงประเทศอินโดนีเซีย เพราะตึกราม อาคาร บ้านช่องที่ทันสมัยเต็มเมือง รถราวิ่งกันขวักไขว่ ระบบการสื่อสารทันสมัย ทำให้กระบวนความคิดต่างๆ ที่มีอยู่เดิมเริ่มปรับทิศทางใหม่ ต้องมองประเทศนี้ใหม่เสียแล้ว

 

เมื่อไปเยือนเกาะบาหลี พบว่าที่นั่นระบบต่างๆ กำลังพัฒนา สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่และทันสมัย กำลังจะเปิดให้บริการคลื่นนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่มาเยี่ยมเยียนเกาะเทวดาแห่งนี้

ที่กล่าวว่าเกาะเทวดา ก็เพราะตามความเชื่อแห่งหลักศาสนาฮินดูของชาวบ้านชาวเมืองบนเกาะนี้ เขาให้การนับถือเทพยดาอารักษ์ เป็นผู้ปกปักษ์ ทั้งผืนดิน แผ่นน้ำ ภูเขา ชายหาด ต้นน้ำ ลำธาร ฯลฯ ทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ จะเห็นการบูชาบวงสรวงตามศาสนสถานนับหมื่นแห่งทุกบ้าน ทุกชุมชน ทุกถนนหนทาง ทุกตรอกซอกซอย เรียกได้ว่าผู้ใดที่มาเยือนเกาะแห่งนี้จะไม่ได้เห็นพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้คงไม่มีแน่นอน

ด้วยเหตุนี้กระมัง ทำให้ธรรมชาติยังคงอยู่ (อย่างอุดมสมบูรณ์อีกด้วย) เมื่อคนรักธรรมชาติ ธรรมชาติก็รัก (ษ์) คนเช่นเดียวกัน และขณะนี้ได้ให้อาชีพ (แก่คนท้องถิ่น) ให้ใครต่อใครอยากมาชมความงาม ความหลากหลายของธรรมชาติที่นี่ มีทั้งชายหาด ภูเขาไฟ ป่าไม้ เรียกว่าครบเครื่องเรื่องธรรมชาติ

เห็นอย่างนี้จึงอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่าทำไมคนบางประเทศ ที่ชอบบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพยดาฟ้าดินเกือบจะไม่ต่างกับที่นี่ โดยเฉพาะวันที่ 1 และ 16 ของเดือน แต่ทำไมธรรมชาติในประเทศนั้นร่อยหรอเต็มที หรือว่าจุดประสงค์ของการบูชาต่างกัน ระหว่างบูชาเพื่อให้ กับบูชาเพื่อได้?

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสามารถรับรู้ได้จากเกาะบาหลีแห่งนี้ คือการเป็นฐานที่มั่นสุดท้าย ที่ฮินดูและพุทธดั้งเดิมได้ล่าถอยจากการรุกรานทางศาสนามาปักหลักต่อสู้ จนรักษาความศรัทธาของบรรพบุรุษไว้ได้ ที่นี่จึงมีทั้งจิตและวิญญาณที่พร้อมส่งต่อให้ชนรุ่นหลัง ถึงแม้ว่าในวันนี้พวกเขาจะเป็นชนส่วนน้อยของสังคมอินโดนีเซียก็ตาม

วิถีธรรม(ชาติ)ในอินโดนีเซีย

 

แต่วันนี้มิติทางศาสนาของสังคมอินโดนีเซียมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกไปมากพอสมควรทีเดียว นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มมีนโยบายที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่นๆ นอกจากศาสนาอิสลามแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างของศาสนาพุทธ ที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้การสนับสนุนการจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันวิสาขบูชา และยังได้ประกาศยกย่องให้วันนี้เป็นวันหยุดแห่งชาติอีกด้วย

นอกจากนั้น ได้ให้การคุ้มครองความศรัทธาของศาสนิกชนในศาสนาอื่น เช่น กรณีที่ศาลอินโดนีเซียสั่งปิดกิจการบุดดาบาร์ หลังจากที่มีกลุ่มชาวพุทธประท้วง เพราะบาร์ดังกล่าวนำพระพุทธรูปไปประดับในบาร์ ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม

ในวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญสากลของชาวพุทธทั่วโลก ทางรัฐบาลอินโดนีเซียให้การสนับสนุนการจัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่ชนิดต้องตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามกว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมด จัดงานเช่นนี้อย่างไม่ขวยเขินได้อย่างไร โดยเฉพาะ ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ประธานาธิบดีแห่งประเทศอินโดนีเซีย ได้ให้เกียรติเป็นประธานของงานด้วยตัวเอง (ทั้งๆ ที่ท่านเองไม่ใช่ชาวพุทธแต่อย่างใด แถมยังนับถือศาสนาอิสลามอีกด้วย) ทำให้ชาวพุทธในอินโดนีเซียและทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมงานวันวิสาขบูชา ณ มหาสถูปบุโรพุทโธ ต่างมีความประทับจิตประทับใจโดยทั่วกัน

(นักการเมืองต่างศาสนาในประเทศไทย น่าจะดูประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นตัวอย่าง เขานับถือศาสนาอิสลามแต่ร่วมใจจัดงานให้พระพุทธศาสนา ขณะที่นักการเมืองไทยพอได้ตำแหน่งนั่งกระทรวงกลับให้ยกพระพุทธรูปออกจากห้องประชุม ถามดูได้ทั้งกระทรวงมหาดไทยและคมนาคม ว่าเป็นใคร)

การไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย คือการไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ทำให้ได้ทราบถึงปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและทางสังคม เพื่อนำมาเปรียบเทียบและเฝ้าระวังในบ้านเกิดเมืองนอนของเรา เรียกว่ารู้เขารู้เรา เพราะอีกไม่กี่ปีก็ AEC แล้วท่านทั้งหลาย.

แต่ที่ประทับใจคือการที่เห็นคนอินโดนีเซียรักธรรมชาติ ธรรมชาติจึงรัก (ษ์) พวกเขา