posttoday

โกหกสีขาว...โกงกิน ไม่น่ารังเกียจชาวพุทธควรพิจารณาอย่างไร!? (ตอน ๓)

13 กันยายน 2555

สมดังพระบาลีที่ว่า “สาธุรูโป จะ ปาสังโส ทวารัตตะเยนะ สัจจะวา” แปลว่า ผู้มีความสัตย์ ด้วยทวารทั้งสาม ด้วยทั้งกาย วาจา ใจ ดีจริง ควรสรรเสริญ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

สมดังพระบาลีที่ว่า “สาธุรูโป จะ ปาสังโส ทวารัตตะเยนะ สัจจะวา” แปลว่า ผู้มีความสัตย์ ด้วยทวารทั้งสาม ด้วยทั้งกาย วาจา ใจ ดีจริง ควรสรรเสริญ เรื่องวินัยจึงเป็นเรื่องของศีลสิกขาบท ที่แสดงให้เห็นบรรทัดฐานแห่งความเป็นสุจริตชนหรือทุจริตชน แม้วินัยของบรรพชิตก็ยังแสดงอยู่ในรูปของศีล ที่เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ อันเป็นไปเพื่อการบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ศีลจึงแสดงบทบาทที่กว้างขวางลึกซึ้งในรูปของวินัย ที่วางกรอบกรรมบถ อันเป็นข้อประพฤติเพื่อนำไปสู่ความสุจริต ทั้งกาย วาจา ใจ

เมื่อสืบเนื่องสู่มงคลที่ ๑๐ สุภาสิตา จะ ยา วาจา แปลว่า วาจาอันชนกล่าวดีแล้ว ก็ยิ่งแสดงให้เห็นองค์คุณของศีลในข้อ มุสาวาทา เวระมณี แต่แสดงในรูปคุณลักษณ์ของ วาจาสุภาษิต ว่าเป็นอุดมมงคล หมายถึง วาจาที่กล่าวดีแล้ว เป็นวาจาที่ไม่เป็นโทษ ประกอบด้วยธรรม เป็นวาจาที่เป็นที่รัก เป็นวาจาที่เป็นที่รัก เป็นวาจาจริงไม่เป็นเท็จ ไม่ส่อเสียด ไม่เหลวไหลเพ้อเจ้อ แม้วาจาที่แสดงธรรมก็เพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง ชื่อว่าเป็นวาจาสุภาษิต เพราะเป็นปัจจัยที่ให้ฟังได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อีกทั้งเป็นไปเพื่อบรรลุมรรค ผล พระนิพพานอีกด้วย

ในการแสดงคุณของวาจาสุภาษิต แล้วก็มักจะแสดงโทษของวาจาทุพภาษิต ซึ่งนำไปสู่อบายภูมิทุคติ ประสบความทุกข์เดือดร้อนร่ำไป

เมื่อพิจารณาต่อไปในมงคลที่ ๑๙ การงดเว้นจากบาป มงคลที่ ๒๐ การสำรวมจากน้ำเมา ก็จะได้เห็นเด่นชัดเรื่องคุณลักษณะของศีลในด้านอานิสงส์ของบุคคลผู้ถือปฏิบัติไม่ล่วงละเมิด ดังเช่น การงดเว้นบาป ในมงคลที่ ๑๙ ซึ่งคำว่า “บาป” ได้แก่ อกุศลทุกอย่างที่ให้ผลเป็นทุกข์ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น บุคคลที่เห็นโทษของบาป ไม่ยินดีในบาป ย่อมละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำบาป เพราะเกรงผลของบาปที่จะติดตามมา มีการถูกติฉินนินทาในปัจจุบัน มีการเกิดในอบาย เป็นสัตว์นรก เปรต อสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานในอนาคต เมื่อละอายบาป เกรงกลัวต่อบาป ก็ย่อมงดเว้นบาป ทำแต่บุญกุศล

การงดเว้นบาป จึงเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า เป็นเหตุให้ละเวรภัยทั้งปวง เป็นเหตุให้บรรลุคุณวิเศษ มรรค ผล พระนิพพานด้วย ดังมีเรื่องเล่าพอเป็นสีลานุสติ ว่า “อุบาสกคนหนึ่ง อยู่ในบ้านทันตคามใกล้ภูเขา ได้สมาทานศีลจากพระอริยสงฆ์รูปหนึ่ง ครั้นสมาทานศีลแล้วไปไถนา ไถนาเสร็จแล้วได้ปล่อยโคไปกินหญ้า โคเที่ยวไปกินหญ้าก็หายไป อุบาสกนั้นเที่ยวตามหาโคไปบนภูเขา ถูกงูเหลือมตัวหนึ่งเลื้อยมารัดเขาไว้เพื่อกินเป็นอาหาร เขามีมีดเล่มหนึ่งอยู่ในมือ คิดจะฟันงูนั้นให้ตาย แต่ก็กลัวศีลขาด เมื่องูนั้นรัดแน่นเข้า เขาจึงคิดว่า ถ้าเขาฆ่างู งูก็ตาย ศีลเราก็จะขาด อย่ากระนั้นเลย เรายอมตาย แต่ไม่ยอมศีลขาด คิดแล้วก็ขว้างมีดทิ้งไป ตั้งจิตคิดถึงศีลที่ตามรักษาเป็นอารมณ์ ด้วยอานุภาพแห่งศีลที่ตนรักษาดีแล้ว บันดาลให้กายของอุบาสกนั้นร้อนดังไฟ งูนั้นทนความร้อนไม่ได้ ก็คลายตัวจากอุบาสกเลื้อยเข้าไปในป่า อุบาสกนั้นก็รอดชีวิตกลับมาด้วยอานิสงส์ที่ศีลบริสุทธิ์ เพราะศีลที่รักษาดีแล้ว... นี่คืออานิสงส์แห่งศีลที่นักปฏิบัติธรรมมักจะได้พบเห็นมีประสบการณ์ตรง ดุจดังเรื่องที่กล่าวมา แม้ในการสำรวมจากน้ำเมา หมายถึง สุราเมรัย ก็จัดอยู่ในศีลสิกขาบท ที่ห้ามล่วงละเมิด เพราะมีแต่โทษภัยตอบแทน ไม่มีคุณประโยชน์ใดๆ เลย

พระพุทธศาสนาจึงวางรากฐานกรรมบถ ๑๐ ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติในเบื้องต้น โดยมุ่งเน้นให้ประพฤติสุจริตทั้งทางกาย วาจา และใจ เรียกว่า กุศลกรรมบถ อันเป็นแบบแผนของชาวพุทธที่ควรถือปฏิบัติเป็นไปตามวิถีพุทธ เพื่อความยิ่งขึ้นไปในการศึกษาปฏิบัติจนบรรลุถึงมรรค ผล พระนิพพาน

หากมาพิจารณาปุจฉา เรื่อง การพูดเท็จด้วยความจำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งส่วนรวม ที่เรียกว่า โกหกสีขาว นั้น ก่อนจะวินิจฉัย ขอขมวดเรื่องมาสู่วจีกรรม ซึ่งนอกจากสุจริตแล้ว จะต้องรู้จักสิ่งที่ควรและไม่ควร มีประโยชน์หรือไม่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งขออ้างอิงในเรื่องบุคคลควรรู้จักว่า สิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด ซึ่งพระบรมศาสดาได้ทรงตรัสไว้ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า...

... อนึ่ง ตถาคต รู้วาจาไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

... อนึ่ง ตถาคต รู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

... อนึ่ง ตถาคต รู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้