posttoday

ชื่นชมความคิดสร้างพระธรรมทูตของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย

02 กันยายน 2555

ตามที่สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980จัดโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย

โดย...สมาน สุดโต

ตามที่สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980จัดโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 90 วัน เพื่อสร้างพระธรรมทูต ให้นำพุทธธรรมที่ศึกษาจากสถานที่จริงมาเผยแผ่ในประเทศไทย ติดต่อกันมาถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 โดยอบรมตั้งแต่ 1 ส.ค.31 ต.ค. 2555 นั้น ผู้เขียนซึ่งตามไปสังเกตการณ์ทั้งในประเทศไทยและประเทศอินเดีย ได้สัมภาษณ์พระภิกษุที่เข้าร่วมอบรมตามโครงการนี้บางรูป พบว่าท่านพอใจถึงกับพูดว่า ผู้ที่คิดหลักสูตรนี้ยอดเยี่ยมจริงๆ

ป.ธ. 9 เพียงรูปเดียว

พระที่ผมสัมภาษณ์ นอกจากพบว่าท่านพอใจกับโครงการแล้ว ยังพบว่าท่านมีอะไรที่พิเศษอีกมาก ท่านผู้นี้คือ พระมหาวิทยาเชฏฐ์ วรธมฺโม นามสกุล รอดทอง น.ธ. เอก ป.ธ. 9 อายุ 46 ปี พรรษา 26 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ครูสอน บาลีป.ธ. 3 (สอนไวยากรณ์) และ ป.ธ. 9 (สอนแปลไทยเป็นมคธ) สำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามและพระครูอาคมปัญญารักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดรวกบางบำหรุ ทั้ง 2 รูปได้เข้าศึกษาอบรมร่วมกับคณะอีก 30 รูป

พระมหาวิทยาเชฏฐ์ เป็นพระเปรียญธรรม 9 ประโยค เพียงรูปเดียวของรุ่นที่ 4 เล่าว่า เคยมาอินเดียเพื่อนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล แต่เป็นเพียงฉาบฉวย ไม่รู้สึกอิ่มใจ เมื่อได้รับการชักชวนจากพระเมธีวรญาณ (เจ้าคุณสายเพชรป.ธ. 9) วัดมหาธาตุ จึงตัดสินใจสมัครมา เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้เห็นและบูชาสังเวชนียสถานให้อิ่มใจ เพราะมีเวลาอยู่ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมกันนานถึง 3 เดือน

ชมว่าความคิดเยี่ยม

ก่อนศึกษาตามหลักสูตรเชิงลึกนั้น ท่านสารภาพว่าไม่ได้รู้มาก่อนว่าหลักสูตรมีอะไรบ้าง แต่เมื่อมาถึงอินเดีย ช่วงแรกได้เข้าอบรมวิปัสสนา 10 วันตั้งแต่วันที่มาถึง ทำให้ได้รับสิ่งที่เคยอยากปฏิบัติมาก่อนคือวิปัสสนากรรมฐาน เพราะอยู่เมืองไทย ใช้เวลาไปกับการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเรียนจบ ป.ธ. 9 ก็เป็นอาจารย์สอน จะปฏิบัติจริงก็เพียงสมถะ คือ ภาวนาพุทโธ ตามหลักอานาปานสติ ตามที่อ่านในหนังสือ หรือในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ยังไม่เคยปฏิบัติตามแนววิปัสสนา ในใจนั้นอยากปฏิบัติก็จริง เพราะเรียน (ทฤษฎี) มาแล้ว แต่ก็มีปัญหาว่าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร พอได้เริ่มต้นจริงๆ ต้องยอมรับว่าเหมือนเด็กใหม่ เพิ่งหัดเดิน จึงตั้งใจพยายามทำเต็มที่ (เหมือนหัดเดิน) เมื่อจบภาควิปัสสนา 10 วัน ท่านบอกกับผู้เขียนว่า ผู้ที่ทำโครงการและหลักสูตรนี้มีความคิดยอดเยี่ยมจริงๆ

ชื่นชมความคิดสร้างพระธรรมทูตของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย

ตั้งใจสร้างประวัติศาสตร์

พระมหาวิทยาเชฏฐ์ บ้านเดิมอยู่ จ.ลพบุรี ไม่ได้ผ่านการบรรพชาเพื่อเรียนนักธรรมบาลีเช่นผู้ที่สอบเปรียญธรรมประโยคสูงทั้งหลาย หากแต่อายุครบ 20 ปี จึงเข้าอุปสมบท แต่สามารถเรียนนักธรรมบาลีจนจบประโยคสูงสุด คือ ป.ธ. 9 ได้อย่างน่าทึ่งมิใช่เท่านั้น ท่านยังมีความฝันที่จะให้พี่น้องร่วมท้องที่มีบิดามารดาเดียวกันคือตัวท่านเองกับน้องชายสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้พร้อมกัน รับพัดเปรียญธรรม 9 ประโยค ในวันเดียวกัน เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่วงตระกูล และแก่การศึกษาพระปริยัติธรรมของสงฆ์ ท่านจึงสอนบาลีไวยากรณ์ให้พระน้องชาย ปัจจุบันคือ พระมหาสมชายมหาปัญโญ อายุ 40 ปี คณะ 2 วัดสุทัศน์เทพวราราม ทั้งนี้เพราะพื้นฐานไวยากรณ์ท่านแข็งแรง เนื่องจากเรียนบาลีใหญ่จากสำนักวัดท่ามะโอ จ.ลำปาง

แต่ทำได้เพียงสอบ ป.ธ. 7 ได้พร้อมกันเท่านั้น เมื่อสอบ ป.ธ. 8 สอบตกทั้งพี่ทั้งน้อง ตัวท่านสมัครสอบต่อจนสอบผ่านอีก 2 ปีต่อมา แต่พระน้องชาย พระมหาสมชาย ไม่ยอมสอบต่อ เพราะมีความมั่นใจสูงว่าทำข้อสอบประโยค ป.ธ. 8 ได้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง ไม่น่าจะสอบตก แต่ผลออกมาว่าสอบตก จึงไม่มีความเชื่อมั่น มิเช่นนั้นก็คงสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่วงการศึกษาสงฆ์ไทยแน่นอน

ก่อนที่จะสอบได้ ป.ธ. 9 ในสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามนั้น ท่านเล่าว่าเมื่อเรียนบาลีที่สำนักวัดท่ามะโอ ลำปาง สอบได้ ป.ธ. 3 ได้เดินทางไปเรียนต่อที่สุราษฎร์ธานี สอบได้ ป.ธ. 5 ก็คิดหาที่เรียน ป.ธ. 6 ในกรุงเทพฯ แต่ไม่รู้จักสำนักเรียนอื่นกว้างขวางนัก ไม่รู้ว่าจะไปเรียนต่อประโยคสูงที่ไหนดี จึงนำรายชื่อสำนักเรียนที่มีสถิติการเรียนการสอบที่สอบได้มากมาศึกษา พบว่าสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามโดดเด่นมาก จึงมาสมัครอยู่วัดโมลีโลกยาราม แต่เจ้าอาวาส (อดีตพระพรหมกวี วรวิทย์ ป.ธ. 8) ไม่ค่อยเต็มใจรับเพราะอายุมากถึง 36 ปี แต่ก็รับไว้แล้วพูดเปรยๆ ว่า อายุมาก ทั้งนี้ผู้เรียนบาลีที่มีอายุมากอาจเรียนไม่ค่อยไหว ปีแรกท่านก็สอบ ป.ธ. 6 ได้ จากนั้นก็สอบ ป.ธ. 7 ได้ เมื่อถึงชั้น ป.ธ. 8 ใช้เวลา 2 ปีจึงสอบได้ และใช้เวลาอีก 3 ปี จึงสอบ ป.ธ. 9 ได้ จากนั้นก็เป็นครูสอนบาลีตามที่อาจารย์ใหญ่มอบหมาย

เริ่มต้นถูก

ท่านเล่าเรื่องการอบรมวิปัสสนา 10 วัน ก่อนเข้าศึกษาตามโครงการศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย สนับสนุนโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ว่าการให้ฝึกวิปัสสนาก่อน เป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะการฝึกจิตก่อน ทำให้จิตใจเข้มแข็งเจอปัญหาอะไรก็แก้ง่ายขึ้น

ในช่วง 10 วันที่ฝึกวิปัสสนา จึงไม่เห็นปัญหาของพระที่ร่วมฝึกอบรม แม้ว่าจะพบปัญหาและอุปสรรคในการเป็นอยู่ เช่น ไฟฟ้าดับบ่อยๆ เทียบกับอยู่เมืองไทยไฟฟ้าไม่เคยดับ เมื่อไฟฟ้าดับบ่อย พัดลมหยุดหมุน อากาศก็ร้อน แต่ทำใจกันได้ จึงมีปัญหาน้อย ท่านจึงว่าเป็นการเริ่มต้นถูก ที่ให้ฝึกจิตก่อน

เมื่อถามว่าท่านฝันถึงการศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึกอย่างไรบ้าง ท่านบอกว่ายังไม่รู้ในรายละเอียด แต่เชื่อว่าคงได้เรียนพุทธประวัติจากสถานที่จริงได้ลึกซึ้ง จะได้เห็นของจริง ไม่ใช่อนุมานเอา หรือคาดเดา เช่น เมื่อมาเห็นต้นสาละ ตามที่เรียนจากพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานที่ใต้ต้นรังทั้งคู่นั้น (ทางไทยแปลสาละว่าต้นรัง) ความคิดเกี่ยวกับต้นสาละได้เปลี่ยนไป ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจตามตำรา(ต้นสาละกับต้นรัง ต่างกัน) ดังนั้นเมื่อเจอของจริง จึงมีความมั่นใจในการพูดและสื่อสารได้ถูกต้องมากขึ้น

จุดประกายให้พระนักเทศน์

ส่วนพระครูอาคมปัญญารักษ์ อายุ 50 ปี พรรษา 30 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดรวกบางบำหรุ พระนักเทศน์ เล่าความรู้สึกที่ได้เข้าอบรมในครั้งนี้ว่า ได้ฟังวิทยากรพูดและบรรยาย โดยเฉพาะได้ฟัง สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการโพธิคยาวิชชาลัย 980 บรรยาย ทำให้เห็นว่ามีอะไรที่เราไม่รู้และคิดไม่ถึงอีกมากโดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา แต่ก่อนนั้นไฟเริ่มมอด แต่เมื่อฟัง สุภชัย บรรยายเกิดประกายลุกโพลงขึ้นมาอีก

ชื่นชมความคิดสร้างพระธรรมทูตของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย

 

ท่านเป็นคนมีพื้นเพเดิมอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี เคยมาเข้าฝึกอบรมกับท่านกิตติวุฑโฒ ที่สถาบันจิตตภาวัน บางละมุง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2530 ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางบำหรุ ทำหน้าที่เทศน์และสาธยายธรรมแก่ประชาชนเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อได้มาอบรมเชิงลึกครั้งนี้ ถือว่าจะได้สิ่งดีๆ ไปบอกเล่าแก่ประชาชน พุทธศาสนิกชนได้ดีมากขึ้น และท่านถือว่าสมปรารถนาตามที่เคยตั้งใจว่าจะต้องมาอินเดียให้ได้ 3 ครั้ง ซึ่งก็ได้มาจริงๆ ในครั้งนี้ เพราะที่มา 2 ครั้งแรก ไม่ค่อยได้อะไร ทัวร์ครั้งแรกเป็นชะโงกทัวร์ ส่วนครั้งที่ 2 เป็นทุลักทุเลทัวร์ (ลำบากพอสมควร)

เส้นทางศึกษาและปฏิบัติ

หลักสูตรการฝึกอบรมในโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประกอบด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน 10 วัน ที่สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ณวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ จากวันที่ 4-12 ส.ค. วันเปิดโครงการคือวันที่ 13 ส.ค. โดยพระธรรมวรนายกเป็นประธาน สุภชัย บรรยายเรื่อง AEC เชื่อมการค้า พระพุทธศาสนาเชื่อมสุวรรณภูมิ

กลุ่มผู้สื่อข่าวบรรยาย การเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านสื่อมวลชน

พระธรรมทูตได้ใช้เวลาศึกษาและปฏิบัติการที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ถึงวันที่ 23 ส.ค.

วันที่ 24-28 ส.ค. เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติ ณ ลุมพินี ที่ประสูติ ที่ประเทศเนปาล

วันที่ 8-13 ก.ย. เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติที่เมืองสาวัตถี

วันที่ 25-30 ก.ย. เข้าสู่แดนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่พุทธคยา ศึกษาและปฏิบัติที่กรุงราชคฤห์ สถาบันนาลันทา และไวสาลี

วันที่ 10-14 ต.ค. ศึกษาเชิงปฏิบัติ ณ เมืองพาราณสี

กลับวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปิดโครงการวันที่ 28 ต.ค. เดินทางกลับถึงไทยวันที่ 2 พ.ย. 2555

วิทยากร

วิทยากรในโครงการ ได้แก่ พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6 พระธรรมวิมลโมลี เจ้าคณะภาค 17 พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย เนปาล พระราชปฏิภาณมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส พระเมธีวรญาณ วัดมหาธาตุ พระครูวรกิตติโสภณ เจ้าอาวาสวัดนาคปรก

พระมหา ดร.ปรีชา กตปุญฺโญ ผู้อำนวยการโครงการ พระมหาสุพจน์ กิตฺติวณฺโณ ป.ธ. 9 พระครูธรรมธรครรชิต คุณวโร พระมหา ดร.ดวงจันทร์ คุตฺตสีโล และช่อผกา วิริยานนท์

สุภชัย สรุปให้ผู้เขียนฟังว่า โครงการนี้จะขยายไปยังพระเถรวาทในอินโดจีน พม่า และศรีลังกา เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมสุวรรณภูมิให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเล็งว่าปีหน้าจะจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรในนามสถาบันให้แก่บุคคลสำคัญทั่วโลกที่ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา เพราะรัฐบาลอินเดียจดทะเบียนให้เป็นสถาบันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว