posttoday

วิถีธรรมนำชีวิตจากบทธรรม ‘ธาตุวิภังค์’(ตอน ๗)

27 สิงหาคม 2555

เรื่องของธาตุเป็นสภาวะเท่านั้นเอง แต่ในสภาวะนั้นเคลื่อนไหวในรูปของปรมัตถ์ เป็นความจริงขั้นปรมัตถ์

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เรื่องของธาตุเป็นสภาวะเท่านั้นเอง แต่ในสภาวะนั้นเคลื่อนไหวในรูปของปรมัตถ์ เป็นความจริงขั้นปรมัตถ์ ว่าไปตามสภาพเหตุปัจจัย จึงเรียกว่า ปรมัตถ์สัจจะ ปรมัตถ์สัจจะที่เคลื่อนไหวตามเหตุตามปัจจัย ตรงนี้มีอำนาจหนึ่งที่เรียกว่า ความจริงแท้ ที่เห็นความจริงของความเปลี่ยนแปลงแปรผัน เรียกไม่เที่ยง ให้ความบีบเค้นเป็นทุกข์ ให้ความไม่ใช่ตัวตนเป็นอนัตตา การทะลวงทะลุความจริงของปรมัตถ์เรียกว่า อริยสัจ

เรากำลังเริ่มเรียนรู้สิ่งที่เป็นความจริง ที่เป็นภาวะสัจจะ พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องดังกล่าวขึ้น แสดงให้เห็นในธาตุวิภังค์ ในธาตุวิภังค์ หรือวิภัชชะ จำแนกแจกแจง เพื่อแสดงให้เห็นความไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา เป็นตัวปัญญาล้วนๆ เป็นการจำแนกให้เห็นความเป็นธาตุ และแสดงความเป็นธาตุว่า มันเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัย แสดงให้เห็นความเป็นธาตุว่า ไม่ใช่ของเราไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เพื่อออกมาจากตัณหา มานะ ทิฏฐิ หรืออวิชชา สิ้นตรงนั้นได้ คือ สิ้นทุกข์ พระพุทธเจ้ายกเรื่องดังกล่าวขึ้นสอนในธาตุวิภังคสูตร อาตมายกธรรมะล้วนๆ เข้ามากล่าว เพื่อแสดงให้เห็นการแจกแจงเรื่องของธาตุ แม้จิตนี้ก็เป็นธาตุ เกิดขึ้นเคลื่อนไหวตามสภาพความปรุงแต่งของธาตุ ที่ก่อกันเกิดกัน เคลื่อนไปตามภาวะธาตุนั้นๆ ในภาวะแห่งธาตุนั้นๆ มันก็เคลื่อนไหวตามสภาพกฎเกณฑ์เหตุปัจจัยตัวสภาวะ ตัวสภาวะธาตุนั้นเรียกว่า ปรมัตถ์ ในปรมัตถ์ในภาวะนั้นรู้จริงเรียกว่า อริยสัจ จึงเห็นการเคลื่อนไหวของจิตวิญญาณในรูปของจิตวิถี ที่แสดงความสืบเนื่องว่า ...อวิชชาเป็นปัจจัยทำให้เกิดสังขาร ...สังขารเป็นปัจจัยทำให้เกิดวิญญาณ ...วิญญาณเป็นปัจจัยจึงทำให้เกิดนามรูป และนามรูปนี้จึงสร้างอายตนะ อายตนะเกิดขึ้น มันก็ทำงานของมันตามหน้าที่ของมัน เพราะเป็นสภาพธรรมที่มันต้องเป็นอย่างนั้น มันเคลื่อนไหวตามสภาพภาวะธรรมของมัน มันก็มีการรับรู้ตามกระบวนการของมัน

เมื่อมีการรับรู้เกิดขึ้น สภาพจิตที่ก่อเกิดอำนาจนามรูปมันก็ทำหน้าที่ของมันในฐานะของวิญญาณ วิญญาณ ๖ เกิดขึ้น อายตนะ ๖ เกิดขึ้น ภายในภายนอกทั้ง ๖ เกิดขึ้น วิญญาณ ๖ อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ เกิดขึ้น ก็เกิดสัมผัสกัน หรือประจบ หรือบรรจบกัน ในแต่ละจุดๆ จุดที่หนึ่งก็คือ ตา ท่อรับทางตา ท่อรับทางเสียงคือ ทางหู ท่อรับทางกลิ่นเรียกว่า ท่อจมูก ท่อส่งเข้าทางปาก ลิ้นชิวหา Taste/รส สัมผัสทางกายก็เป็นท่อ จิตมโนก็เป็นท่อ แต่ละจุดมันก็เป็นจุดตั้งของการเรียนรู้เกิดปฏิกิริยาอันหนึ่งเกิดขึ้น

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการบรรจบกัน เป็นสภาวะเชิงวิทยาศาสตร์ เหมือนสภาพตรงนี้บรรจบเกิดกันด้วยความพร้อมขนาดนี้ จึงเกิดการรวมตัวเพื่อความเปลี่ยนแปลง รวมตัวและสร้างรูปเปลี่ยนแปลงเป็นรูปใหม่เกิดขึ้น เหมือนก๊าซไฮโดรเจนออกซิเจน สัมปยุตกับภาวะรวมกันขณะที่อุณหภูมิจุดหนึ่งเข้ามากำกับบนก๊าซสองตัวนี้ สามส่วนนี้บรรจบกันเมื่อไหร่ บนความร้อนความเย็นที่พอเหมาะจะเกิดคำว่าน้ำเกิดขึ้น

อ่านต่อฉบับวันพรุ่งนี้