posttoday

พระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอนุญาตให้หล่อเป็นครั้งแรก

26 สิงหาคม 2555

นับตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 2555 เป็นต้นมา พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ถนนมหาราช (ท่าพระจันทร์) เต็มไปด้วยประชาชนทุกเพศทุกวัย ที่เดินทางถวายสักการะพระบรมรูปหล่อครั้งประวัติศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์จัดสร้างเพื่อนำไปประดิษฐานยังวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 2555 เป็นต้นมา พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ถนนมหาราช (ท่าพระจันทร์) เต็มไปด้วยประชาชนทุกเพศทุกวัย ที่เดินทางถวายสักการะพระบรมรูปหล่อครั้งประวัติศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์จัดสร้างเพื่อนำไปประดิษฐานยังวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

การจัดสร้างพระบรมรูปเกิดจากความร่วมมือของประเทศไทยกับอินเดีย เพื่อฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา

ในการแถลงข่าวที่วัดมหาธาตุ วันที่ 18 ส.ค. ธวัชชัย ทวีศรี อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดีย กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโลกที่มีการหล่อพระบรมรูป และจะอัญเชิญไปประดิษฐานยังต่างประเทศ

พระบรมรูปสร้างจากบรอนซ์ผสมเงิน ฉลองพระองค์ชุดจอมทัพไทย ขนาดความสูง 2.30 เมตร น้ำหนัก 600 กิโลกรัม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยแบบพระบรมรูปที่คณะผู้จัดทำได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ

นอกจากนั้นคณะผู้จัดทำได้ขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระบรมรูปจำลองจากบรอนซ์ผสมทอง ขนาด 21 นิ้ว จำนวน 250 องค์ เพื่อให้ประชาชนได้อัญเชิญไปสักการะ องค์ละ 5 หมื่นบาท เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารประดิษฐานพระบรมรูปต่อไป

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อให้พสกนิกรทั่วไปเข้ามาถวายสักการะถึงปลายเดือน ส.ค. และจะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย ในเดือน ก.ย. 2555

ส่วนสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์เป็นอาคารรูปโดม ออกแบบโดย วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (แบบประเพณี) อาคารตั้งเคียงข้างพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา ซึ่งอาจารย์วนิดาให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาคารประดิษฐานพระบรมรูปว่า

พระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอนุญาตให้หล่อเป็นครั้งแรก

 

“เป็นรูปแบบอินเดียผสมไทย ลักษณะของอาคารเป็นรูปโดม ใต้หลังคาโดมจะเป็นท้องฟ้า และภายในตัวอาคารนอกจากบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ จะมีฉัตร 9 ชั้น ที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.อยู่ตรงกลางของฉัตร”

พระราชรัตนรังษี (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดียเนปาล และประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ กล่าวว่า วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์สร้างบนแผ่นดินพุทธภูมิ ใกล้กับกุสินาราสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อ พ.ศ. 2537 ปัจจุบันเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของรัฐอุตตรประเทศที่คนสำคัญของรัฐจะระบุว่า เป็นสถานที่ที่ต้องมาเยี่ยมเยียน จะละเว้นเสียมิได้ หากมีเวลาจำกัดให้ตัดสถานที่อื่นออกจากรายการได้ แต่จะไม่ตัดวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์จากรายการ เพราะสถานที่แห่งนี้มีรูปแบบวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมไทยให้ศึกษาเต็มรูปแบบ ด้วยบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีเลิศ

สิ่งก่อสร้างในวัดซึ่งมีเนื้อที่ 14 ไร่ ได้แก่ พระอุโบสถทรงไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.ประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธสยัมภูญาณเป็นพระประธาน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นประณีตศิลป์ ศาลารับเสด็จ อาคารเฉลิมพระเกียรติ หอสวดมนต์ ธรรมศาลาที่พักผู้แสวงบุญ หอพระไตรปิฎก และพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบแปลน มีขนาดกว้าง 9.73 เมตร ยาว 9.73 เมตร พระเจดีย์องค์ประธานสูง 19 เมตร ประกอบด้วยยอดต่างๆ อีก 9 ยอด มีเรือนซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 9 รัชกาล ออกแบบโดยอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) เมื่อ พ.ศ. 2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2544 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามพระเจดีย์ว่า พระมหาธาตุเฉลิมพระราชศรัทธา เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2544

โครงสร้างพระมหาเจดีย์แบ่งเป็น 2 ส่วน เป็นส่วนที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ในแกนกลางพระมหาเจดีย์ และส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่พุทธบริษัทปฏิบัติบูชาสักการะ

นอกเหนือจากปูชนียสถานของวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์แล้ว อีกฟากหนึ่งของถนนตรงกันข้ามกับที่ตั้งของวัด เป็นที่ตั้งของกุสินาราคลินิกที่เปิดรับรักษาบุคคลทั่วไป ซึ่งทุกเช้า (เว้นวันเสาร์อาทิตย์) จะมีชาวอินเดียมาขอรับบริการเป็นจำนวนมาก และที่ตั้งสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ที่ก่อตั้งโดยผู้ที่เคยอุปสมบทถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา สถาบันนี้มี สุภชัย วีระภุชงค์ เป็นเลขาธิการ จัดโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาเผยแผ่ในประเทศไทย

ปัจจุบันจัดอบรมเป็นรุ่นที่ 4 โดยมีพระสงฆ์จากประเทศกัมพูชาร่วมด้วย 3 รูป ตามแผนการที่จะขยายการอบรมไปยังพระสงฆ์ในประเทศอินโดจีน พม่า ศรีลังกา เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นปึกแผ่นในสุวรรณภูมิต่อไป

สำหรับรุ่นที่ 4 มีพระสงฆ์ที่ได้รับการคัดเลือกร่วมอบรมรวม 32 รูป เริ่มอบรมเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2555 โดย 10 วันแรกเป็นการฝึกอบรมสมถะวิปัสสนา ตามคำแนะนำของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง จากนั้นเป็นการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยวิทยากรผู้มีชื่อเสียงจากประเทศไทย รวมทั้งพระราชรัตนรังษีซึ่งเป็นประธานผู้อำนวยการหลักสูตรด้วย โดยท่านกล่าวออกตัวว่า โครงการนี้เป็นโครงการเล็กๆ ที่เสริมโครงการใหญ่ที่ดำเนินการโดยมหาเถรสมาคม ที่ดำเนินการมานานแล้ว

ส่วนการอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประดิษฐานที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์นั้น เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศและพระบารมีในพระองค์ให้แผ่ขยายไปในโลกให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะสงฆ์ไทยในอินเดียและวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น