posttoday

วัดไทยพุทธคยา อินเดีย เตรียมบูรณปฏิสังขนณใหญ่

26 สิงหาคม 2555

วัดไทยพุทธคยาเป็นวัดที่สร้างโดยรัฐบาลไทย เพื่อฉลองพุทธชยันตี 2,500 ปี ที่ตำบลพุทธคยา

โดย...สมาน สุดโต

วัดไทยพุทธคยาเป็นวัดที่สร้างโดยรัฐบาลไทย เพื่อฉลองพุทธชยันตี 2,500 ปี ที่ตำบลพุทธคยา ใกล้กับพระมหาเจดีย์พุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ถึงวันนี้ล่วงเลยมา 55 ปีแล้ว ประกอบกับมีเจ้าอาวาสองค์ใหม่คือ พระราชรัตนรังษี จึงเตรียมบูรณะใหญ่ คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีจึงแล้วเสร็จ

ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ คณะละ 18 ท่าน เพื่อดำเนินการและให้คำปรึกษา เพราะงานบูรณะเป็นงานใหญ่ที่คาดว่าต้องระดมความรู้ความสามารถและชำนาญการจากหลายๆ ฝ่ายมาช่วยกัน เพราะวัดไทยพุทธคยาเป็นวัดที่รัฐบาลไทยสร้าง มีรูปแบบและสถาปัตยกรรมบ่งบอกถึงความเป็นไทย ตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้า พระอุโบสถที่สง่างามและสะดุดตา ซึ่งนักท่องเที่ยวและแสวงบุญต้องเข้ามาดู เมื่อมาบูชาพระมหาเจดีย์พุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้า และกุฏิที่พักสงฆ์ยุคจอมพล ป.

สุภชัย วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา และกรรมการผู้จัดการ บริษัทโภคีธรารีสอร์ต แอนด์ สปา เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ว่าที่ไวยาวัจกรวัดไทยพุทธคยาได้กล่าวถึงแผนงานต่างๆ ในวัดไทยพุทธคยาในอนาคตว่า เริ่มต้นจะมีการปรับปรุงบูรณะซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมให้งดงาม คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะแล้วเสร็จ

วัดไทยพุทธคยา อินเดีย เตรียมบูรณปฏิสังขนณใหญ่

 

ส่วนงบประมาณในการปรับปรุงซึ่งเป็นเงินจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน เพราะวัดนี้เป็นวัดที่รัฐบาลไทยสร้าง อีกส่วนหนึ่งก็ได้จากการบริจาคของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

พระราชรัตนรังษี เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา กล่าวว่า การบูรณะซ่อมแซมจะทำส่วนที่ชำรุดทั้งหมดที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นโรงครัว กุฏิ และห้องกรรมฐานที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน โดยจะรื้อทำใหม่ ในการนี้ครอบครัววีระภุชงค์ รับเป็นเจ้าภาพสร้างอาคารปฏิบัติธรรมแทนของเก่าที่ไม่ได้มาตรฐาน

อาคารที่ไม่แตะต้องโครงสร้างและแบบแปลน นอกจากทำให้มั่นคงแข็งแรง คืออาคารที่พักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของกุฏิทั้งหมด เพราะเป็นสถาปัตยกรรมยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่หาดูในเมืองไทยเกือบไม่ได้แล้ว แต่ที่วัดไทยพุทธคยาจะดูแลรักษาไว้อย่างดี

สำหรับพระอุโบสถทรงจตุรมุขนั้นอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เพราะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าอาวาสรูปก่อนๆ ตลอดเวลา จึงไม่อยู่ในข่ายต้องปรับปรุงหรือบูรณะแต่อย่างใด

จากการสำรวจของผู้เขียนพบว่า ที่พักสงฆ์สถาปัตยกรรมจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น ที่สะดุดตาคือลักษณะเตี้ย แบน หน้าบันทำปริศนาคือทำคล้ายรวงรังผึ้ง อาจทำขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เข้าไปต้องนึกถึงความสามัคคีเสมอก็ได้ ภายในอาคารที่พระฉันอาหารมีพระประธานตั้งอยู่ 1 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามหาที่ไหนเทียบไม่ได้ ออกแบบโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บรมครูของกรมศิลปากร ซึ่งพระราชรัตนรังษีว่าดูพระพุทธรูปองค์นี้เหมือนท่านมีชีวิตแต่เดิมเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ต่อมาย้ายออกเพื่อเปิดทางให้พระพุทธชินราชที่จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี สร้างถวาย มาตั้งเป็นพระประธานแทน

ส่วนวงกบบานประตูหน้าต่างออกแบบสร้างแบบเรือนไทยโบราณ หาดูในเมืองไทยไม่ได้เช่นกัน จึงเห็นควรรักษาไว้ทุกอย่าง แม้กระทั่งรั้วเหล็กที่ทำเป็นรูปดอกบัวประดับทุกช่อง ตั้งแต่รั้วกั้นบริเวณวัดถึงรั้วกั้นภายใน

กุฏิที่อยู่ด้านหลังบางหลังถูกสร้างเสริมในยุคหลังก็อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าที่คิดเพราะแออัดไม่ได้สัดส่วน จึงควรแล้วที่จะต้องสังคายนาทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การบูรณะจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและคณะสงฆ์ เพราะนี่คือวัดที่รัฐบาลไทยสร้างในต่างแดนเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ

งานใหญ่ 2 งานซ้อน

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2555 วัดไทยพุทธคยาได้จัดงานใหญ่ 2 งานซ้อนในวันเดียวกัน ท่ามกลางพระสงฆ์ไทยและพระสงฆ์นานาชาติที่นิมนต์มาร่วมในพิธีอย่างคับคั่ง จนเต็มพระอุโบสถทรงไทยจตุรมุขที่สร้างคล้ายคลึงกับพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร

งานแรกเป็นงานทำบุญอุทิศกุศลแก่บูรพาจารย์ของวัด ซึ่งทำติดต่อกันมาหลายปี ได้แก่ อดีตเจ้าอาวาส 3 รูป รูปที่ 1 สมเด็จพระธีรญาณมุนี(ธีร์ ปุณฺณโก ป.ธ. 9) ที่เป็นเจ้าอาวาสและหัวหน้าพระธรรมทูตยุคบุกเบิก เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2499-2506 รูปที่ 2 พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ป.ธ. 7 ) พ.ศ. 25062531 รูปที่ 3 พระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ป.ธ. 9 Ph.D) พ.ศ. 2531-2554

ในปีนี้ พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ Ph.D) ซึ่งดำรงตำแหน่งจ้าอาวาสและหัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย เนปาล แทนพระเทพโพธิวิเทศ ได้เพิ่มบุคคลสำคัญของไทยที่มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและวัดไทยพุทธคยา ที่ล่วงลับไปแล้วเข้ามา ได้แก่ เอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย 10 ท่าน ได้แก่ หลวงพินิจอักษร พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ หลวงภัทรวาที พระมหิทธานุกร นายบุณย์ เจริญชัย นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ นายจิตติ สุจริตกุล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร นายสุเมศร ศิริมงคล และนายพิรัฐ อิศรเสนา

กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองกัลกัตตา ได้แก่ หลวงภาษาปริวัตร หลวงมิตรกรรมรักษา พระสารสาสน์พลขันธ์ ขุนพากยวาที นายอภิชัย พลาศรัยนายพลเรือน ขำหิรัญ นายไมตรี จุลดุลย์ นายสงวน ศิริกิจ นายนิพนธ์ สถาพร นายทำนอง จารุรัตน์ และนายบุญรอด สันติพิทักษ์

วัดไทยพุทธคยา อินเดีย เตรียมบูรณปฏิสังขนณใหญ่

 

ผู้มีอุปการคุณต่อวัดในยุคแรก ได้แก่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เป็นต้น

พระราชรัตนรังษี กล่าวว่า ปีหน้าจะจัดหาภาพท่านเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่และผู้มีอุปการคุณที่เป็นฆราวาสที่ล่วงลับไปแล้วมาติดให้ครบทุกคนให้เหมือนกับพระเถระทั้งสามรูปที่มีภาพอยู่แล้ว

งานที่ 2 ซึ่งจัดในวันเดียวกัน โดยมี พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ได้แก่ งานมุทิตาและฉลองตราตั้งพระอุปัชฌาย์ให้แก่ พระครูสิทธิปริยัติวิเทศ (ดร.พระมหาฉลอง จนฺทสิริ) เจ้าอาวาสวัดไทยไวสาลี เมืองไวสาลี อินเดีย และงานมุทิตา พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ (ดร.พระมหาวิเชียร) เจ้าอาวาสวัดไทยสิริราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ที่ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักรทองคำ ในฐานะผู้มีผลงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระธรรมวรนายก ได้กล่าวอนุโมทนาในฐานะประธาน ว่า ท่านแสดงความยินดีกับทั้งสองรูปที่รูปหนึ่งได้เป็นพระอุปัชฌาย์ในต่างประเทศ(ดร.พระมหาฉลอง จนฺทสิริ) อีกรูปหนึ่งได้เสมาธรรมจักร (ดร.พระมหาวิเชียร) เพราะทั้งสองรูปเป็นลูกข้าวเหนียวฉันปลาร้าปลาแดกเหมือนกันโดยพระมหาฉลองนั้นเป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม เมืองตักสิลา ที่เต็มไปด้วยมหาวิทยาลัย และพระมหาวิเชียรเป็นชาวเมืองอุบล ทั้งสองรูปล้วนแต่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ

กล่าวถึงตำแหน่งอุปัชฌาย์ ท่านว่าการทำหน้าที่นี้สำคัญมาก เพราะเป็นหน้าที่การปกครอง โดยนั่งเป็นประธานสงฆ์ในการอุปสมบทกุลบุตร ที่จะนำเข้ามาสู่หมู่คณะตามระบอบประชาธิปไตยของสงฆ์ คือ ญัตติจตุตถกรรมอันเป็นสังฆกรรมที่ต้องการเสียงเอกฉันท์รับรอง ผู้เข้ามาบวชจึงเป็นพระตามหมู่คณะได้

ส่วนพระราชรัตนรังษี ในฐานะหัวหน้าพระธรรมทูต สายอินเดีย เนปาล ได้กล่าวถึงตำแหน่งอุปัชฌาย์ ว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่มีพระอุปัชฌาย์ 2 รูปในต่างประเทศ เพราะจะได้ช่วยกันหากรูปหนึ่งไม่อยู่อีกรูปหนึ่งก็ทำหน้าที่แทนได้ สำหรับ ดร.พระมหาฉลองนั้นท่านมีหน้าที่ช่วยงานต่างๆ ในอินเดียมากอยู่แล้ว พร้อมกันนั้นท่านชื่นชมพระเถรานุเถระทั้งหลายที่อยู่ในอินเดีย และพร้อมใจกันมาร่วมแสดงมุทิตากับพระเถระทั้งสองรูป และร่วมพิธีทักษิณานุปทานอุทิศกุศลแก่บูรพาจารย์ ซึ่งท่านบอกว่าไม่มีความงามอันใดเท่าความงามในหมู่สงฆ์ที่ท่านเห็นในวันนี้อีกแล้ว โดยท่านบอกว่าพระสงฆ์นั้นงามในเบื้องต้นคืองามด้วยองค์ศีล งามในท่ามกลางคือมีสมาธิ และงามในที่สุดคือมากด้วยปัญญา เป็นความงามที่ต้องตามพุทธประสงค์คือสุปฏิปันโน

การที่ทุกท่านพร้อมใจกันมาถือว่าเป็นความสามัคคีของสงฆ์ ซึ่งความสามัคคีนี้เป็นความต้องการไม่ใช่เฉพาะในหมู่สงฆ์เท่านั้น หากแต่ต้องการในระดับบ้านเมืองด้วย หากมีความสามัคคีกันแล้วความสงบสุขก็บังเกิด

ท่านให้ข้อคิดเรื่องทำงานบุญอุทิศกุศลแก่บูรพาจารย์ว่าเพื่อเตือนใจ เตือนสติ ให้รำลึกถึงความเป็นต้นแบบแห่งพระธรรมทูตของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทั้งสามท่าน เพราะแต่ละท่านวางแนวทางการทำชีวิตให้เป็นอมตะไว้ให้แก่พวกเราคณะสงฆ์ที่อยู่ในอินเดียได้ยึดถือและนำไปปฏิบัติ

วัดไทยพุทธคยาจึงเป็นวัดต้นแบบต่างๆ ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและด้านพระธรรมทูต ที่คณะสงฆ์และชาวไทยต้องช่วยกันดูแลรักษา เพื่อให้เป็นที่ความภาคภูมิใจของไทยและชาวพุทธตลอดไป