posttoday

วิถีธรรมนำชีวิตจากบทธรรม ‘ธาตุวิภังค์’ (ตอน ๖)

24 สิงหาคม 2555

ธรรมทั้งปวงจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ในความหมายแห่งความจริงของการเดินทางแห่งชีวิต

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ธรรมทั้งปวงจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ในความหมายแห่งความจริงของการเดินทางแห่งชีวิต จึงต้องพกปัญญาติดตัวไปด้วยทุกที่ เพื่อเข้าให้ถึงสัจจะ เพื่อกระทำซึ่งจาคะ และให้บรรลุถึงคำว่าอุปสมะที่ตั้งไว้ในจิต เป็นอธิษฐานธรรมที่ต้องตั้งไว้ในจิต แต่สังเกตไหมว่าสำคัญที่สุด คือ ต้องไม่ประมาทปัญญา พระพุทธเจ้าจึงยกเรื่องดังกล่าวขึ้นเป็นธงตั้งการเรียนรู้ อันปรากฏในพระสูตรเรียกว่า ธาตุวิภังคสูตร วิภังค์ แปลว่า จำแนกแจกแจง การจำแนกแจกแจงไปตามลักษณะธาตุ ธาตุคือสภาพปรากฏตั้งอยู่ ให้เห็นความจริงของการตั้งอยู่และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพนั้นๆ เรียกว่าธาตุ ทุกอย่างในโลกนี้เป็นธาตุทั้งนั้น อารมณ์ก็เป็นธาตุ รูปนี้กายนี้ก็เป็นธาตุ ดินน้ำลมไฟก็เป็นธาตุ แสงแดดภูเขาก็เป็นธาตุ ทุกอณูเป็นธาตุหมด ปรากฏตั้งอยู่แห่งธาตุนี้ในความจริงของธาตุนี้เรียกว่าธรรมะ จึงเรียกธาตุทั้งปวงว่า ธรรมธาตุ ธรรมธาตุดังกล่าวที่ยังปรุงแต่งอยู่ เรียกว่า สังขตธาตุ แต่ธาตุที่มันยุติความเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่เคลื่อนไหว ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไปแล้ว ตามสภาพธรรมของในธรรมชาตินี้เรียกว่า อสังขตธาตุ คือ ธาตุแห่งโลกุตรธรรม เป็นธาตุที่บริสุทธิ์ ที่อยู่เหนือภาวะธรรมความปรุงแต่ง อยู่เหนือธรรมชาติแล้ว ก็คือ ธาตุจิตที่บริสุทธิ์ของพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย

เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่เข้าถึงตรงจุดนั้นได้ มันก็อยู่เหนือนิรามิสสุข สามิสสุข มันอยู่เหนือสุขทั้ง ๓ ความอยู่เหนือความสุข คือ ความสุขที่แท้จริง ก็คือ การอยู่เหนือความทุกข์ คือ การพบกับความสุขที่แท้จริง เพราะในความสุขกับความทุกข์เป็นของคู่กัน เป็นอันเดียวกันแต่อยู่คนละหน้ากัน เมื่อเราหยิบสุขก็ต้องพบทุกข์ เมื่อหยิบทุกข์ก็มีสุขเจือปนอยู่ มันคละเคล้าอยู่อย่างนี้ เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่เราอยู่เหนือสุขกับทุกข์นั่นแหละ คือ สุขที่แท้จริง สุขนั้นเพราะว่ามันอยู่เหนือสุขและอยู่เหนือทุกข์ แต่เมื่อไหร่อยู่ด้วยสุขทุกข์ มันก็ย่อมมีสภาพธรรม ๒ อย่างอยู่ ต้องอยู่เหนือมัน เมื่ออยู่เหนือก็พบสุข สุขนั้นคืออำนาจธรรมที่ไม่ปรุงไม่เปลี่ยนไม่แปรผันอีกต่อไป จึงไม่มีแรงบีบเค้นบีบคั้นให้เรามีความทุกข์ เหมือนเราไม่หวังอะไร เมื่อเราไม่หวังอะไรสักอย่าง เราก็ไม่ผิดหวัง

แสดงว่าการเรียนรู้ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นการเรียนรู้ที่ออกมาจากความเกี่ยวเนื่องยึดติดในตาข่ายแห่งอารมณ์ ตาข่ายแห่งอารมณ์ที่สร้างขึ้นเป็นตาข่ายที่ให้จิตโคจรติดอยู่ในตาข่ายนี้เรียกว่า มโนปวิจาร ๑๘ ก็แสดงธาตุ ๑๘ ที่เกิดขึ้น เป็นผลจากอายตนะสัมปยุตกันกับธรรม จึงให้เกิดผัสสะหรือสัมผัสเกิดขึ้น เมื่อผัสสะเกิดขึ้นยกสู่อำนาจใหม่เรียกว่าเวทนา สร้างธาตุ ๑๘ เกิดขึ้น ธาตุ ๑๘ นั้น คือ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา คูณ ๖ ทางอายตนะเป็นธาตุ ๑๘ สังเกตไหมเราเรียนธาตุ ๑๘ เราเรียนธาตุ ๑๒ คือ อายตนะภายในภายนอก รูปกับตา จักขุประสาทกับรูปารมณ์ก็เป็นธาตุ โสตะกับสัทธารมณ์ก็เป็นธาตุ รวมแล้วก็เป็นธาตุ ๑๒ เป็นธาตุ ๖ คือ สภาพประกอบเป็นรูปนามเกิดขึ้นย้อนกลับมา ในรูปนามดังกล่าวนั้น หรือบุคคล สัตว์บุคคลเราเขาที่สมมติขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่มีความจริง แต่ในคำว่าไม่มีนั้น ก็มีปรากฏเรื่องของธาตุที่เป็นความจริง แต่ในธาตุนั้น ก็ไม่มีความจริงที่พึงจะยึดถือได้ แต่เป็นความจริงที่มันมีปรากฏเป็นเช่นนั้น แต่ในบุคคลนี้ไม่มีเลยฉะนั้นระหว่างบุคคลกับธาตุ ควรคบใคร บุคคลไม่มีเป็นสมมติ แต่ธาตุมันมี ไม่มีหมอรุ่งทิพย์ ไม่มีเอกองค์ ไม่มีจันทิมา ไม่มีอภิญญา ไม่มีเจ้าเดือนฉาย แต่มีธาตุตั้งอยู่ตรงนี้ต่างหาก แม้ในธาตุตั้งอยู่นี้ก็เห็นว่าไม่ใช่ความจริงที่เป็นเช่นนี้ เพราะธาตุเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสมมติขณะหนึ่งๆ เป็นสภาวะสัจจะ แต่เมื่อกี้เป็นสมมติสัจจะ สมมติบุคคลเหล่านั้น คำว่าสมมติก็ไม่ใช่ของจริง แต่ในความจริงเป็นสภาวะสัจจะเป็น

อ่านต่อฉบับวันจันทร์