posttoday

วิถีธรรมนำชีวิตจากบทธรรม‘ธาตุวิภังค์’ (ตอน ๕)

23 สิงหาคม 2555

ความไม่ประมาทตรงนี้ คือ ไม่ประมาทปัญญา คือ อธิษฐานที่ควรตั้งขึ้นในจิต ไม่ประมาทปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจในความสิ้นทุกข์

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ความไม่ประมาทตรงนี้ คือ ไม่ประมาทปัญญา คือ อธิษฐานที่ควรตั้งขึ้นในจิต ไม่ประมาทปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจในความสิ้นทุกข์ ประโยชน์ความรู้ความเข้าใจที่ทำให้เกิดความสิ้นทุกข์ คือไม่ประมาทปัญญา รักษาซึ่งสัจจะ เพิ่มพูนในจาคะ และศึกษาซึ่งสันติ อุปสมะ คือ ธรรม ๔ ประการ ๔ องค์ ที่เรียกว่า อธิษฐานธรรม ๔ ที่ควรพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจ แค่ข้อ ๑ คือ ไม่ประมาทในปัญญา คือ ต้องทำความรู้ความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา ความรู้ความเข้าใจนั้นให้รู้แจ้งจริงในสภาพธรรมนั้นๆ ความรู้แจ้งจริงเป็นไปเพื่อนำออกมาจากความทุกข์ การออกมาจากความทุกข์ได้ก็ต้องตั้งธง คือ สัจจะ ความจริงที่ควรกระทำ ธงนี้เป็นอุดมคติที่ต้องมี สัจจะเป็นความจริงที่ควรกระทำถือประพฤติถือปฏิบัติและการปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ นำไปสู่คำว่าการสละละวางอุปธิ คือ การเข้าไปยึดถือยึดมั่น จึงตั้งขึ้นก่อเกิดขึ้นในจิตของเรา เช่น อุปธิในขันธ์ การยึดถือยึดมั่นในความเป็นตัวตน ในกาม เบญจกาม ในอภิสังขาร ในบุญบาป

ทั้งหลายในกิเลส อุปธิ ก็คือ การเข้าไปยึดถือในสภาพของสิ่งปรุงแต่งเหล่านี้ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ ดังนั้น จาคะ ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เป็นกระบวนการวิปัสสนาญาณ และสุดท้ายศึกษาซึ่งสันติ คือ ความสงบ ความสงบที่รู้แจ้งจริงดังกล่าวจึงเป็นความสุขที่แท้จริง สุขใดเหนือความสงบไม่มี อุปสมะที่ต้องศึกษาสันติหรือความสงบ ก็คือ การรู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลายแล้วรู้จักละวาง จนจิตนั้นเกิดความบริสุทธิ์ เป็นจิตที่กลับมาสู่ความประภัสสร ความสว่างไสว เกิดธาตุรู้ที่บริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง ยังให้เกิดความสงบสุขที่แท้จริง เราจะเห็นว่าในอธิษฐานคือความตั้งขึ้นในจิตทั้ง ๔ อย่างนั้น น่าจะเป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิตที่ดี ถ้ารู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นกุศโลบายที่ดี ที่จะนำสู่วิถีการพัฒนาชีวิต

ความไม่ประมาทปัญญา คือ ทำความรู้ความเห็นความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับสภาพความจริงนั้นๆ เช่น พุทธศาสนายิงตรงไปที่คำว่า อัตตาตัวตน บุคคลเราเขาที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ความเห็นนี้ยึดถือความเป็นตัวตนเรียกว่า สักกายทิฏฐิ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ทุกข์เมื่อนั้น ทุกข์เพราะมีความเป็นตัวตนเกิดขึ้น สิ้นทุกข์เพราะสิ้นความเป็นตัวตนในจิตในความยึดถือนั้น เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่ค่านิยมของจิตมันสิ้นไปซึ่งความยึดมั่นถือมั่นความเป็นตัวตน พื้นที่รับทุกข์ก็ไม่มี ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีอัตตา อัตตาเกิดที่ไหน เกิดที่จิต คติจิตเกิดขึ้น ถือความเป็นของเราเป็นเราเป็นตัวตนของเรา เพราะว่าสภาพแห่งความไม่รู้ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเศร้าหมองของจิต คือ กิเลสที่จรเข้ามาเรียกว่า อุปกิเลส จรเข้ามาสู่จิตทำให้จิตนั้นเศร้าหมอง ความเศร้าหมองดังกล่าวทำให้จิตนั้นมืดมน และไม่สามารถรู้แจ้งเหมือนคนที่มีจักษุมืดมัวตาบอด ก็ย่อมไม่เห็นในความจริงนั้นๆ อันเป็นไปตามความเป็นธรรมดา

เมื่อไม่เห็นดังกล่าวก็ไม่รู้ เมื่อไม่เห็นจริงก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็นำไปสู่การดำเนินวิถีที่ผิดๆ จึงเกิดการกระทำที่ผิดๆ ผลแห่งความผิดนั้น ก็ย่อมให้โทษ เหมือนต้นไม้พิษ ผลเป็นพิษ ผลนั้นก็ต้องให้ผลแห่งความเป็นพิษ การประพฤติที่ผิดก็ต้องให้ผลที่ผิด ผลที่ผิดก็เป็นเรื่องของตอบสนองผู้กระทำผิดนั้นๆ สิ่งที่ดำเนินไปเพราะเราขาดปัญญา ข้อที่ ๑ จึงเป็นความหมายธรรมว่า สุขทุกข์ทั้งหลาย จริงๆ แล้วอยู่ที่ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นสามิสสุข หรือนิรามิสสุข สุขภายนอกสุขภายใน จะสุขด้วยความรู้สึกทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้น จะสุขเพราะอิงอาศัยทั้งหลาย ถ้าเรามีปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจ ก็ย่อมนำมาสู่ประโยชน์อันไม่เป็นโทษ ประโยชน์ใดที่ไม่เป็นโทษ สุขใดที่ไม่เจือปนแห่งความทุกข์ ดีใดที่ไม่ให้โทษ ความดีนั้นความสุขนั้นประโยชน์นั้นเป็นของแท้ กล่าวรวมว่าดีใดที่ไม่เป็นโทษ ดีนั้นคือดีแท้ หมายความว่า ดีนี้เกิดขึ้นด้วยความรู้ ความเข้าใจเรียกว่ามีปัญญา ฉะนั้นปัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว สุขทั้งปวงมันก็เกิดขึ้นได้โดยธรรม

พระพุทธศาสนาจึงเน้นการพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจ แต่แจกแจงเรียนรู้สิ่งที่สัมพันธ์กันรอบด้าน ชี้แสดงให้เห็นในแต่ละเรื่องแต่ละราว แต่รวมความหมายมาที่เดียวกัน คือ เรื่องของจิตดวงเดียว เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่มีการพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจได้ และลบล้างถอดถอนความไม่รู้ความไม่เข้าใจออกไปได้ ความรู้ความเข้าใจนั้นเกิดขึ้น เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจนั้นสิ้นไปได้ ความบริสุทธิ์แห่งธาตุรู้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ความบริสุทธิ์แห่งธาตุรู้นั้นก็จะให้คติแห่งความจริงที่เป็นสัจจะตามที่กล่าว สัจจะความจริง คือ ความปรากฏมีอยู่ในสภาพธรรมนั้นๆ ในสภาวธรรมนั้นๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ ความปรากฏมีอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ หรือความปรากฏสภาวธรรมนั้นๆ ในธรรมชาตินั้นๆ ก็แล้วแต่เราจะพูด

แต่ในความหมายความจริงคือว่า เรารู้เราเข้าใจในสิ่งที่มีเป็นภาวะปกติในสภาพธรรมนั้นๆ เช่น ธรรมชาติยกให้เป็นสภาพธรรมอันหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏมีอยู่จริงในการเคลื่อนไหวในกระบวนการของธรรมชาติ คือ อาการลักษณะของพระไตรลักษณ์ คือ ความเกิดและความดับ ในความเกิดความดับ บอกว่านี่คือ ความไม่เที่ยง และในความเกิดความดับให้เห็นความแปรปรวน เปลี่ยนแปลง จึงเรียกว่ามันเคลื่อนไหวเปลี่ยนรูปอยู่ตลอด จึงไม่มีรูปแท้ตัวแท้ สิ่งที่เป็นตัวแท้คือเหตุและปัจจัย ส่วนรูปนั้นเป็นสภาพธรรมที่เคลื่อนตามเหตุและปัจจัย แสดงว่าสภาพแห่งตัวตนบุคคลไม่มี เพราะมันขึ้นกับเหตุและปัจจัย และมันสิ้นไปก็ตามเหตุตามปัจจัยนั้น

อ่านต่อฉบับวันพรุ่งนี้