posttoday

วิถีธรรมนำชีวิตจากบทธรรม ‘ธาตุวิภังค์’(ตอน ๒)

20 สิงหาคม 2555

ฉะนั้นแสดงว่า สุขทุกข์จึงไม่ได้อยู่ที่อำนาจภายนอกวัตถุเหล่านั้น สิ่งที่จะให้คุณค่าความสุขแท้ภายใน คือ เรื่องของจิตวิญญาณ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ฉะนั้นแสดงว่า สุขทุกข์จึงไม่ได้อยู่ที่อำนาจภายนอกวัตถุเหล่านั้น สิ่งที่จะให้คุณค่าความสุขแท้ภายใน คือ เรื่องของจิตวิญญาณ หรือจิตใจ จิตใจเป็นอำนาจธรรม เป็นธาตุ ธาตุแปลว่า ดำรงตั้งอยู่ ความดำรง ความตั้งอยู่ ความเกิดขึ้นปรากฏมี และที่สุดก็ต้องสลายไปตามสภาพแห่งเหตุปัจจัย เรียกว่า ธาตุ เช่น ธรรมธาตุ สภาพธรรมทั้งปวงก็เป็นธาตุ สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลง แปรผัน และสูญสลายไป ปรากฏเกิดตั้งอยู่อย่างนี้ ดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ทรุดโทรมเปลี่ยนแปลง และสูญสลายไป เรียกว่า ธาตุ สภาพธาตุไม่คงทน ไม่ถาวร เป็นสภาพธรรมอันหนึ่งที่แสดงความจริงของลักษณะว่า ก่อเกิด ตั้งอยู่ และสลายไป ตามเงื่อนไข ตามเหตุตามปัจจัย เงื่อนไขนั้นก็คือเหตุและปัจจัย เหตุปัจจัยนั้นมีอยู่ ธาตุนั้นก็ดำรงอยู่ เหตุปัจจัยนั้นแปร ธาตุก็แปร เหตุปัจจัยนั้นสิ้น ธาตุก็สิ้น แต่สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นในธรรมธาตุก็คือ อริยสัจ คือความจริง เป็นความจริงขั้นสูงสุดเป็นอมตะธรรม ความจริงคือสภาพธรรมที่ปรากฏเห็นในธรรมธาตุนั้นว่าเป็นอย่างนี้ ไม่เปลี่ยนไปจากนี้ และไม่แปรเป็นอย่างอื่น ที่เรียกสภาพธรรมนั้นในอีกลักษณะหนึ่งว่า พระไตรลักษณญาณ

ฉะนั้นแสดงว่าในความหมายแห่งความจริงที่แท้จริงที่เราควรเรียนรู้ ให้เข้าถึงความจริงอันเป็นคุณไม่เป็นโทษ ก็คือการเข้าถึงความจริงดังกล่าวที่เรียกว่าอริยสัจ รู้เห็นความจริงตามพระไตรลักษณญาณ คือกฎของความไม่เที่ยง และประกาศความไม่ใช่ตัวตน

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นความจริงอันหนึ่งว่า แท้จริงความสุขที่แท้นั้น จึงไม่ได้อยู่ที่สภาพธรรมทั้งหมดทั้งหลาย สุขนั้นเกิดขึ้นอยู่ที่ความเข้าใจธรรมะต่างหาก ความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ และเรายอมรับว่าเป็นอย่างนั้น มันเป็นไปตามสภาพที่เป็นอย่างนั้น ตามเหตุปัจจัยอย่างนั้น ทำให้เราไม่เคลื่อนไหว เรียกว่า หลงกระแสธรรม หรือเป็นไปตามวิถีที่ไม่ถูกต้อง ความรู้ความเข้าใจดังกล่าว จึงเป็นสภาพอำนาจธรรมที่กลับมาให้ความสุข สุขที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจจากจิตใจ เรียกว่า นิรามิสสุข สุขที่เกิดขึ้นโดยสภาพของความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากจิตวิญญาณของเรา ความรู้ความเข้าใจในจิตวิญญาณจะเป็นสุขที่แท้เป็นอมตะ ต้องรู้เข้าใจตรงตามธรรมที่กล่าวมาทั้งหมด คือธรรมนั้นจะต้องเข้าใจความจริงที่เป็นไปตามธรรมชาติ

ถ้าเราไม่เข้าใจความจริง หรือเราเข้าใจแล้วแต่ไม่ถูกต้องตามธรรม มันก็อาจจะให้ความสุขในชั่วขณะหนึ่ง แต่ก็ต้องผันแปรไปอีกเช่นเดียวกัน เพราะอะไร เพราะเราอยู่กับของที่ไม่จริง เช่น อารมณ์ หรือสภาพภาวะความปรุงแต่งต่างๆ แม้เกิดขึ้นภายในจิตใจ ดูเหมือนให้ความสุข สุขที่เกิดจากอารมณ์ที่มันถูกใจขึ้นมา สิ่งนี้ดูเหมือนว่ามันจะให้ความชอบใจเราถูกใจเรา แต่ถ้ามันไม่ตรงตามตัวธรรมะตามที่กล่าว ก็คือหลักความจริงที่ปรากฏมีอยู่ในสภาพธรรมนั้นๆ เราก็จะเป็นทุกข์ได้เช่นเดียวกัน ดุจเหมือนเช่นคนเจริญสมาธิภาวนาได้รับสุขจากอำนาจของสมาธิ สุขจากฌาน แต่สุขนั้นก็ชั่วขณะหนึ่งของโลกียะ เดี๋ยวก็สูญสิ้นไป มีคนจำนวนมากนักบวชนักปฏิบัติจำนวนมาก เมื่อไม่ได้ดังใจที่เคยปฏิบัติ ก็ให้หดหู่ใจ ให้เกิดปฏิฆะขุ่นเคืองคับแค้นใจ และให้ดูเหมือนว่าตนเองถูกบีบเค้นบีบคั้นจากอำนาจแห่งความไม่สมปรารถนานั้น และออกจะหนักกว่าวัตถุภายนอกด้วย

วัตถุภายนอกที่เราอิงพึ่งพา เรายังเห็นมันได้ว่าถ้ามันสูญสิ้นเราก็ต้องแสวงหา เมื่อได้มาเราก็อาจจะถูกใจชอบใจ คือเราทดแทนชดเชยกันได้ เช่นเราสูญสิ้นไปในวัตถุใดวัตถุหนึ่ง หรือเสื้อตัวนี้เราชอบใจ มันอาจจะฉีกขาดหรือเก่าไป เราก็หาใหม่ได้ เรียกชดเชยกันได้ ในความชดเชยดังกล่าวก็ย่อมให้เกิดความแสวงหา ความสุขภายนอกจึงได้รับการแสวงหาและสมความรู้สึกมากขึ้น คือถ้ามันสูญสิ้นไปก็หาใหม่ เราจึงเห็นพวกแสวงหาความสุขภายนอกกันมาก

ในวิถีของความสุขภายนอก จึงต้องมีคำว่า ศีลธรรม กฎหมาย เพราะมิฉะนั้นแล้ว คนก็แสวงหากันจนขาดกรอบไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของความถูกควรและประพฤติผิดไปจากสิ่งที่ควรประพฤติ จึงต้องมีกฎหมายมีกฎศีลธรรมขึ้นมากำกับ ให้การแสวงหาความสุขภายนอก ที่อ้างอิงวัตถุบุคคลทั้งหลาย ต้องอยู่ในความถูกต้อง ต้องอยู่ในคำว่าศีลธรรมหรือกฎหมาย แต่ไม่มีกฎหมายกฎศีลธรรมเข้ามาควบคุม ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามฉีกหรือทำลายกรอบศีลธรรมกฎหมาย ก็เพื่อหวังซึ่งความแสวงหาที่ได้ดังใจ ความถูกใจชอบใจที่เรียกว่า ความสุขตามสมมติของตน แต่แท้จริงแล้วมันเป็นค่าความหลอกลวงแห่งความเป็นสมมติของความสุข จริงๆ เหมือนคำว่าความถูกใจต่างหาก สุขดังกล่าวนั้น จึงไม่ใช่สุขแท้ ไม่ใช่ความหมายสุขในพระพุทธศาสนา มันเป็นอาการความถูกใจที่ตอบสนองความกำหนัดยินดี m

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้