posttoday

ทำดีเยอะๆผ่อนหนักเป็นเบา

19 สิงหาคม 2555

เคยได้ยินพุทธภาษิตว่า อสาธํ สาธุนา ชิเน ไหมครับ อยากชวนท่องจำให้ขึ้นใจ และทำความเข้าใจให้ถูกต้องแล้วจะได้ไม่เขว เกิดความสงสัยว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสเช่นนี้จริงหรือ

เคยได้ยินพุทธภาษิตว่า อสาธํ สาธุนา ชิเน ไหมครับ อยากชวนท่องจำให้ขึ้นใจ และทำความเข้าใจให้ถูกต้องแล้วจะได้ไม่เขว เกิดความสงสัยว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสเช่นนี้จริงหรือ

พุทธภาษิตนี้ แปลตามพยัญชนะว่า พึงชนะความชั่ว ด้วยความดี ถ้าแปลโดยอรรถให้ความกระชับขึ้นก็หลากลีลาของผู้แปล

เช่นอาจแปลว่า ไม่มีวันที่ความชั่วจะชนะความดี ความชั่วย่อมแพ้ความดีวันยังค่ำ หรือไม่มีอะไรที่จะชนะความชั่วได้นอกจากความดี หรืออาจจะไกลพยัญชนะไปหน่อย เช่น ธรรมย่อมชนะอธรรม เป็นต้น

บางคนฟังแล้วอาจยังมองไม่เห็นว่าจะชนะได้อย่างไร ในเมื่อทุกวันนี้ก็ทำความดีแล้วความดีเล่า แต่ทำไมยังถูกความชั่วร้ายบรรดามีมาบีฑาอีก เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย

ถ้าเรามองอย่างนั้นเราก็จะไม่เข้าใจถึงพุทธภาษิตนี้ ฉะนั้นขอให้มองตามเป็นจริงว่า ความชั่วทั้งหลายไม่อาจชนะได้ด้วยความชั่วแต่สามารถชนะได้ด้วยความดีเท่านั้น

คิดง่ายๆ ถ้าชั่วอยู่แล้ว ทำชั่วเข้าไปอีก ก็ยิ่งชั่วเข้าไปใหญ่ จาก ปาปกะชั่วธรรมดา ก็เป็นอติปาปกะชั่วหนักขึ้น เป็นดับเบิลชั่ว ชั่วแล้วชั่วอีก

ทีนี้เมื่อรู้ว่า “ชั่ว” แล้วต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ไปซ้ำรอยเดิมหรือเพิ่มรอยชั่วใหม่ ดังนั้น สิ่งที่จะแก้ไข “ความชั่ว” ได้ก็มีแต่ “ความดี” อย่างเดียว

และความดีที่เราทำบ่อยๆ นั้นก็จะไป “เบียดเบียน” อกุศลความชั่ว ที่เราเคยทำ ให้ “อ่อนกำลัง” ลง ซึ่งไม่ใช่ไปล้างกรรม หรือไปตัดกรรมอย่างที่มีการพูดกัน เพราะกรรมตัดไม่ได้ วิบากกรรมก็ตัดไม่ได้

แต่มีวิธีหนึ่งที่เราสามารถจะทำให้ “อกุศลกรรม” ที่มันกำลังจะ “สนองผล” (ให้ผล) ต่อเรานั้นแน่นอน ก็คือ การทำความดี หรือ กุศลกรรม เพิ่มขึ้น

คิดดูว่าพระเจ้าอชาตศัตรู กระทำอนันตริยกรรมข้อ “ปิตุฆาต” ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดา เพื่อขึ้นเป็นพระราชาแทน ซึ่งถ้าพระองค์สวรรคตก็ต้องตก “นรกอเวจี” แน่นอน

แต่ตอนหลังทรงรู้ว่าทำผิดมหันต์ก็ยากแก่การแก้ไขแล้ว จนอยู่มาวันหนึ่งหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานบรรดาพระสงฆ์ ซึ่งมีพระมหากัสสปเถระมีความห่วงใยพระธรรมวินัยว่าต่อไปอนาคตของพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร จึงได้ชักชวนพระสงฆ์ทำสังคายนา

โดยเลือกเมืองราชคฤห์เป็นสถานที่ทำ พร้อมส่งพระสงฆ์ไปติดต่อกับพระเจ้าอชาตศัตรูทูลขอให้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ การสังคายนาครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงดีพระทัยมาก พร้อมรับอุปถัมภ์บำรุงทุกอย่างตั้งแต่การบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ไปจนถึงถวายความสะดวกทั้งหมดจนการสังคายนาสำเร็จลุล่วงด้วยดี

และด้วยอานิสงส์แห่งกุศลกรรมนี้ก็ได้ไปเบียดเบียนอนันตริยกรรมที่เคยทำกับพระบิดาจากหนักให้เป็นเบา กล่าวคือเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูสิ้นพระชนม์แทนที่จะตกนรกอเวจีก็ไปตกนรกขุมน้อยลงที่ “โลหกุมภีอุสสทนรก” จากต้องทุกข์หนักก็ทุกข์น้อยลง

นี่คือความชั่ว ซึ่งต้องแก้ไขด้วยความดีเท่านั้น ซึ่งถ้าอยากชนะความชั่วให้มาก ก็จงทำความดีบ่อยๆ ทำเป็นนิสัย ทำไปเรื่อยๆ แล้วระยะหนึ่งจะรู้ว่าใจของเราไม่ปรารถนาจะทำความชั่วใดๆ อีกต่อไป นั่นแหละความดีได้ชนะความชั่วในใจเราไปแล้ว

สังคมไทยทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ามีการให้ร้ายกัน ซึ่งเมื่อฝ่ายหนึ่งให้ร้ายมา อีกฝ่ายก็จะให้ร้ายตอบไม่สิ้นสุด หรือใครมาว่าร้ายก็ว่าร้ายตอบ เช่นนี้เหมือนราดน้ำมันใส่กองเพลิงเท่านั้น

จึงอยากแนะนำวิธีที่โบราณสอน ลองเอาไปปฏิบัติดูคือ...ไม่ต้องให้ร้ายตอบ ไม่ต้องด่าตอบ หรือไปทำอะไรทั้งสิ้น แต่ตื่นเช้ามาให้ไปใส่บาตร ถวายสังฆทาน ทำจิตให้ผ่องใส เสร็จแล้วกรวดน้ำอุทิศให้คนที่ด่าเราให้เขาได้รับส่วนบุญส่วนกุศลด้วย เท่านี้พอ

แล้วอำนาจของกุศลกรรมนี้มันจะไปเบียดเบียนเอง ผลสุดท้ายคนนั้นจะแพ้ไปเอง คือแพ้ภัยตัวเอง...แพ้ด้วยการที่เขาเคยทำอะไรกับเรา เขาก็จะได้อย่างนั้น และประสบกับความวิบัติในที่สุด