posttoday

ธรรมปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้งในธรรม ณ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา (ตอน ๕)

15 สิงหาคม 2555

อำนาจของความอยาก ความยึด ก็ให้เพิ่มพูน ราคะ โทสะ โมหะ... ราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นอาการธรรมที่เป็นอกุศล เป็นอวิชชา

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

อำนาจของความอยาก ความยึด ก็ให้เพิ่มพูน ราคะ โทสะ โมหะ... ราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นอาการธรรมที่เป็นอกุศล เป็นอวิชชา นำไปสู่ความทุกข์... ทุกข์จึงเกิดขึ้นเพราะเรายึดด้วยความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ให้ส่งต่อ “ราคะ โทสะ โมหะ” อันเป็นรากเหง้าของอำนาจหนึ่งที่เรียกว่า “อวิชชา” ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร... สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ... วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป... นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ... อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ... ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา... เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ยกขึ้นสู่จิต ตัณหาความทะยานอยากย่อมเกิดขึ้น... ความยึดถือทั้งปวง อุปาทานก็ย่อมเกิดขึ้น และภพชาติก็ย่อมเกิดขึ้น เมื่อภพชาติเกิดขึ้น ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส ย่อมเป็นไป และนี่คืออาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัยตามสายธรรมการก่อเกิดทุกข์...

วิถีธรรมทั้งปวงเป็นไปเช่นนี้...เมื่อเราขาดความสำรวม ขาดความเฝ้าระวัง มันก็ให้ความทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นแล้วให้เร่าร้อน นั่งแล้วปวดเมื่อย ไม่ชอบ... อยากนั่งที่มันไม่ปวดเมื่อย อยากได้อะไรที่มันถูกใจ ไม่ชอบสิ่งที่ไม่ถูกใจ การไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่ชอบและไม่ชอบตรงนี้ ก็คือ “อวิชชา” เราขยับตัวครั้งหนึ่งก็อวิชชา เราหนีทุกข์ครั้งหนึ่งก็อวิชชา เรียกว่า “ทุกขทุกขตา” มันสืบทอดความทุกข์ สืบเนื่องจากความทุกข์ หรือทุกข์จากสังขารปรุงแต่ง เป็น “สังขารทุกข์” เป็นทุกข์ที่เกิดจากสังขาร เป็นทุกข์ที่เกิดจากภาวะความปรุงแต่ง มันก็เป็นทุกข์ พอทุกข์ขึ้นมา มันจะสดับตรับฟังไหม?... ไม่อยากฟัง ไม่อยากฟังเพราะอวิชชา ไม่พิจารณาเพราะอวิชชา ไม่ปฏิบัติเพราะอวิชชา... ให้เบื่อหน่ายขึ้นมาไม่อยากทำความดี โคตรอวิชชาเลย... มันไม่อยากทำแม้กระทั่งความดี ฟังธรรมฟรีๆ ไม่ต้องเสียสตางค์ เราก็ไม่อยากทำ ไม่อยากฟัง... คนขวนขวายเดินทางไปยาวไกล หาพระสักรูปหนึ่ง อยากพบ อยากกราบ อยากฟัง... แต่เรา พระมาถึง เราก็เฉยๆ ก็อย่างนั้นๆ มันเป็นอวิชชา เพราะความไม่รู้ทำให้เราปฏิเสธสิ่งที่ดี และเราชอบสิ่งที่ไม่ดี

...สิ่งที่ไม่ดี ก็คือ อารมณ์ทั้งหลายที่เป็นอกุศล

...สิ่งที่ดี ก็คือ อารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกุศล ซึ่งเกิดจากการมีสติกำหนดอยู่กับความรู้ชอบ

เราทิ้งสิ่งที่ควรรู้และควรทำ... เราปล่อยให้จิตมันเถลไถลไปตามสิ่งที่ไม่ควรรู้ ไม่ควรทำ... โลกจึงฉิบหาย คนจึงหายนะ สัตว์ทั้งหลายจึงมีแต่ความทุกข์เพราะวิปลาส... ความวิปลาสทำให้เกิดความวิบัติ ไม่ควรถึงสมบัติอันมีความเป็นไปจนเกิดประโยชน์สุข แม้เราจะเรียกร้อง แม้เราจะเรียกหา แม้เราจะพยายามอ้อนวอนภาวนา ว่า ขอให้เรามีความสุขเถิด ให้มีอายุเถิด มีวรรณะเถิด มีสุขะเถิด มีพละเถิด มีฐานะโอกาสที่ดีๆ เถิด ไม่มีใครเบียดเบียนเถิด มีแต่คนรักเราเถิด มันก็ไม่เป็นผลตามที่เรียกร้อง เพราะธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สำเร็จด้วยคำพูดวิงวอนด้วยความนึกคิด... ให้ไปไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ให้ปล่อยปลาทั้งมหาสมุทร ปล่อยนกทั้งท้องฟ้า ปล่อยเต่าทั้งแม่น้ำ

แม้ให้ปีนป่ายไปบูชาต้นไม้บนภูเขาเมรุมาศที่ยิ่งใหญ่มีอายุเป็นหลายๆ พันปี หรือต่อให้ไปพบกับเทวดาตามภพภูมิทั้งหลาย ผู้เรืองเดชยิ่งยศศักดิ์ ก็ยากจะทำให้สิ้นทุกข์... ที่ไม่สิ้นทุกข์เพราะเราไม่ได้พึ่งตนเอง เราหวังพึ่งมงคลภายนอก... มงคลภายในนั้นไม่พึ่ง... มงคลภายในนั้นก็คือจิตของเราที่ต้องพัฒนาให้มีตัวธรรมะ... ความรู้ที่เป็นตัวธรรมะก็คือเป็นมงคลที่แท้จริง เรียกมงคลในพระศาสนานี้ว่า “สัตถุศาสน์” อันเป็นมงคลภายในที่มีผลต่อการให้ประโยชน์นำไปสู่ความเจริญ...

แต่ในความจริงที่เป็นมงคลภายในหรือสัตถุศาสน์นั้น... จะเกิดขึ้นเข้าใจได้ จะต้องเริ่มต้นที่การฟัง (สุตมยปัญญา) เราต้องฟัง ฟังแล้วรู้จักพิจารณา เพื่อเข้าให้ถึงความจริงหรือเห็นความไม่จริง ไม่ใช่เชื่อ และก็ไม่ใช่ไม่เชื่อ... พิจารณาดูเป็นเหตุเป็นผล เป็นไปเพื่อประโยชน์หรือไม่ โดยธรรม เพื่อเข้าให้ถึงสัจจะที่ตั้งเป็นธงชัยปักไว้กลางจิต เป็นอุดมคติแห่งชีวิตที่ต้องก้าวไปให้ถึง...

เราต้องเข้าถึงความจริงหรือไม่จริง ที่แสดงเป็นตัวธรรมะเป็นปกติอยู่แล้ว... ไม่ว่าเราเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่มีผลต่อสิ่งนั้น ไม่มีผล... เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ไม่สามารถทำให้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตกได้ มันอยู่ที่ความจริงดังกล่าวที่เราต้องรู้ว่า พระอาทิตย์ต้องขึ้นทางทิศตะวันออกเสมอ เป็นปกติ... และพระจันทร์ขึ้นตอนกลางคืนเสมอ เป็นปกติ... ดวงดาวต้องเป็นอย่างนี้ สภาพธรรมชาติต้องเป็นอย่างนี้... นิยามหรือกฎความจริงในอุตุ อากาศธาตุ ในความสืบพันธุ์ ในจิต ในกรรม ในธรรมทั้งหลาย... ต้องเป็นเช่นนี้ นิยามคือกฎความจริงว่าด้วยอุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม หรือธรรมนิยาม

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้