posttoday

ธรรมปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้งในธรรมณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา(ตอน ๑๒)

09 สิงหาคม 2555

เรารู้ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก จนเห็นความจริงของความเกิดดับ..

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เรารู้ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก จนเห็นความจริงของความเกิดดับ.. เรานั่งดูอย่างเดียว นั่งดูลมคู่นี้ นั่งดูธรรมที่เกิดขึ้นในลมคู่นี้ การนั่งดูดังกล่าวคือ “สติปัญญา”

ตัวสติปัญญานี้เป็นตัวรู้ รู้เข้าไปตามลำดับให้ละเอียด ให้ประณีต ก็จะเห็นความจริงว่าในเวทนาที่เกิดขึ้นทางจิตหรือจิตที่เสวยนั้น ปีติสุขนั้นเกิดขึ้น แล้วก็ต้องมีดับไป... ธรรมทั้งปวงในโลกนี้มีความเกิดความดับไปเป็นธรรมดา... จะเกิดแล้วไม่ดับไม่ใช่ฐานะ ถ้าดับแล้วไม่เกิดก็ไม่ใช่ฐานะ เพราะโลกนั้นสืบเนื่องความเกิดความดับเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องเห็นความเกิดความดับแห่งสภาพปรุงแต่งจิตในเบื้องต้นและสืบเนื่อง ต้องเห็นความดับไป เพราะจิตนั้นแน่วแน่ เพราะจิตนั้นเกิดความรู้มากขึ้น เกิดปัญญามากขึ้น... ไม่เข้าไปปรุง กำหนดรู้อย่างเดียว... ไม่ปรุงเหมือนเห็นหนอ รู้หนอ ไม่เข้าไปปรุงในสิ่งที่เห็นดังกล่าวนั้น... สิ่งนั้นก็จะดับไป เพราะเราไม่ถือในอารมณ์นั้น... จิตสังขารก็เกิดขึ้น แล้วจิตสังขารก็ดับไป ในหมวดแห่งธรรมนี้ หมวดธรรมดังกล่าวนี้เป็น ๔ ขั้นตอนที่เรียกว่า “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” แต่เป็น ๘ ขั้นตอนของอานาปานสติ นับเนื่องจากขั้นที่ ๑ มาในหมวดกายานุปัสสนา ถ้าเราทำ ๒ หมวดนี้ได้อย่างสมบูรณ์ตามที่กล่าวทั้งหมดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถึงตอนนี้ความสังวรระวังในอินทรีย์นั้นแก่กล้ามาก เพราะเราควบคุมจิตได้แล้ว...

การควบคุมจิตได้แล้วนี้ จะมีปัญญาเหนือสมาธิ เป็นปัญญาเหนือจิต สามารถควบคุมจิตได้ ก็คือการควบคุมความคิดความนึกได้นั้นเอง เป็นลักษณะธรรม... เราควบคุมจิตให้ตั้งมั่น มันก็สงบ มันก็ปราศจากความคิดความนึก จิตขณะนั้นมีสภาพธรรมอันใด พึงรู้ขณะนั้นของจิต จะเป็นจิตราคะ จิตโทสะ จิตโมหะ... จิตอราคะ จิตอโทสะ จิตอโมหะ... จิตใหญ่ จิตเล็ก จิตกว้าง... จิตยิ่ง จิตหย่อน... จิตดำ จิตขาว... จิตอาลัย จิตไม่อาลัย ก็แล้วแต่ เรารู้ในสภาพจิตดังกล่าวนั้น รู้ทำไม?? ...รู้ ตัวรู้ตัวนี้ ตัวปัญญาเหนืออำนาจของจิต เหนือตัวจิตแล้ว

เราก็ควบคุมจิตนั้นพัฒนาให้เกิดความปราโมทย์ยินดี ทำจิตให้มีความฉันทะในธรรม มีความเพียร มีความจดจ่อ มีสภาพธรรมของตัวรู้เกิดขึ้น... เมื่อมันเกิดอำนาจของอิทธิบาทเกิดขึ้น พัฒนาจิตให้มีกำลังธรรมเกิดขึ้น จิตก็มีความเคลื่อนไหว มีทิศทางที่เป็นไปเพื่อที่จะเข้าถึงวิถีธรรม... เราก็สามารถควบคุมจิตนั้นให้เกิดความตั้งมั่น... เมื่อมีความปราโมทย์ยินดีแล้ว ก็ทำให้จิตนั้นมีความตั้งมั่น...

คำว่า “จิตตั้งมั่น” ดังกล่าว คือเป็นอุเบกขาแห่งจิต เป็นจิตที่มีความเป็นกลาง มีปัญญาเกิดขึ้นกลางจิต ให้วางจิตนั้นอยู่ระหว่างไม่ข้องรักชัง... หากสามารถควบคุมจิตไว้ได้ในฐานที่ตั้งที่เป็นอุเบกขาอย่างมีสติปัญญากำกับ สามารถเปลื้องอารมณ์ สภาพธรรมทั้งปวงออกจากจิตได้ทุกขณะ เรียกว่า ปัญญาเรานี้เป็นใหญ่เหนือจิตแล้ว... สามารถพัฒนาจิตนั้นให้เกิดความออก ให้เกิดความเห็นชอบ ดำริชอบ และละความปรุงแต่งทั้งปวงได้ ที่เรียกว่า สังขารธรรม... การละสภาพธรรมทั้งปวงได้ทำให้จิตนั้นเกิดความบริสุทธิ์ในธาตุแห่งรู้ ที่เรียกว่า “ญาณทัสสนวิสุทธิ”

การพัฒนาตรงนี้จะมีญาณรู้เกิดขึ้น เป็นญาณเกิดขึ้นจากการที่ปลีกหลีกออกมาจากสังขารความปรุงแต่ง ละเพิกสังขารดังกล่าวได้ จึงจะสามารถเห็นอริยสัจความจริงที่เกิดขึ้นได้... การเห็นอริยสัจนั้น เป็นการเห็นความสืบเนื่องไปตามขั้นตอนดังที่กล่าวมา สู่การเห็นสภาพธรรมอันเป็นไปว่า นี่คือความไม่เที่ยง นี่คือความทุกข์ นี่คือความเป็นอนัตตา... การเห็นความจริงในความเป็นไปดังกล่าวนั้น เพราะเราสอดส่องความจริงที่ปรากฏเกิดขึ้นในจิต... การเห็นเข้าถึงความจริงดังกล่าวได้เป็นยอดแห่งปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นในขั้นนี้ มันเข้าสู่วิถี พ้นจาก “จิตตานุปัสสนา” อีก ๔ ขั้น... เข้าสู่ “ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ผ่าน ๑๒ ขั้นของอานาปานสติ เข้าสู่ขั้นที่ ๑๓ ของ “ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน” และวิ่งสู่วิถีธรรมขั้นสูงสุด เห็นความจริงความเป็นไปอันปรากฏเกิดขึ้นตามธรรมชาติว่า “สิ่งนี้ไม่เที่ยง สิ่งนี้เป็นความทุกข์ สิ่งนี้เป็นอนัตตา” เพราะความเกิดความดับสังขารปรุงแต่งทั้งปวง เราเห็นมาหมดแล้ว จิตจึงเข้าถึงความจริงดังกล่าวที่เห็นธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้น ณ ขณะนั้นของจิตจนแจ่มแจ้งดังกล่าว

เมื่อเห็นความจริงดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้ว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายเป็นอย่างนี้” จึงให้เกิดคำว่า “นิพพิทา” เมื่อเห็นโทษ เห็นภัย ก็ให้เกิดคำว่า “นิพพิทา” เกิดขึ้น... เมื่อนิพพิทาเกิดขึ้น จึงให้รู้จักคิดที่จะปลีกหลีกหนีออกมา คิดพิจารณาหาหนทางที่จะหลีกออกมา และในที่สุดสามารถที่จะหลีกหนีเพิกละสังขารดังกล่าวทิ้งได้ จนเกิดความบริสุทธิ์แห่งความรู้ที่เห็นความจริงในความเป็นอริยสัจได้ ซึ่งได้แก่ การเห็นสัจจะแห่งความเกิดของความทุกข์และความดับของความทุกข์... ทุกข์ที่เกิดขึ้น ทุกข์ที่ดับไป เกิดจากรูปนามขันธ์ ๕ ดังกล่าวที่ยึดมั่นยึดถือ จึงละวางคลายออกจากความกำหนัดยินดีที่ยึดถือในรูปนี้ทั้งปวงได้ เป็นวิราคะ เป็นนิโรธะ เป็นปฏินิสสัคคะ และเป็นปฏิสังคะ คือการสลัดละจากความยึดถือธรรมทั้งปวงได้

นี่เป็นธัมมานุปัสสนาอีก ๔ ขั้น รวมแล้วเป็น ๑๖ ขั้นของอานาปานสติ เป็น ๔ หมวดแห่งธรรม เป็นทางสายกลาง... เส้นทางนี้เรียกว่า “สติปัฏฐาน ๔” วิถีธรรมนี้เรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” อันเป็นไปตามลำดับแห่ง ๙ ขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ซึ่งลำดับธรรมไปตามญาณทั้ง ๑๖ ญาณ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งรู้จริงในธรรมทั้งปวงที่ปรากฏเกิดขึ้นและดับไป จนถึงที่สุดแห่งปฏิเวกขณญาณ... วิถีธรรมดังกล่าวนี้สืบเนื่องเป็นที่สุดนั้น ทำให้การควบคุมจิตสู่การพัฒนาจิต จนได้ผลแห่งการพัฒนาสู่ความปริสุทธิแห่งจิต... จิตที่วิสุทธิ์จึงถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ เพราะสลัดละวางคลายออกจากความยึดมั่นยึดถือทั้งปวง จึงทำให้เกิดซึ่งวิมุตติแห่งธรรม เป็นธรรมอันเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น...

(อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้)