posttoday

ธรรมปฏิบัติเพื่อการ รู้แจ้งในธรรม ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (ตอน ๑๐)

07 สิงหาคม 2555

ดังนั้น สังโยชน์ก็ดี นิวรณ์ก็ดี จึงเกิดจากอกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นธรรมชั้นสูงมากๆ ที่อาตมาพยายามจะเล่าให้ฟังพอเข้าใจว่า

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ดังนั้น สังโยชน์ก็ดี นิวรณ์ก็ดี จึงเกิดจากอกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นธรรมชั้นสูงมากๆ ที่อาตมาพยายามจะเล่าให้ฟังพอเข้าใจว่า การประพฤติธรรมตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดนั้น เป็นความประณีต เป็นความละเอียด... เมื่อจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เราต้องมีความพรั่งพร้อมสูง มีความพรั่งพร้อมที่จะเกิดขึ้นจากตัวของผู้ปฏิบัติ... ธรรมะนั้นเป็นสาธารณะ การสอนนั้นก็เป็นปกติที่ชี้แจงแสดงให้เห็นอย่างเป็นไปตามธรรมดา ส่วนจะให้ได้ผลนั้น ผู้นั้นต้องรู้จักการปฏิบัติ

“อักขาตาโร ตะถาคะโต” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ตถาคตเป็นผู้ชี้แนะ เป็นผู้บอกทางเท่านั้น” ไม่ได้เป็นผู้จูงมือใครไปได้ด้วย ธรรมในการประพฤติปฏิบัตินั้น จึงต้องอยู่ที่การปฏิบัติอย่างมีความสำนึก... ความสำนึกของสัตว์ทั้งหลายที่เห็นว่า “การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์”

ทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควบคู่ควบคุมอยู่กับชีวิตของทุกคน... เมื่อเราเห็นความทุกข์ ก็ไม่อยากเป็นทุกข์ เพราะไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ จึงออกจากความทุกข์ด้วยความรู้ทุกข์... เมื่อเรารู้ทุกข์ เราก็ไม่อยากเป็นทุกข์ จึงต้องละทุกข์... แต่ผู้ไม่รู้ทุกข์ ไปยึดถือทุกข์ จึงเป็นทุกข์... เพราะเราไปยึดถือรูปนี้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เราไปชอบอกชอบใจเข้า เราจึงไปถือ... รูปนี้เป็นทุกข์ เมื่อไปถือขึ้นมา ถือทุกข์ ก็ต้องเป็นทุกข์... แม้เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็เช่นเดียวกัน การยึดถือในกามคุณทั้งหลาย จึงให้โทษให้ทุกข์ เพราะเป็นตัวทุกข์

แต่ที่เราถือเพราะเราไม่รู้ทุกข์ จึงถือตัวทุกข์ ความไม่รู้ดังกล่าวเรียกว่า “อวิชชา” อวิชชานั้นทำให้เราไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งที่เห็น ความไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งที่เห็นตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ เรียกว่า “อวิชชา” เราจึงวิปลาสคลาดเคลื่อน สืบสานสืบเนื่องปรุงแต่งให้ยึดถือยึดมั่น ก่อเกิดวิถีแห่งธรรม ก่อรูปเป็นกระแสไปสู่คำว่า “ความทุกข์” เป็นปริโยสาน

แต่เมื่อเราสะดุ้งตื่นขึ้นมา รู้จักควบคุมจิต รู้จักวางจิตไว้เป็นกลางๆ ให้เป็นอุเบกขาธรรม และรวมจิตไว้ให้มั่น... ตั้งอยู่กับที่ รู้อยู่เต็มที่ และรู้อยู่เป็นกลางๆ มันก็จะเกิดปัญญา... ปัญญาจึงเกิดขึ้นกลางจิตด้วยอำนาจสติที่กำกับจิตตั้งมั่น อยู่กับที่ อยู่เต็มที่ อยู่เป็นกลางๆ... ปัญญาเกิดขึ้นนี้จึงรู้เท่าทันอารมณ์ สภาวธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรารู้อาการจิตที่เกิดขึ้นทางทวารทั้งหลาย เช่น เรารู้อาการจิตที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ... เรารู้ขึ้นมา เราก็ไม่ไปปรุงไปแต่งในสิ่งที่รู้นั้น เห็นความจริงของสิ่งเกิดขึ้นนั้นตามธรรมของมัน... เห็นความเกิดและความดับ มันมีเกิดก็มีดับ ดังเช่นที่ท่านทั้งหลายกำหนดจิตรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจเข้า-พึงรู้ ลมหายใจออก-พึงรู้ รู้ส่วนเดียว รู้ลมเข้า-ออก รู้ในอาการลมที่ไหลเข้า-ไหลออกอย่างเป็นปกติ และตั้งกายตรงดำรงปฏิบัติชอบอยู่ ควบคุมอยู่...

เมื่อเรารู้ลมเข้า-ออก ลมหายใจเข้า-รู้ ลมหายใจออก-รู้ ควบคุมกายตั้งมั่นตั้งตรงอยู่นั้น... ความรู้นั้นมีคำควบคุม มีวินัย เพื่อให้การกำหนดรู้นั้นสืบเนื่องต่อเนื่อง หายใจเข้ายาว-รู้ หายใจออกยาว-รู้... หายใจเข้าสั้นหรือหายใจออกสั้น เราก็รู้... หายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น หรือหายใจเข้าสั้น หายใจออกยาว เราก็รู้... แค่รู้ลักษณะลมที่เรากำลังหายใจอยู่ ไม่ต้องไปแต่งลม... เราก็ดูลมที่หายใจคู่นั้นเป็นธรรมชาติของมัน เรานั่งดูการเคลื่อนตัวเข้าออก ดุจบุคคลที่นั่งนับฝูงวัวที่กำลังเดินไปเข้าประตูคอกวัว หรือเปิดประตูคอกวัวให้วัวนั้นออกมาทีละตัวๆ เราก็ดู ... ดูที่จุดตรงปากประตูที่วัวกำลังเดินออกมา นับไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะออกหมดทุกตัว ไม่คลาดเคลื่อนเลย หรือเราต้อนวัวเข้าไปในคอก เราก็นั่งนับอยู่ที่ปากประตู ไม่คลาดเคลื่อนจากการนับเลย...

การนับคือการกำหนดรู้ เราก็รู้อยู่ตรงนั้น รู้การเข้า-การออกๆ จนจิตเรานั้นรู้อยู่ส่วนเดียว รู้อยู่เรื่องเดียว รู้นั้นอยู่ในอารมณ์เดียว จึงยกจิตสู่อารมณ์ เสวยในอารมณ์ เรียกว่า “กรรมฐานแห่งจิต” เกิดขึ้น ด้วยการยกจิตสู่อารมณ์และจิตเสวยในอารมณ์นั้น ที่เรียกว่า “วิตกวิจาร” (วิ-ตะ-กะ-วิ-จา-ระ)

เมื่อยกจิตสู่อารมณ์ เสวยอยู่ในอารมณ์เดียวได้ ปีติก็จะเกิดขึ้น... ความเบิกบานใจเกิดขึ้น... ความแผ่ซ่านแห่งความปลาบปลื้มใจ ปีติยินดีเกิดขึ้น... เกิดเป็นพลังแห่งความรู้สึกปลาบปลื้มปีติยินดี ถ้าจิตนั้นตั้งขึ้นและยกขึ้นสู่อารมณ์ที่เรานั่งกำหนดรู้อยู่ในเรื่องเดียว อารมณ์เดียว สิ่งเดียว... จิตก็จะเข้าสู่วิถีแห่งจิตที่เข้าสู่มรรคของจิต ที่ดำเนินไปสู่วิถีของความเป็นไปเพื่อให้เกิดสมาธิชั้นสูง ด้วยอำนาจวิตกวิจารเกิดทันทีเลย และปีติก็เกิดขึ้น

แต่เราไม่ใช่เอาตรงนั้นอย่างเดียว... เรารู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกแล้ว... ให้รู้สิ่งที่ลมหายใจเข้าไปปรุง ลมหายใจเติมเข้าไปในกายนี้ เรียกว่า “กายสังขาร” เรียกว่า “กายลม” ลมก็แผ่ซ่านไปทั้งกายนี้ เกิดกายลมซ้อนอยู่ในกายหยาบนี้ เรียกลมหายใจที่ปรุงเข้าไปในกาย เรียกว่า “กายสังขาร” เห็น รู้ อาการเกิดขึ้นนั้นอย่างละเอียดต่อเนื่องจากการกำหนดรู้ลมเข้า-ออก... รู้ทั้งลมหายใจเข้า-รู้กายสังขาร พอลมหายใจออกก็รู้กายสังขารที่เปลี่ยนแปลง เราเห็นความเกิด-วามดับ มันเกิด-ดับๆๆ แห่งกายสังขารที่ลมนั้นเข้า-เกิด ลมออกนั้น-ดับ...ที่สุด เมื่อเรากำหนดรู้สืบเนื่องไป จึงเห็นความดับแห่งสังขาร ด้วยจิตนั้นละเอียดๆๆๆ...

ต่อเนื่องจากการกำหนดรู้ลมเข้า-ออก... รู้ทั้งลมหายใจเข้า-รู้กายสังขาร พอลมหายใจออกก็รู้กายสังขารที่เปลี่ยนแปลง เราเห็นความเกิด-ความดับ มันเกิด-ดับๆๆ แห่งกายสังขารที่ลมนั้นเข้า-เกิด ลมออกนั้น-ดับ... ที่สุด เมื่อเรากำหนดรู้สืบเนื่องไป จึงเห็นความดับแห่งสังขาร ด้วยจิตนั้นละเอียดๆๆๆ... จนที่สุดนั้น รู้ซึ่งความดับสงบของกายสังขาร เห็นความดับส่วนเดียวของกายสังขารที่เกิดขึ้นจากลมคู่นั้น ... มันละเอียด มันเห็นความเกิดความดับแล้ว ไม่พอ...

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้