posttoday

ธรรมปฏิบัติเพื่อการ รู้แจ้งในธรรม ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (ตอน ๙)

06 สิงหาคม 2555

ไม่ว่าจะเป็นสภาวะที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกิเลส ด้วยวัตถุทั้งหลายที่เป็นตัวตั้งของอารมณ์ที่เป็นกิเลส

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ไม่ว่าจะเป็นสภาวะที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกิเลส ด้วยวัตถุทั้งหลายที่เป็นตัวตั้งของอารมณ์ที่เป็นกิเลส เรารู้จักละ เป็นดำริอันชอบ... เมื่อความดำริชอบ ความเห็นอันชอบเกิดขึ้น ปัญญาเราก็เกิดขึ้น... สติเราก็มา ปัญญาเราก็เกิด การกระทำการให้เกิดสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ก็ย่อมมี วจีกรรมนั้นตั้งขึ้นก่อน เป็นสุจริต... และกายกรรมนั้นตั้งขึ้นต่อมา เป็นสุจริต... อาชีวะที่สืบเนื่องจากการดำรงวิถีของเรานั้น ที่เราต้องกระทำการทั้งกาย วาจา และใจ นั้น เป็นสุจริต... ด้วยสุจริตทั้ง ๓ เกิดขึ้น เราจึงจัดความสัมพันธ์อยู่กับสังคมได้อย่างไม่เป็นโทษเป็นภัย ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น การทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นไม่เป็นโทษเป็นภัยทั้งตนเองและผู้อื่นนั้น เรียกว่า “การประกอบกุศลกรรม” ซึ่งหมายถึง เป็นผู้มั่นคงอยู่ในกรอบแห่ง “ศีลธรรม” อันเป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ผู้หวังความเจริญเป็นส่วนเดียว...

เมื่อศีลธรรมเกิดขึ้น ดำรงอยู่เป็นกรอบชีวิตของผู้ใด ... ผู้นั้นจะมีความเพียรชอบ เกิดพลังธรรมความเพียรชอบขึ้นมา ควบคุมด้วยความระลึกรู้ชอบ... เพียรชอบ ระลึกรู้ชอบ จึงพัฒนาไปสู่ปัญญา ปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อขณะจิตนั้นตั้งมั่น จึงมีคำว่า “ความตั้งมั่น” หรือ “สมาธิ” เกิดขึ้นจากความเพียรที่ชอบ คือ มีสัมปชัญญะควบคุมกาย สติที่ชอบ คือ สติควบคุมจิต ก็ย่อมทำให้เกิด “สัมมาสมาธิ”...

ดังนั้น สมาธิเกิดจากอะไร?... เกิดจากสติและสัมปชัญญะ ที่แปรรูปสู่องค์ธรรม “สัมมาสติ” และ “สัมมาวายามะ” ที่สามารถควบคุมกายจิตให้ดำรงตั้งมั่นอยู่กับธรรมะ พัฒนาสืบเนื่องไปตามธรรมสมควรแก่ธรรม เพิ่มพูนอำนาจหนึ่งให้เกิดขึ้น ที่เรียกว่า “สัมมาสมาธิ” หรือความตั้งมั่นอันชอบ... เมื่อความตั้งมั่นชอบเกิดขึ้น การพัฒนาปัญญาก็ย่อมส่งผล เพราะความสืบเนื่องแห่งสมาธิก็คือ ปัญญา... โดยมีศีลเป็นเบื้องต้นอันให้เกิดสมาธิ และสมาธิอบรมจิตให้เกิดปัญญา เพื่อผลวิมุตติธรรม ... ธรรมนี้เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์

อำนาจธรรมดังกล่าวทั้งปวง จึงเกิดขึ้นด้วยประการนี้...

ประการนี้ คือ หนึ่ง เรามีสติควบคุมจิตให้ตั้งอยู่กับที่ ตั้งให้เต็มที่ และให้จิตนั้นวางเป็นอุเบกขา เป็นกลางๆ ประพฤติปฏิบัติอย่างรู้ชอบการนั่งอยู่ การนั่งโดยการประพฤติชอบอยู่... ยืนประพฤติชอบอยู่... นอนประพฤติชอบอยู่... เดินประพฤติชอบอยู่... ความประพฤติชอบที่มีสตินั้นให้องค์คุณที่จะสืบเนื่องไปสู่ปัญญาบนวิถีธรรมหนึ่ง คือ “สมาธิ” ต้องเกิดขึ้น ก็คือความตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่น สมาธิแก่กล้าเกิดขึ้น สติก็เข้มแข็ง เมื่อสติเข้มแข็งแก่กล้า ความระลึกรู้ดังกล่าวก็พัฒนาเป็นญาณรู้

สตินั้นรู้ตามวิถีที่เราท่องบ่นจดจำว่า “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า...” เราไล่เรียงไปโดยมีสติกำกับรู้ไปทีละส่วนว่า “นี่ผมนะ.. นี่เล็บนะ... นี่ฟัน... นี่หนัง” รู้ส่วนนี้ว่า “ผม” เป็นสีดำ มีสภาพสัณฐานเป็นอย่างนี้.. รูปร่างเป็นอย่างนี้... โอกาสเป็นอย่างนี้... ทิศทางเป็นอย่างนี้... ปริเฉทเป็นอย่างนี้ เรารู้ แต่เรารู้ดังกล่าวรู้ตามสติที่กำหนดสอดส่องมองเข้าไป รู้ตามสภาพธรรมที่ปรากฏมีอยู่ เรียกว่า “เห็นภายนอก” จนการกำหนดรู้นั้นเกิดปัญญา เห็นความจริงภายในว่า “เกศา (ผม) นี้ ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เรา เขา... เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป... สุดท้ายว่างเปล่า” การแทงทะลุเห็นความว่างเปล่าในสภาพธรรมที่ปรากฏมีอยู่เบื้องหน้านี้ จึงเป็นการ “รู้ภายใน”... เรียกว่า รู้สภาพธรรมภายใน

รู้กายภายนอก รู้ตามสติ... รู้กายภายใน รู้ด้วยญาณ... ญาณนั้นแทงทะลุจนเห็นสภาพธรรมนี้ว่า เป็นสุญญโต ว่างเปล่า... การเข้าถึงความจริงของความว่างเปล่า ความไม่ใช่ตัวตนนั้น จึงต้องพัฒนาจิตให้มีกำลังเข้มแข็งด้วยอำนาจแห่งสติ จนเกิด “ญาณ”... ญาณทำให้เกิด “ปัญญา”... ปัญญาทำให้เกิด “วิชชา” และที่สุดก็คือให้ถึงซึ่งความสว่างหรือ “วิมุตติ” ย่อมเป็นไป...

วิถีแห่งธรรมนั้น จึงเป็นความประณีต ความละเอียด ลุ่มลึก แยบคาย เพราะสืบเนื่องจากความสำนึกที่ถูกต้อง ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด... ต้องเป็นความสำนึกที่ได้รับการเรียนรู้ สดับตรับฟังมาดี และไตร่ตรองจนเกิดความเข้าใจในความจริงดังกล่าว... น้อมนำความจริงดังกล่าวเข้าสู่จิต และพิจารณาให้แยบคาย ถึงคุณแห่งความเข้าใจนั้น นำมาประพฤติปฏิบัติ... สุจริตก็ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งสามทางเป็นปกติ ดุจดังพระอริยเจ้าทั้งหลายที่มีจิตสำรวมระวังดีแล้ว และไม่กระทำทั้งกาย วาจา ใจ ในทางทุจริตอย่างเป็นปกติ เรียกว่า เจตนาจิตนั้นไม่มีอีกแล้วที่จะกระทำความชั่วทั้งปวง... แม้อาศัยโลกนี้อยู่ แต่ก็ไม่ติดอยู่กับโลกนี้ เป็นการอยู่เป็นไปเพื่อออกจากภาวะแห่งความเกี่ยวเนื่องกับโลกนี้อย่างสิ้นเชิง...

การออกมาจากการข้องแวะยึดติดกับโลกนี้ได้ ก็อยู่ที่จิตดวงนี้ ที่เราทั้งหลายกำลังเพ่งพิจารณาดูอยู่ ให้เห็นความจริงตรงนี้อยู่ จนที่สุดจิตอยู่ในฐานที่ตั้ง ไม่เข้าไปข้องแวะยึดติดกับอารมณ์ทั้งหลายที่ส่งเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ... เมื่อไม่ข้องแวะเข้าไปยึดติด รูปก็ไม่เกิด นามก็ไม่เกิด... เมื่อรูปไม่เกิด นามไม่เกิด อาการจิต รักชัง ชอบไม่ชอบ ก็ไม่มี... นั่นหมายความ อกุศลที่เกิดจากนิวรณ์ ก็ไม่มี... นิวรณ์ไม่มี เพราะจิตไม่เข้าไปยึดติด สังโยชน์นั้นก็ขาดสะบั้น... สังโยชน์เกิดขึ้น เพราะจิตเข้าไปถือในอารมณ์นั้นๆ จิตเข้าไปยึดติดเกาะเกี่ยวกับรูปนั้นหรือโลกนั้น จึงเกิดการยึด... การยึดผูกมัดแห่งจิตที่ถือในรูปนั้น หรืออารมณ์นั้น หรือโลกนั้น จึงเรียกว่า “สังโยชน์” สังโยชน์เป็นเครื่องผูกมัดให้ยึดติดอยู่กับวิถีแห่งความเป็นไปของโลก เพื่อให้เกิดความรักความชังสืบเนื่อง อันมีผลทำให้นิวรณ์เกิดขึ้น

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้