posttoday

อย่าฝืนความจริง

05 สิงหาคม 2555

เราพึงคำนึงตนเสมอว่า เวลานี้เราปฏิบัติถูกต้องตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาหรือไม่

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

เราพึงคำนึงตนเสมอว่า เวลานี้เราปฏิบัติถูกต้องตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาหรือไม่

มัชฌิมา คือ ความเหมาะสมอยู่ตลอด การรักษาศีลก็เป็นความเหมาะสมของตน หาที่ตำหนิติเตียนตนไม่ได้ว่า ได้ทำศีลให้ด่างพร้อยไปด้วยเจตนาหรือความเผลเรอประการใดบ้าง เพราะความระมัดระวังรักษาอยู่เสมอ ศีลก็งามสำหรับตัวของเรา เป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้เหมาะสมกับความเป็นผู้มีศีล

จึงเรียกว่า มัชฌิมา คือ ความเหมาะสม

ทางด้านธรรม...สมาธิแท้นั้นจะเกิดขึ้นกับใจที่สืบเนื่องมาจากการศึกษาเล่าเรียน วิธีการที่ท่านแสดงไว้แล้วในตำรับตำรานั้น เข้ามาประยุกต์กับความประพฤติของตน เพื่อให้เกิดความสงบเย็นใจขึ้นมาด้วยจิตตภาวนา

สมาธิมีความสำคัญไปในทางหนึ่ง ปัญญามีความสำคัญไปในทางหนึ่ง ต่างก็มีความสำคัญตามหน้าที่หรือคุณภาพของตน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าต่างก็มีความสำคัญตามหน้าที่หรือคุณภาพของตน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเสียเองจึงได้ตรัสไว้ว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา สมาธิอันเป็นความอิ่มตัว ไม่หิวโหยโรยแรง ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม กระสับกระส่าย เป็นจิตที่อิ่มตัวตามขั้นความสงบของตน

นี่ ท่านเรียก สมาธิ

สมาธินี้แล ที่มีความอิ่มตัวนี้ นำไปใช้ทางด้านปัญญา ย่อมจะเป็นเครื่องหนุนปัญญาให้ทำหน้าที่ของตนได้อย่างราบรื่นดีงาม...พิจารณาทางด้านปัญญามีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาหรือเป็นผู้ควบคุมงาน จิตก็ทำงานตามนั้น

อย่าฝืนความจริง

เมื่อมีสมาธิแล้วควรแยกออกทางด้านปัญญา พิจารณาแยบคายไปกว่าทางด้านสมาธิก็ต้องทำ เพราะฉะนั้น คำว่า สมาธิกับปัญญานี้ จึงแยกกันไม่ออก โดยจะถือว่า พิจารณาด้านปัญญาอย่างเดียวเป็นความรวดเร็ว การทำสมาธิ มัวทำสมาธิให้เกิดให้มีความสงบแล้วค่อยพิจารณาด้านปัญญานั้น เป็นทางล่าช้าหรือล้าสมัย

การพูดเช่นนั้นหรือความเห็นเช่นนั้น เป็นความเห็นที่ขัดต่อหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงรับรองมาแล้วโดยสมบูรณ์ทั้งทางเหตุและทางผล

ดังนั้น ธรรมทั้งสองประการนี้ จึงแยกจากกันไม่ออกแต่ไหนแต่ไรมา...ไม่สามารถแยกสมาธิหรือสลัดตัดทิ้งสมาธิไปเสีย ให้ดำเนินแต่ทางด้านปัญญาอย่างเดียว แล้วคว้าเอามรรคผลนิพพานอย่างภาคภูมิใจมาแข่งศาสนาผู้แสดงไว้ทั้งสมาธิและปัญญา

อย่างนี้เป็นไปไม่ได้

...เมื่อจิตมีความสงบเป็นพื้นฐานแล้ว นำจิตที่มีดวงความสงบและอิ่มตัว ไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่างๆ นั้นเข้าพิจารณาทางด้านปัญญา เราจะพิจารณาร่างกายส่วนใดก็ตาม คำว่า ร่างกายนี้ทั่วไปหมดในรูปขันธ์นี้ แล้วแต่จะถูกกับจริตในอาการใดภายในร่างกายนี้ แยกแยะดูตั้งแต่ต้น ดังที่ท่านมอบการงานให้แก่พวกเรามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนี้และยังจะเป็นไปอีกอย่างนี้ไม่ลดละ ว่า งานของนักบวชนั้นคืออะไร อุปัชฌายะท่านมอบให้ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่คือ อนุโลมพิจารณาโดยตามลำดับไป ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา นี่ให้พิจารณาปฏิโลม ย้อนกลับหน้ากลับหลัง ถอยหน้าถอยหลัง...

การพิจารณาเช่นนี้ท่านเรียกว่า วิปัสสนา เพื่อความเห็นแจ้งตามความจริง

ความจริงนั้นเป็นอย่างไร ในร่างกายนี้ คำว่า อสุภะ จริงหรือไม่จริง เราปฏิเสธได้ไหม ตั้งแต่ภายนอกก็มีขี้เหงื่อขี้ไคลเต็มไปหมดทั้งร่าง ไม่ว่าข้างบนข้างล่างต้องชะล้างกันอยู่ตลอดเวลา ร่างกายนี้ไปสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใด แม้จะเป็นของสะอาดสวยงามเพียงใดก็ตาม จะต้องกลายเป็นของสกปรกโสมมส่งกลิ่นฟุ้งไปหมด เพราะร่างกายนี้เป็นตัวปฏิกูล สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับร่างกายนี้จึงกลายเป็นของสกปรก ต้องชะล้างต้องล้างต้องฟอกเช็ดถู ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ นี่เห็นอย่างชัดๆ อยู่แล้วตามหลักความจริง

ผู้ปฏิบัติจะฝืนหลักความจริงนี้ไปไหน การฝืนหลักความจริงเหล่านี้มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งสิ้น ซึ่งเป็นข้าศึกต่อธรรม...

...ทีนี้นำธรรมเข้ามาลบล้างของปลอมนั้นว่า สวยงามที่ตรงไหน ดูหาความสวยงามไม่ได้ ทั้งภายนอกภายในของร่างกายนี้ หาความสวยงามไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว มันเต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครกหมดทั้งร่างนี้ ทั้งในตัวของเราและสัตว์บุคคลอื่น ทั้งหญิงทั้งชายเหมือนๆ กันหมด เทียบกันได้ทุกสัดทุกส่วน ไม่มีอะไรแปลกแตกต่างกัน

นี่คือ ความจริง เราฝึกวิปัสสนาคือ ปัญญา ฝึกเพื่อจะสลัดสิ่งที่เคยยึดเคยถืออันจอมปลอม เข้าสู่หลักความจริงคือ ของไม่ปลอม นี่เป็นขั้นหนึ่งของจิตของธรรม

ขั้นต่อไปยังแยกแยะเป็นเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา...

...เมื่อพิจารณาตามหลักความจริงแล้ว จิตย่อมจะค่อยปล่อยวางไปตามลำดับ...นี่เป็นขั้นหนึ่งของการพิจารณาที่เรียกว่า ปัญญา

เราแยกจากสมาธิ คือ จิตที่สงบนั้น ให้แสดงกิริยาออกมาทางแยบคาย เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา แปลว่า ความเห็นแจ้งเห็นจริง ไม่ใช่เห็นปลอมเห็นแบบมืดๆ ดำๆ กำดำกำขาวอย่างที่อวิชชาพาเห็น ปัญญาธรรมพาเห็น เห็นแจ้งเห็นชัด และรื้อถอนตนออกจากความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดต่างๆ ไปได้โดยตามลำดับ นี่แหละการดำเนินเพื่อมรรคผลนิพพาน...

...การพิจารณาร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับราคะตัณหา ขึ้นอยู่กับร่างกายนี้ จิตสงบก็สงบจากความคิดในเรื่องราคะตัณหา เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส

ในชาดกท่านกล่าวไว้ซึ่งเป็นสิ่งที่สะดุดใจมากว่า...“วิธีที่จะแก้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันเป็นบ่อเกิดแห่งราคะตัณหานั้น ต้องใช้วิธีการอันถูกต้องเหมาะสมกัน คือ การพิจารณาอสุภกรรมฐานเป็นภาคพื้น ให้เกิดมีความชำนาญ...เธอทั้งหลายจงพิจารณาในสิ่งเหล่านี้ให้มาก ยาแก้พิษภัยอันสำคัญ คือ อสุภะ เป็นยาอันประเสริฐ”

...ฟังดูสิ นี่แหละการพิจารณา จงทำตามที่ท่านสอนไว้นั้น คำว่า โง่เกินไป จะถูกลบลงด้วยวิปัสสนาปัญญาไม่สงสัย...

...นอกจากนั้น ท่านยังสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า การไปเยี่ยมป่าช้าแต่ก่อนเป็นป่าช้าผีดิบ ตายเก่าตายใหม่เอาไปทิ้งเกลื่อนไปหมด

การไปพิจารณาป่าช้านั้น ท่านสอนให้ไปทางเหนือลม และสอนให้ไปทางตายเก่าเสียก่อนเพราะกำลังสติปัญญายังไม่เพียงพอ ให้ไปดูผู้ที่ตายเก่าเสียก่อน...แล้วขยับเข้าไปตามลำดับจนถึงผู้ตายใหม่ ทั้งนี้เพราะอาจจะเกิดความกำหนัดยินดีขึ้นมาได้

...การไปเยี่ยมป่าช้าภายนอกก็เพื่อจะหาหลักยึดเทียบเข้ามาสู่หลักภายในคือ ตัวเราเอง เมื่อได้หลักภายในเป็นเครื่องยึดแล้วก็มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตนเองและหายกังวลในการไปเยี่ยมป่าช้านอก นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง ปัญญาขั้นนี้ต้องใช้ความพยายามให้มากก่อนจะมีความชำนาญ เมื่อชำนาญแล้ว ปัญญาขั้นนี้ย่อมผาดโผนมาก...

มองดูตัวทั้งตัวนี้กลายเป็นเนื้อก็เป็นไปหมดทั้งตัว มองดูหนังไม่เห็นทะลุเข้าไปถึงเนื้อ ถึงเอ็น ถึงกระดูก กระทั่งกลายร่างเป็นกระดูกไปหมดในคนทั้งคน เราทั้งคนเป็นก้อนเนื้อไปหมดทั้งตัว มองดูหญิงดูชายเป็นสภาพเดียวกันหมด...

นี่คือ ความชำนาญในการพิจารณา...

...ปัญญาขั้นนี้ต้องผาดโผนเต็มที่เพราะแก้กิเลสส่วนหยาบ ต่อสู้กับกิเลสส่วนหยาบ ปัญญาต้องเป็นปัญญาที่ผาดโผน ไม่งั้นไม่ทันกัน ไม่เรียกว่า มัชฌิมา คือ เหมาะสมกัน

พอหมดขั้นนี้แล้ว สติปัญญาจะก้าวเข้านามธรรมทั้งสี่ พิจารณานามธรรมทั้งสี่ เวทนา ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ภายในร่างกายและจิตใจ ส่วนเวทนาภายในจิตทั้งสามนั้นแยกไว้ก่อน...

...การพิจารณาทุกขเวทนาจึงพิจารณาให้เป็นธรรมว่า ทุกขเวทนานี้เหรอที่ว่าเป็นภัยแก่เรา ดูให้ชัดเจนถึงสภาพของทุกข์ที่ปรากฏในขณะนั้นว่า เป็นภัยแก่ผู้ใด สติปัญญาจดจ่อลงในจุดที่เกิดทุกข์มากกว่าเพื่อน คลี่คลายดูด้วยปัญญา เมื่อชัดเจนแล้ว ทุกข์ก็สักแต่ว่าปรากฏตัวอยู่ตามหลักธรรมชาติของตนเท่านั้น แม้ตัวทุกข์เองก็ไม่ทราบความหมายของตนว่าเป็นทุกข์ และไม่มีความหมายว่า ได้ให้ความทุกข์ผู้หนึ่งผู้ใดเลย...

...กายนั้นมาเป็นใจหรือใจไปเป็นกาย หรือทุกขเวทนานั้นมาเป็นใจ หรือใจนี้ไปเป็นทุกขเวทนา แยกแยะทุกสัดทุกส่วน ยิ่งมีความรุนแรงมากเพียงไร สติปัญญาขั้นนี้ยิ่งหมุนติ้ว เร็วยิ่งกว่าน้ำไหลไฟสว่าง ไม่อย่างนั้นไม่ทันกัน แยกแยะทุกสัดทุกส่วน

เวทนาก็กลายเป็นความจริงขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจหายสงสัยว่า มีจิตเท่านั้นไปสำคัญทุกขเวทนาว่าเป็นข้าศึกต่อตนเอง และว่าเป็นตนเป็นของตน ตลอดจนเรื่องร่างกาย เขาก็เป็นสภาพแห่งความจริงของเขาอยู่เช่นนั้น แต่ใจเสียเองเป็นผู้ไปยึดไปถือว่า ร่ายกายของเราเป็นทุกข์ ทุกข์ก็มาเป็นกาย ทั้งทุกข์ทางกายทั้งทุกข์ทางใจก็กลายเป็นเราและเป็นทุกข์ขึ้นมาอีกเพราะความสำคัญผิด

เมื่อแยกแยะทั้งสามสภาพคือ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต เทียบเคียงกันได้ทุกสัดทุกส่วนว่า ไม่ใช่อันเดียวกัน ความสำคัญมั่นหมายของจิตที่ไปหมายเขาว่า เป็นเราเป็นของเราก็ถอนตัวเข้ามาสู่จิต เมื่อความสำคัญถอนตัวเข้ามาสู่จิตแล้ว จิตก็เป็นปกติ เป็นความจริงของจิต เวทนาก็เป็นความจริงของเวทนา กายก็เป็นความจริงของกายแต่ละอย่างๆ แล้วก็ไม่กระทบกัน

หนึ่ง ทุกขเวทนาที่กำเริบมากๆ นั้นดับไปอย่างรวดเร็ว สอง ทุกขเวทนาแม้ไม่ดับแต่ก็เป็นความจริงของตนอยู่เป็นสัดเป็นส่วน ไม่เข้ามากระทบกันกับจิตใจนี้ได้เลย

ใจนั้นแม้จะอยู่ท่ามกลางแห่งความทุกข์ความลำบาก ในขณะที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บหรือขณะนั่งนานๆ ก็ไม่มีความกระวนกระวาย มีแต่ความกระหยิ่มยิ้มย่องอยู่โดยหลักธรรมชาติแห่งความจริงของใจ

นี้ คือ การพิจารณาเวทนา

นอกจากนั้นยังทราบชัดว่า ทุกขเวทนาก็ดี สุข‌เวทนาก็ดี อุเบกขาเวทนาก็ดี เป็นอาการอัน‌หนึ่งๆ เท่านั้น รวมแล้วย่อมไหลลงสู่ภาชนะคือ ‌ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คือ ‌ปัญญาขั้นหนึ่ง

สัญญา ได้แก่ การจำได้หมายรู้ จนเกิดเรื่อง‌เกิดราวขึ้นมา สังขารปรุงแย็บ สัญญาหมายไปให้‌เป็นเรื่องเป็นราวหลอกตนเหมือนกับภาพในหน้า‌กระจก ภาพของเรานี้แหละไปปรากฏอยู่ในหน้า‌กระจก เราก็ไปตื่นภาพในหน้ากระจกนั้น...

...พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ เป็นการฝึกซ้อมด้วย‌ความสัมผัสสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสัญญา สังขาร‌ที่ปรุงอยู่ภายในและระหว่างข้างนอกกับข้างในให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ จิตย่อมมีความชำนิชำนาญ‌สามารถสลัดตัดทิ้งขันธ์ห้า นี้ได้ทั้งๆ ที่ยังไม่บริสุทธิ์ ‌อุปทานในรูปขันธ์ก็ปล่อยได้อย่างชัดเจนเห็น‌ประจักษ์ จิตพักจากการพิจารณาร่างกายว่า เป็นอสุภะอสุภังต่างๆ เพราะอิ่มตัวแล้ว รู้แล้ว ปล่อย‌วางแล้ว พิจารณาเพื่ออะไรอีก การพิจารณา‌เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ถือเอาความเกิด‌ดับเป็นสำคัญคือ เกิดขึ้นก็รู้ได้ชัด ดับไปก็รู้ได้ชัด ‌ขาดจากกันก็รู้ได้ชัด

ขันธ์ทั้งห้านี้แหละเป็นทางเดินของกิเลส ‌อวิชชาส่งสมุนออกมาทางนี้แหละ...ถ้ามีความ‌ฉลาดก็พิจารณาเพื่อหาทางปลดเปลื้องไปได้ตาม‌สติปัญญาขั้นดังกล่าวนี้...รู้เท่าทันและปล่อยวางได้แล้ว เรียกว่า ตัดขาดจากทางเดินของกิเลส มีอวิชชาเป็นตัวการ‌ส่งสมุนออกมาตามสายนี้และตัดสะพานสายนี้‌ขาดเข้าไปโดยลำดับ กิเลสออกมาทางเวทนาก็ตัดขาดด้วยปัญญา ออกมาทางสัญญา สังขาร ‌วิญญาณก็ตัดขาดโดยลำดับ

เมื่ออวิชชาไม่มีสมุน ถูกตัดสะพานขาดไป‌หมดคือ ฆ่าทั้งสมุนของมันด้วย ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ ฆ่าไปด้วย อาการต่างๆ ทั้งห้านี้‌ก็ตัดขาดไปด้วย กิเลสก็รวมตัวเข้าไปสู่จิตดวง‌เดียวเพราะไม่มีที่หลบซ่อน

นี่แหละวิธีการดำเนินเพื่อมรรคผลนิพพาน‌ดังครั้งพุทธกาลท่านดำเนิน ท่านดำเนินอย่างนี้ ‌ท่านพิจารณาอย่างนี้...

ปัญญาขั้นพิจารณาอวิชชานี้ เป็นปัญญาขั้น‌อัตโนมัติโดยแท้ เพราะเริ่มเป็นอัตโนมัติมาแต่‌ความชำนาญขั้นรูปขันธ์อยู่แล้ว ตามครั้งพุทธกาล‌ท่านว่า มหาสติ มหาปัญญา มาโดยลำดับ จาก‌การพิจารณาขั้นห้าอยู่แล้ว เมื่อถึงขั้นกิเลสรวมตัว‌มาเป็นจิตอวิชชาแล้ว จึงเป็นมหาสติ มหาปัญญา ‌อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หมุนตัวเป็นเกลียวทั้งวัน‌ทั้งคืนอย่างละเอียดลออ เหมือนน้ำซับน้ำซึม ไม่มี‌อะไรเป็นที่พิจารณาเพราะรูปก็ผ่านไปแล้ว ไม่‌ยอมพิจารณารู้แล้วปล่อยแล้วละวางแล้ว เวทนา ‌สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นส่วนเกี่ยวกับเรื่อง‌ร่างกายนี้ก็ดับไปหมด ขาดไปหมดแล้ว มีแต่ความยิบๆๆ แย็บๆ กระเพื่อมอยู่ภายในจิต ‌ความกระเพื่อมแต่ละขณะๆ ที่แสดงออกมาจาก‌จิตก็ทราบว่า เป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของ‌โลกสมมติของโลก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ภายใน‌จิต รู้ได้อย่างชัดเจน ยึดมั่นถือมั่นในความกระเพื่อมว่าดีว่าชั่วว่าเกิดว่าดับนี้ได้อย่างไร

ฐานของอวิชชาจริงๆ คืออะไร นี่แหละตัว‌สำคัญ...

...เมื่อเข้าถึงขั้นนั้นแล้ว นั่นแหละขั้นที่ว่า‌สำคัญว่าตัววิเศษ ว่าตัวประเสริฐเลิศโลก ทั้งๆ ที่‌กำลังเป็นอวิชชาเต็มตัว ไปยกตัวอวิชชานั่น‌แหละว่าประเสริฐว่าเลิศ มหาสติ มหาปัญญาที่‌เคยฝึกมาอย่างเกรียงไกรก็กลายเป็นองครักษ์ไป‌รักษาอวิชชาดวงที่ว่า เลิศประเสริฐ ดวงมีความ‌สง่าผ่าเผยมีความสว่างกระจ่างแจ้ง องอาจกล้าหาญแพรวพราว ไม่มีอะไรเสมอเหมือนไป‌เสีย โดยไม่รู้สึกตัว จึงมีทั้งรัก ทั้งชอบใจ ทั้งอ้อย‌อิ่ง ทั้งสวนอยู่ในนั้นหมด

นั่นเห็นไหมกิเลสละเอียดขนาดไหน...

...อวิชชานี้แท้ๆ จะไม่ละเอียดครอบโลกธาตุ‌ได้อย่างไร แม้ขั้นมหาสติ มหาปัญญา ยังลืมตัว‌หลงกลไปเป็นองครักษ์รักษาจิตดวงนี้จนได้

คำว่ารักษาจิตดวงนี้คืออะไร คือ มีความรัก ‌ความสงวน ความอ้อยอิ่ง ความติด ความพันอยู่‌ภายในนั้น ไม่ยอมให้อะไรมาแตะต้องได้เพราะรัก‌มาก สงวนมาก แค่คำว่า สมมติ อวิชชาก็คือสมมติ ‌มหาสติปัญญาซึ่งเป็นสิ่งที่ควรแก่กันและหมุนตัว‌อยู่ตลอดเวลาทำไมจะไม่ทราบความเคลื่อนไหว ‌ความเปลี่ยนแปลง ความผิดปกติของจิตประเภท‌ที่ว่าอัศจรรย์และเป็นจอมกษัตริย์นั้นได้ในขณะใด‌ขณะหนึ่งเล่าเพราะจดจ่อ เพราะพิจารณา ทั้งๆ ที่‌กำลังสงวนและกำลังรักษาอยู่นั้นแหละ หากมี‌การพิจารณามีการสังเกตสอดรู้กันอยู่ทุกระยะๆ ‌ตามนิสัยของสติปัญญาขั้นไม่นอนใจไม่นานก็‌ทราบกลมายาของอวิชชาจนได้

นี่แหละตรงนี้ ตรงที่จะทำลาย

คำว่า อวิชชา หรือคำว่า ใสสะอาดนั้นน่ะ ใส‌จริง สะอาดจริง ผ่องใสจริง คำว่า ผ่องใสกับ‌ความเศร้าหมอง ซึ่งเป็นส่วนละเอียดนั้น ต้อง‌เป็นของคู่กัน ผ่องใสขนาดไหนจะต้องเห็นความ‌เศร้าหมองแทรกขึ้นมาในขณะใดขณะหนึ่งจนได้ ‌องอาจหรืออับเฉาก็เป็นของคู่กัน แสดงขึ้นมาแม้‌แต่นิดหนึ่ง สติปัญญาขั้นนี้ก็จับได้

ธรรมชาติสมมตินี้ละเอียดขนาดไหน สิ่งที่เป็น‌คู่เคียงกันต้องละเอียดให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่านี่‌คืออะไร มีความกระจ่างแจ้งขนาดนี้แล้ว ทำไมจึง‌ต้องมีลักษณะไม่ไว้วางใจ ให้ต้องระมัดระวังกัน ‌ธรรมชาติของจริงแท้ ทำไมจะต้องระวังกัน ความ‌ระวังนี้เป็นที่แน่แก่ใจแล้วหรือ ธรรมชาตินี้คือ‌อะไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยพิจารณาผ่านไปแล้วก็‌ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อัตตา ทั้งมวล แต่นี้เป็น‌อะไรที่ปรากฏเด่นๆ อยู่นี้

นั้นแลเป็นจุดหรือเป้าหมายแห่งการ‌พิจารณาละ ทีนี้สติปัญญาเริ่มพิจารณาอย่างเอา‌จริงเอาจัง

ลงสติปัญญาขั้นนี้ทุ่มตัวเข้าไปแล้ว อย่างไรก็‌ไม่มีอะไรที่จะต้านทานไว้ได้ ต้องพังทลาย

มหาสติ มหาปัญญา จ่อเข้าไปตรงนั้น ‌พิจารณาจุดนั้นเหมือนกับการพิจารณาสภาว‌ธรรมทั้งหลาย เมื่อสติปัญญาขั้นอัตโนมัติได้จ่อ‌เข้าไปถึงจุดนั้น อวิชชาทนไม่ได้ต้องพังทลาย ‌อวิชชาตาย ตายตรงนั้นแหละบ่อเกิดของสัตว์ ‌เชื้ออันนี้เอง บ่อเกิดของสัตว์ สถานที่ตาย-ที่เกิด ‌พาให้สัตว์เกิดสัตว์ตายไม่ใช่ที่ไหน ธรรมชาตินี้‌เอง ทำให้สัตว์เกิดสัตว์ตาย เราเป็นผู้แบกหามอัน‌นี้อยู่ประจักษ์ใจ สงสัยว่าโลกนี้ตายแล้วสูญ

มันสูญที่ไหน...

...พอเรียนถึงธรรมชาติที่ทำให้เกิดพังทลาย‌ลงไปแล้ว ทำไมจะไม่สามารถอุทานขึ้นมาได้ว่า ‌หมดแล้วเรื่องราวทั้งหลาย ที่เกิดตายๆ จับจอง‌ป่าช้าอยู่ไม่หยุดไม่ถอยเพราะตัวนี้เอง

ตัวนี้ได้สิ้นซากไปแล้วบัดนี้ หมดเรื่อง