posttoday

ธรรมปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้งในธรรม ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (ตอน ๗)

02 สิงหาคม 2555

นิวรณ์นั้นเป็นอำนาจอกุศลที่มีรากเหง้าจาก ราคะ โทสะ โมหะ นิวรณ์นั้นเป็นเครื่องขวางกั้น

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

นิวรณ์นั้นเป็นอำนาจอกุศลที่มีรากเหง้าจาก ราคะ โทสะ โมหะ นิวรณ์นั้นเป็นเครื่องขวางกั้น ไม่ให้จิตนั้นสงบตั้งมั่นรวมลงเป็นสมาธิ ไม่ให้จิตนั้นเกิดปัญญา เกิดญาณรู้ ความสงบรวบรวมจิตให้ตั้งอยู่เป็นกลางๆ ไม่รัก ไม่ชัง และรู้เต็มที่ อยู่ที่รูปนี้หรือกายนี้... รู้อยู่กับที่ รู้อยู่ ณ ขณะนี้ เป็นปัจจุบันธรรมตรงนี้ ไม่เคลื่อนย้ายจิตออกไปจากอำนาจธรรมนี้ที่รู้อยู่กับที่นี่... ถ้าทำได้อย่างนี้ จิตเราก็จะสงบ... จิตสงบขึ้นมา ก็มีความสำรวมเกิดขึ้น สงบสำรวมเพราะมีอำนาจหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้อยู่กับที่ รู้เต็มที่ และรู้เป็นกลางๆ ก็คือ “สติปัญญา”

สติปัญญาทำให้เรานั้นกำกับจิตได้ อ่านจิตออก บอกจิตเป็น ใช้จิตได้ เป็นกรรมฐานที่เป็นปัญญาอบรมจิต เหมาะกับบุคคลที่ต้องโคจรเคลื่อนไหวอยู่กับโลก ต้องทำงานอยู่กับสังคม เราต้องใช้ปัญญาอบรมจิต... ให้จิตมีความรู้ความเข้าใจ และรวมลงอยู่ที่รูปนี้กายนี้ รวมลงให้เต็มรูปนี้ อยู่กับรูปนี้กายนี้ และวางตัวรู้นั้นเป็นกลางๆ สักแต่ว่ามองรูปนี้กายนี้ เป็นธรรมดา... ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา... ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย... เป็นเพียงวัตถุอันหนึ่งตั้งขึ้น และเป็นไปตามธรรมชาติ... ไม่ต้องเพ่งพินิจพิจารณาค้นคว้าสืบสาวเข้าไป เพียงแต่เป็นที่ตั้งของอารมณ์ให้สงบ ความสงบนั้น เราจะพบธรรมะ... ธรรมะคือความเป็นปกติ ปกติคือเราไม่บ้า ไม่เสียสติ คือคนบ้า

สติมี ก็สงบ

สติไม่มี ก็ไม่สงบ

สติมา ปัญญาก็เกิด...

สติเตลิด ปัญญาก็สูญหาย...

สติสลาย ปัญญาก็เสื่อมสูญ...

เราจึงต้องสร้างสติกำกับขึ้น... ให้กำกับจิตเรานั้น รู้อยู่ที่กายนี้ รู้อยู่ที่รูปนี้ รู้อยู่ในรูปกายนี้... ความหมาย กายหรือรูปที่ตั้งอยู่ตรงนี้ เรารู้ตรงนี้ รู้ที่ตัวของเรา... เราไม่ไปรู้ตัวของชาวบ้าน ไม่รัก ไม่ชัง ไม่กำหนดว่าเป็นของเรา... สักแต่ว่าเป็นรูป สักแต่ว่าเป็นกายนี้... ให้เป็นความกลางๆ ของจิต จิตจะเสมอ ใจก็เป็นกลาง... จิตเสมอใจเป็นกลาง สติกำกับจิตรู้อยู่ หรือรู้อยู่กับการรู้นี้ ก็จะให้อาการคุณของความรู้เกิดขึ้น... “คุณของความรู้” นี้ ก็คือตัวปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็รู้เท่าทันอารมณ์... อารมณ์ใดเกิดขึ้นจากความชอบใจไม่ชอบใจ ชอบใจ ก็ให้ความสุข... ไม่ชอบใจ ก็ให้ความขัดเคืองใจ คับข้องใจ ก็ให้ความทุกข์... และอยู่มึน เซ่อ ซึมเซาอยู่ก็ให้อาการหนึ่งที่เป็นอาการของความเป็นโมหะ... ชอบใจก็ให้ราคะ ไม่ชอบใจก็ให้โทสะ มึนสยบติดอยู่ไม่รู้อะไรเลยก็ให้โมหะ

เราดูสิว่า จิตเรานั้นติดอยู่ในอารมณ์ใด รู้ในขณะที่จิตติดอารมณ์นั้นอยู่ เมื่อจิตเราสงบอยู่นั้น เราก็มองเห็นจิตที่ติดอยู่ในอารมณ์ใด และเราแยกระหว่างอารมณ์ที่จิตรู้กับตัวรู้คือจิต เราแยกจิตออกจากอารมณ์นั้น เราเปลื้องอารมณ์นั้นออกจากจิต จิตเราก็จะค่อยๆ สงบลง เปลื้องออกจากรัก จากชัง จากชอบ จากไม่ชอบที่เกิดขึ้นขณะนั้น เราจะมีอำนาจหนึ่งที่ควบคุมจิตนั้นให้เป็นกลาง อำนาจที่เป็นกลางนั้นเป็นอุเบกขาธรรมะ เป็นอุเบกขาที่มีปัญญา เพราะรู้แล้วไม่เข้าไปข้องแวะในความรักความชัง จึงทำให้เรานั้นออกมาจากโทษทุกข์ภัยทั้งปวง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ทุกขณะ แม้เดิน นั่ง ยืน นอน ทำงานอยู่ เกิดอารมณ์ใดเกิดขึ้น จิตข้องในอารมณ์นั้น เราเปลื้องอารมณ์ออกทันที ให้จิตนั้นไม่ข้องในอารมณ์นั้น เมื่อไม่ข้องในอารมณ์นั้นที่ส่งเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ... ที่ส่งเข้ามาทางตา ก็คือ รูป... รูปนี้ไม่ชอบ รูปนี้ชอบ หรือเฉยๆ กลางๆ ถ้าชอบขึ้นมาก็เป็นโสมนัส ไม่ชอบก็เป็นโทมนัส กลางๆ ก็เป็นอุเบกขา

ความโสมนัส โทมนัส อุเบกขา เกิดขึ้นที่การสัมผัสแห่งจิตที่เข้าไปข้องแวะในรูปเหล่านั้น... อาการของการเข้าไปรู้เข้าไปยึดเหนี่ยวในสภาพธรรมนั้น เรียกว่า “วิญญาณ” วิญญาณอาศัยอยู่ในฐานของการรู้แต่ละฐานนั้น เช่น

วิญญาณที่อาศัยตา เรียก จักขุวิญญาณ,

วิญญาณที่อาศัยหู เรียก โสตวิญญาณ,

วิญญาณที่อาศัยทางจมูก ดมกลิ่น เรียก ฆานวิญญาณ,

วิญญาณที่อาศัยทางลิ้มรส เรียก ชิวหาวิญญาณ,

หรือ กายวิญญาณ หรือ มโนวิญญาณ ...เรียก วิญญาณ ๖

วิญญาณทั้ง ๖ ก็คือจิตดวงเดียวเท่านั้นเอง แต่มันส่งไปทำหน้าที่ในแต่ละช่อง ถ้ามันรับรู้ทางช่องใดช่องหนึ่ง อีก ๕ ช่องก็จะหยุดการทำงาน เพราะมันจะไปแค่ส่วนเดียว แต่มันโลดแล่นได้อย่างรวดเร็ว มันเคลื่อนไหวดูเหมือนกับว่าเป็นสภาพธรรมที่ทำงานใกล้เคียงหรือพร้อมกัน แต่จริงๆ นั้นไม่ใช่ ถ้ามันอยู่ที่ตา มันก็จะไม่มาที่หู ถ้าอยู่ที่หูก็ไม่มาที่จมูก ที่ตา มันก็มีเฉพาะช่องใดช่องหนึ่ง เราก็ควบคุมจิตไว้ให้ตั้งมั่นอยู่ที่กายนี้รูปนี้ให้เป็นกลางๆ เสียงที่เข้าไปก็พิจารณาอย่างเป็นกลางๆ หรือรูปที่เข้ามาก็มองอย่างเป็นกลางๆ...

การมองเป็นกลางๆ นั้น ทำให้เรารู้เท่ารู้ทัน... รู้เท่ารู้ทันในสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นทางช่องทาง (อายตนะ) ที่รับเข้ามา เช่น เรารับเสียงเข้าไป เราก็รู้เท่าทัน ไม่เหนี่ยวยึดปุ๊บ.. เรารู้เท่าทัน คือ เราพิจารณา พิเคราะห์พิจารณาเลือกเฟ้น แยกแยะให้เห็นประเด็นที่เป็นเหตุเป็นผล อะไรเป็นคุณเป็นโทษ อะไรเป็นของมีค่าไม่มีค่า อะไรเป็นธรรมดำธรรมขาว การแยกแยะต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น เรียกว่า การวิจัยธรรมะเกิดขึ้น

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้