posttoday

ธรรมปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้งในธรรม ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (ตอน ๖)

01 สิงหาคม 2555

ความเข้าใจความเป็นไปเช่นนี้ ตถตา... ไม่เปลี่ยนไปจากนี้ อวิตถตา... ไม่แปรเป็นอย่างอื่น อนัญญถตา... เรียกว่า หลัก “อิทัปปัจจัย”...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ความเข้าใจความเป็นไปเช่นนี้ ตถตา... ไม่เปลี่ยนไปจากนี้ อวิตถตา... ไม่แปรเป็นอย่างอื่น อนัญญถตา... เรียกว่า หลัก “อิทัปปัจจัย”... เป็นการมองสอดส่องเห็นความจริงในความสืบเนื่องของความเป็นเช่นนี้ว่า อาศัยสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น... เรียกว่า “ปัจจยาการ” หรือเรียกให้ไพเราะว่า “ปฏิจจสมุปบาทธรรม” อันแสดงความจริงที่เป็น “อริยสัจ” ที่เป็นสัจจะขั้นสูงสุดที่แสดงตัวกฎในธรรมชาติตามธรรมนิยาม...

เรายกความจริงที่เป็นตัวกฎธรรมชาติ ที่เห็นความจริงว่า มีความเกิดดับเป็นปกติ มีความผันแปรเป็นธรรมดา ไม่มีความเป็นตัวตนบุคคลเราเขา ให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เคลื่อนไหวไปตามเหตุตามปัจจัย และด้วยการเข้าใจความจริงขั้นสูงสุดดังกล่าว จึงสามารถปักธงธรรมไว้กลางฐานจิตของเราด้วยความจริง (สัจธรรม) เพื่อความเข้าใจความเป็นธรรมดา เพื่อออกมาจากภาวะวิถีแห่งความไม่รู้นั้น อันเป็นสิ่งที่เราควรตั้งไว้ในจิตใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อขจัดความไม่รู้ เพื่อให้การรู้นั้นไม่เป็นโทษ รู้นั้นเป็นคุณ รู้นั้นเพื่อเข้าถึงคำว่า “ตถาคตโพธิสัทธา” จึงกระทำสัตยาธิษฐาน ว่า

ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ขจัดภัย ตราบเท่าชีวิตจะหาไม่ ที่สุดคือพระนิพพาน...

การรู้จักพิจารณาดังกล่าวนั้นทำให้เราเป็นชาวพุทธ เป็นพุทธมามกะที่ถูกต้อง เป็นพุทธมามกะที่เกิดขึ้นจากความรู้คุณในพระพุทธศาสนา จึงตั้งคุณขึ้นในจิตเป็นศรัทธาคุณ ให้เกิดพลังแห่งความศรัทธา คือความเชื่อในสิ่งนี้ว่ามีประโยชน์อย่างนี้ ด้วยมีความเข้าใจสิ่งนี้ถูกต้องตามธรรม เรียกว่า มีความเชื่อถือที่อบรมความรู้ ความรู้อบรมความเชื่อ จนเกิดเป็นพลังแห่งความเชื่อที่มีความรู้เป็นตัวกำกับอยู่... รู้ สิ่งนี้เป็นจริงอย่างนี้ และมีประโยชน์อย่างนี้ จึงเชื่อในสิ่งนี้ เพราะรู้คุณ... ความรู้คุณจึงให้เกิดความศรัทธา... ถ้าเราไม่รู้คุณ เราก็ไม่มีศรัทธา ถ้าเราไม่รู้คุณในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่ศรัทธา... จะสดับตรับฟังธรรม ก็ฟังไปอย่างนั้น...

ถ้าเรารู้จักแยกแยะแจกแจง แสดงให้เห็นความจริงอย่างนี้ เห็นคุณเห็นโทษอย่างนี้ได้เราก็เป็นผู้มีปัญญา ย่อมอบรมตนนั้นให้มีกำลังที่ควบคุมความสำนึก เพื่อให้ความสำนึกนั้นมีมโนธรรม รู้จักประพฤติธรรม รู้จักการบูชาธรรม สมควรแก่ธรรม เพื่อให้ถึงประโยชน์โดยธรรม... การจะให้ถึงรู้คุณ เข้าถึงคุณค่าดังกล่าวได้ จึงต้องมีอำนาจหนึ่ง เรียกว่า “สติปัญญา”...

สติปัญญานี้ เมื่อเกิดขึ้นในจิตของผู้ใด ย่อมเป็นสมบัติอันยิ่งใหญ่เหนือสมบัติในโลกทั้งปวง สามารถแปรสภาพจากบุคคล ปุถุชน... สู่ความเป็นอริยบุคคลได้ แปลงค่าจิตที่เป็นอกุศล... เป็นกุศล อารมณ์ที่ไม่ดี... เป็นอารมณ์ที่ดี ทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง... เป็นทัศนคติที่ถูกต้อง และพฤติกรรมที่เป็นอกุศล ไม่ดี ไม่ชอบด้วยธรรมนั้น... ก็เป็นพฤติกรรมที่ชอบด้วยธรรม ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นอกุศลกรรมทั้งหลาย... สามารถเปลี่ยนสามัญญภาพ สู่จริยภาพได้ ด้วยการใช้อำนาจ “สติปัญญา” ควบคุมกาย วาจา ใจ เพื่อก่อการสุจริตและความทุจริต... เราจึงเห็นว่าการสุจริตทำได้ยากมาก หากขาดอำนาจธรรมสติปัญญา ดังนั้น หมายความว่า อำนาจธรรมที่เป็นสติปัญญารู้เข้าใจดังกล่าว จึงเป็นสามัญสำนึกอันยิ่งที่ให้เรารู้จักควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เกิดสุจริต... สุจริตนั้น ทำได้ยากมาก

คำว่า “สุจริต” ก็คือมุ่งไปหาสัจจะ สุจริตนั้นจะเป็นคุณที่เกิดขึ้นจากสัจจะ ให้ผลเป็นความเยือกเย็น สงบ ให้ผลเป็นความสว่าง ความสะอาด เกิดขึ้น เราก็ควบคุมให้มีความสุจริตเป็นเบื้องต้น เป็นสุจริตที่เราไม่ทำความชั่วทั้งปวง และทำความดีให้ถึงพร้อม... การทำความดีให้ถึงพร้อมเป็นกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ด้วยกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓... กุศลกรรมบถ ๑๐ แสดงความเป็นวิสัยของบัณฑิต ผู้ที่ควรคบหา ส่วนอกุศลกรรมนั้น ที่สืบเนื่องกาย วาจา ใจ ที่ทุจริต เป็นเรื่องของคนพาล

ความเป็นคนพาลหรือความเป็นบัณฑิตให้แสดงอยู่ที่กุศลและอกุศลในทั้ง ๓ ทาง ถ้าพวกเราทั้งหลายต้องการพัฒนาตนให้เป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้มุ่งสู่ความประเสริฐ สู่ความเจริญสืบเนื่อง ก็ต้องตั้งอยู่ในกุศลกรรมที่มีความเป็นไปในสุจริตทั้ง ๓ ทาง ทั้งกาย วาจา ใจ เมื่อเราตั้งดีแล้วด้วยสติดังกล่าว เราเข้าใจดีแล้ว เราก็ทำกาย วาจา ใจให้สงบ... ความสงบนี้ เราเรียกว่า ความสังวรแวดระวัง สังวรสำรวม สำรวมที่อินทรีย์... อินทรีย์ที่ธาตุรู้... ธาตุรู้ดังกล่าว เราเรียกว่าวิญญาณ ๖ คือวิญญาณที่อาศัยอยู่ทางอายตนะ อายตนะทั้ง ๖ นั้น ควบคุมไว้ในฐานที่ตั้งแห่งตัวรู้

บัดนี้ ให้รู้จักการควบคุมจิต... เป็นการควบคุมจิตให้อยู่ในฐานที่ตั้ง เช่น เราตั้งจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก สงบอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก เอาลมเป็นที่ตั้งของจิต... เอาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นที่ตั้งของจิต... จะเอาส่วนหนึ่งส่วนใดในอวัยวะน้อยใหญ่เป็นที่ตั้งของจิต... หรือจะเอารูปนี้หรือกายนี้ทั้งหมดเป็นที่ตั้งของจิต ก็ย่อมทำได้... หรืออาศัยอิริยาบถเคลื่อนย้ายถ่ายเทในทั้งอิริยาบถใหญ่หรือน้อย ก็ทำได้... เราตั้งจิตเข้าไปที่รูปที่กายนี้ ไม่ว่าตั้งอยู่ที่ลม ที่อวัยวะน้อยใหญ่ ในธาตุ ในสภาพธรรมทั้งหลาย ก็คือตั้งในกายนี้ ก็คือตั้งตัวรู้เข้าไปที่กายนี้ ให้รู้เต็มที่อยู่ที่กายนี้ รู้เต็มที่ รู้อยู่กับที่ ก็คือ กำหนดรู้อยู่ที่กายนี้ ไม่ส่งส่ายจิตออกไปในเรื่องอื่นใดเลย และให้รู้เป็นกลางๆ

คำว่า “รู้เป็นกลางๆ” นั้น เป็นอำนาจของความไม่ข้องแวะกับความรัก-ความชัง รู้เพียงแต่ว่ารู้ ไม่ปรุงเข้าไปหาความชอบและไม่ชอบ เหมือนเรารู้อยู่ที่วัตถุอันหนึ่ง ที่เราไม่แสดงความรู้สึกเข้าไปว่า “เอ๊ะ วัตถุนี้ ถูกใจหรือไม่ถูกใจ คือมอง หรือรู้สักแต่ว่ารู้ ไม่เข้าไปปรุงแต่งในสิ่งที่รู้นั้น จึงทำให้เกิดเป็นอุเบกขา ไม่เข้าไปอยู่ในอารมณ์

เมื่อไม่ติดในอารมณ์ อำนาจของนิวรณ์ก็ไม่เกิด เพราะรูปนามไม่ก่อตัวขึ้นในดวงจิต...

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้