posttoday

อาทิตย์ที่ ๒๒ ก.ค. บูชาธรรมณ วัดพระแก้ว (ตอน ๓)

20 กรกฎาคม 2555

พระพุทธศาสนาได้ปูพื้นฐานความคิดไปสู่การมีจิตศรัทธาอย่างมีขั้นมีตอน ตั้งแต่เป็นผู้รู้จักคิดเองเป็น

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

พระพุทธศาสนาได้ปูพื้นฐานความคิดไปสู่การมีจิตศรัทธาอย่างมีขั้นมีตอน ตั้งแต่เป็นผู้รู้จักคิดเองเป็น มิใช่ช่างถามแต่ส่วนเดียวโดยไม่รู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเองเลย กลายเป็นพวกกะถังกะถี! ที่ชอบขี้ระแวงสงสัย มีวิตกจริตจนเสียรูปจิต ให้ดำรงอยู่ในวิถีวิปลาสจิต จนยากที่จะเรียนรู้รับธรรม จึงให้มีทิฏฐิวิบัติ ขาดสมบัติอันควรได้...ควรเป็น ให้ยากต่อการเข้าสู่กระแสธรรม เพื่อบำเพ็ญให้เกิดประโยชน์ในฐานะมนุษย์ที่ประเสริฐ อันควรดำเนินชีวิตด้วยการประพฤติธรรม ทั้งนี้เพราะไม่สามารถปลูกสร้าง “ต้นศรัทธา” ให้เกิดขึ้นในดินแดนธรรมได้ ดุจดังหมู่ชนในสังคมยุคกระแสวัตถุนิยมที่อ่อนแอในศรัทธา ล้มเหลวในความคิด และล่มสลายในการประพฤติธรรมเป็นส่วนใหญ่ เราจึงเห็นการปฏิเสธความจริงอันควรแก่ความศรัทธา ได้แก่ กรรมสัทธา วิปากสัทธา กัมมัสสกตาสัทธา และในที่สุดจึงเข้าไม่ถึงตถาคตโพธิสัทธา เมื่อเข้าไม่ถึง “ตถาคตโพธิสัทธา” เราก็จะต้องมานั่งถาม ยืนถาม นอนถาม กันเสมอว่า ทำบุญแล้วได้อะไร กรรม-วิบาก มีจริงไหม! ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว เป็นจริงไหม... พระนิพพานมีจริงไหม!? อะไรคือคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา!? พระพุทธเจ้าสอนอะไร!? และมีอีกคำถามหนึ่งที่อาตมาเคยเจอด้วยตนเองจากอาจารย์มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือระดับดอกเตอร์คนหนึ่งถามอาตมาว่า “พระพุทธเจ้ามีจริงไหม!?” สมัยนั้นอาตมาเพิ่งออกจากป่า เพราะปฏิบัติเจริญธรรมอยู่ในป่าเป็นนิสัย จึงออกจะดุเดือดเมื่อเจอคำถามอย่างนี้ แต่จำไม่ได้ว่าพูดอะไรไปบ้าง สุดท้ายแห่งเรื่องยามเช้ามืด อาจารย์คนนี้แกนำพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมา... และแกไม่เคยมาฟังธรรมอีกเลย เรียกว่า เอวังด้วยประการฉะนี้จริงๆ...

“ความศรัทธา” ในความหมายธรรมจึงเป็นพลังงานที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อการขับเคลื่อนของจิตวิถีไปบนมรรคาแห่งธรรมเพื่อการพัฒนาปัญญา หรือเพื่อความเจริญแห่งความคิดอันถูกชอบโดยธรรม ซึ่งจะทำให้รู้จักสร้างทัศนคติที่มีเหตุผล ไม่เชื่อหรือยึดถือสิ่งใดๆ เพียงแค่เพราะฟังตามกันมา... ตลอดจนรู้จักคุ้มครองสัจจะ ยินดีเปิดใจรับฟังธรรมทุกทฤษฎีคำสอนด้วยใจเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินใจ และไม่ยึดติดในความคิดของตนเองว่าถูกจริง แน่กว่า จนปฏิเสธความจริงแท้ อันควรชอบโดยธรรม จึงนำไปสู่ความไม่ลำเอียง ให้เกิดปัญญาจากการรู้จักพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผลตรงธรรม รู้จักน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ หากติดขัดรู้จักสอบถามเพื่อมุ่งปัญญา ดังนั้นปัญญาจึงเกิดขึ้นจากความศรัทธาที่ถูกต้องตรงธรรมและความศรัทธาที่ถูกต้องตรงธรรม ก็จะอบรมให้เกิดปัญญายิ่งขึ้น บนกระบวนการความเพียรชอบ ความระลึกรู้ชอบ และความมีจิตตั้งมั่นชอบ จนเกิดปัญญาอันชอบ... ความศรัทธาจึงเป็นประตูนำชีวิตไปสู่ความเจริญ ด้วยการรู้จักคิดพิจารณาอย่างมีเหตุผล จนเกิดความเข้าใจ มีปัญญาเกิดขึ้น เพราะรู้แจ้งจริงตรงตามธรรม

ผู้มีศรัทธาในความหมายของพระพุทธศาสนา จึงไม่ด่วนเชื่อในเรื่องใดๆ ที่ได้ยิน ได้ฟังมา ก่อนจะรู้จักเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายและถูกต้องตรงธรรม อันหมายถึง มีประโยชน์โดยธรรม เป็นกุศล ไม่มีโทษ จึงควรแก่ความมีศรัทธา ความศรัทธาในความหมายธรรมจึงเป็นคุณประโยชน์ส่วนเดียว ไม่มีโทษเลย เพราะเกิดจากการมีปัญญาพิจารณาดีแล้วก่อนที่จะศรัทธา... ดังนั้นความศรัทธาจึงต้องควบคุมด้วยการพิจารณาโดยแยบคายที่ภาษาธรรมเรียกว่า กระบวนการโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีอยู่ ๑๐ วิธีการ อันควรแก่การศึกษาปฏิบัติอย่างยิ่งในสังคมทุกกาลสมัย ซึ่งวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการนั้น เป็นไปเพื่อกำจัดอวิชชาและเพื่อตัดรากเหง้าตัณหา อันเป็นอกุศลธรรมที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายมึนงงอยู่กับการดำเนินชีวิต ให้วิปลาสไปจากความจริง จนวิบัติจากคุณประโยชน์อันควร ทำให้เข้าไม่ถึงแก่นธรรมที่ปรากฏมีอยู่ในหลักธรรมอันแสดงให้เห็นในรูปธรรมนิยามที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติ... กระบวนการโยนิโสมนสิการ ซึ่งหมายถึงการทำในใจโดยแยบคาย เพื่อให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ อย่างมีเหตุผลตรงตามธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งที่สาธุชนควรศึกษา เพราะสามารถทำให้เราคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างถูกทาง คิดอย่างมีเหตุผล และคิดอย่างถูกผลได้น ซึ่งสรุปมี ๑๐ วิธีการ โยนิโสมนสิการ ได้แก่

๑. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา)

๒. วิธีคิดแบบแยกส่วนประกอบ

๓. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์

๔. วิธีคิดแบบอริยสัจ

๕. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์

๖. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก

๗. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม

๘. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม

๙. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน

๑o.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท

เมื่อกลับมาพิจารณาดูปุจฉาที่ตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่าสวดมนต์แล้วได้อะไร... ทำไมต้องไปสวดมนต์กัน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฯลฯ คำถามเหล่านี้ขอให้เป็นข้อพิจารณาของญาติโยมสาธุชนทั้งหลายในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน... เป็นประชาชนชาวไทย... เป็นพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... ช่วยกันตอบให้ตรงใจตนเอง โดยยึดข้อพิจารณาตามหลักธรรมที่อาตมาบรรยายมา เพื่อการประกอบความคิดให้ถูกกระบวนการพิจารณา จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ควรเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าไปรีบดูถูกคำถาม หรืออย่ารีบด่วนใจตำหนิ (ด่า) ผู้ถาม เพราะคำถามเหล่านี้จะยังไม่ยอมหมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด ตราบใดที่อวิชชายังไหลวนอยู่ในจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย m

อ่านต่อฉบับวันจันทร์