posttoday

อาทิตย์ที่ ๒๒ ก.ค. บูชาธรรม ณ วัดพระแก้ว (ตอน ๑)

18 กรกฎาคม 2555

ปุจฉา : กราบเรียน ท่านพระอาจารย์อารยวังโส ที่เคารพ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบเรียน ท่านพระอาจารย์อารยวังโส ที่เคารพ

ทราบว่ามีการจัดสวดมนต์ปฏิบัติธรรมที่วัดพระแก้ว ใคร่ขอทราบรายละเอียดและอยากจะทราบว่าการสวดมนต์ที่วัดพระแก้ว นั้น แตกต่างอย่างไรกับการสวดมนต์ที่วัดอื่นๆ... จำเป็นไหมที่จะต้องเดินทางมาด้วยความยากลำบาก เพื่อมาสวดมนต์หรือฟังธรรมที่วัดพระแก้ว อาจจะเป็นคำถามที่ห้วนๆ สั้นๆ ดูไม่เหมาะสม แต่น่าจะตรงใจหลายๆ ท่าน ที่ใคร่อยากจะทราบถึงความสำคัญของการสวดมนต์ปฏิบัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๒ ก.ค. ๒๕๕๕ นี้

พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธา

วิสัชนา : ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา คำว่า “ศรัทธา” ในพระพุทธศาสนานั้น เป็นธรรมขั้นต้นที่สำคัญยิ่งของบุคคลทั้งหลาย ที่เป็นอำนาจหรือพลังในการชักนำให้ขับเคลื่อนวิถีชีวิตมุ่งหน้าไปสู่ที่หมายแห่งความศรัทธานั้น ซึ่งหากรู้จักการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างมีระเบียบแบบแผนการปฏิบัติ ก็จะทำให้สามารถบรรลุจุดหมายได้อย่างรวดเร็วด้วยอำนาจแห่งความศรัทธาที่ชักนำไป... ซึ่งนั่นหมายถึงจะต้องเป็นความศรัทธาที่เกิดขึ้นในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์กับชีวิต จึงจะได้ชื่อว่าเป็นความศรัทธาที่ควรก่อให้เกิดขึ้นในดวงจิต ได้แก่ ความศรัทธาที่ตรงไปหาหลักธรรมที่เรียกว่า “ศรัทธาธรรม” ซึ่งจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อชีวิต เพิ่มพูนปัญญาในดวงจิต จึงจะได้อานิสงส์แห่งอำนาจธรรมมาอภิบาลรักษา ไม่ให้คิดผิด ประพฤติผิด หรือหลงผิดไปจากวิถีธรรม ด้วย “ศรัทธาธรรม” จะก่อเกิดอำนาจแห่งปัญญาให้คอยควบคุมดูแลความคิดนึกที่มีเหตุผลรองรับตรงตามวิถีธรรม ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีโอกาสผิดพลาดบ้าง แต่ก็สามารถกลับมาแก้ไขให้ถูกต้องได้ ไม่ดิ่งหลงไปในทางที่ผิดจนยากที่จะหวนคืนกลับมา

การมี “ศรัทธาธรรม” เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตไม่ชะงักกับการประกอบคุณความดี จะก้าวหน้าต่อไปในทิศทางที่มุ่งหมายอย่างถูกต้อง จนกว่าจะก้าวไปถึงที่สุดด้วยศรัทธาแห่งธรรม ซึ่งคอยกำจัดความสงสัย ความคลางแคลงใจให้หมดไป และกลับมาปลูกฝังความเชื่อมั่นอย่างมั่นคง ส่งเสริมการพัฒนาปัญญาให้เพิ่มพูน และก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย ซึ่งเติบโตได้ด้วย “การปลูกศรัทธาไว้อย่างมั่นคงแข็งแรงในแดนธรรม (พุทธศาสนา)” ที่เกิดขึ้นได้ด้วยการรู้จักพินิจพิจารณาอย่างมีเหตุผล รู้จักไต่สวนสืบสวนโดยการอ้างอิงกฎความเป็นธรรมดา ที่ปรากฏมีอยู่จริงในธรรมชาติ นั่นหมายถึง! เป็นความเชื่อมั่น (ศรัทธา) ที่เป็นไปตามความจริง ที่ไม่ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปคำสั่งสอน หรือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ให้คติธรรม อันเป็นไปเพื่อความรู้แจ้งในกฎธรรมชาติ ซึ่งทำให้มีสติปัญญาที่จะรู้จักคิดอ่านพิจารณาตรวจหาเหตุผลในเรื่องนั้นๆ ก่อนที่จะเชื่อมั่นว่าเป็นอย่างนั้น...เป็นอย่างนี้ได้ โดยให้หลักอ้างอิงว่า สรุปรวบยอดแห่งความคิด...ที่จะนำไปสู่การพูด...ทำนั้น จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยธรรมทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ที่เรียกว่า วิถีแห่งกุศลธรรมนั่นเอง ที่จะเป็นคำตอบสุดท้ายว่าใช่เลย สิ่งนี้ เรื่องดังกล่าวนี้ คู่ควรแก่การศรัทธาหรือเชื่อมั่น...ทั้งนี้เพราะไม่มีโทษ...มีแต่คุณประโยชน์ และคุณประโยชน์นั้นเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์อย่างแท้จริง...

การมี “ศรัทธาธรรม” เกิดขึ้นนั้น จะสะท้อนให้เห็นความจริงในจิตใจของเรา ว่า

๑.จะไม่สงสัย...ไม่เคลือบแคลง...และจะปลงใจเลื่อมใสแนบสนิทในพระผู้มีพระภาคเจ้า

๒.จะไม่สงสัย...ไม่เคลือบแคลง และจะปลงใจเลื่อมใสแนบสนิทในพระธรรมคำสั่งสอน

๓.จะไม่สงสัย...ไม่เคลือบแคลง...และจะปลงใจเลื่อมใสแนบสนิทในพระสงฆ์

๔.จะไม่สงสัย...ไม่เคลือบแคลง...และจะปลงใจเลื่อมใสแนบสนิทในไตรสิกขา (ศีล...สมาธิ...ปัญญา)

๕.เป็นผู้มั่นคงอยู่ในเมตตากรุณา ละจากความพยาบาทเบียดเบียนในเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้