posttoday

พุทธศาสน์...สู่ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาของประชาคมอาเซียน(ตอน ๗)

06 กรกฎาคม 2555

อันเป็นวิธีการจัดการปกครองที่มุ่งให้ศาสนจักรกับอาณาจักรเป็นเครื่องอุปการะแก่กัน ดังที่สังคมในปัจจุบันเริ่มเรียกร้องให้มีการให้ความรู้คู่คุณธรรมนั้นเอง

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

อันเป็นวิธีการจัดการปกครองที่มุ่งให้ศาสนจักรกับอาณาจักรเป็นเครื่องอุปการะแก่กัน ดังที่สังคมในปัจจุบันเริ่มเรียกร้องให้มีการให้ความรู้คู่คุณธรรมนั้นเอง เมื่อกลับมาพิจารณาดูว่า สังคมของประชาคมอาเซียน จาก ๑๐ ประเทศ มีแนวทางที่จะเคลื่อนไหวไปตามแนววิถีธรรมได้หรือไม่... เพื่อการเข้าสู่การเป็น One Community หรือความเป็นประชาคมเดียวกัน มีวิสัยทัศน์ และอัตลักษณ์อย่างเดียวกัน ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ ด้วยคติธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนมิได้มีความแตกต่างกันมากมาย ยังคงจัดรูปประชาคมรวมตัวกันอยู่ตามกลุ่มคติธรรมในแต่ละประเทศ ซึ่งจัดแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม

๑.กลุ่มคติธรรมทางพุทธศาสนา

๒.กลุ่มคติธรรมทางอิสลาม

๓.กลุ่มคติธรรมทางคริสต์

๔.กลุ่มคติธรรมทางฮินดู

ทั้งนี้ ในกลุ่มคติธรรมทางพระพุทธศาสนามี ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ในกลุ่มคติธรรมอิสลามมี อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ส่วนคติธรรมตามแนวศาสนาคริสต์นั้นมี ฟิลิปปินส์ โดยมีคติธรรมแบบฮินดูแทรกซึมอยู่บ้างเล็กน้อยในแต่ละประเทศ ซึ่งจะไม่นับว่าเป็นกลุ่มคติธรรมในประชาคมอาเซียนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาซึ่งได้อ้างอิงจากข้อมูลทางโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน รวม ๑๐ ประเทศ ที่มีประชากรมากกว่า ๖๐๐ ล้านคน เท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของประชากรโลก ที่แสดงให้เห็นว่า คติธรรมตามพุทธศาสนามีบทบาทสูงสุดในประชาคมอาเซียน และหากเพิ่มบวกสาม (+๓) เข้าไปในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ก็จะยิ่งเด่นชัดในกลุ่มประชาคมที่เสียงส่วนใหญ่เป็นคติธรรมแบบพุทธศาสนา ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังก้าวสู่การมีบทบาทสูงสุดในเวทีโลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนาวัฒนธรรม ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของกลุ่มประเทศบวกสาม (+๓) ดังกล่าว ที่หากผนึกกำลังร่วมกันเป็นประชาคมเดียวกัน ก็สามารถก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจโลกได้อย่างไม่ยากเลย หมายถึง ความเป็นประเทศที่มีคติธรรมแบบพุทธศาสนา ที่สามารถนำหลักธรรมเผยแพร่สู่อารยธรรมโลกได้ ดุจดังในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเกิดขึ้นได้และเป็นไปได้ อันจะเป็นคุณกับโลกอย่างแท้จริง

แต่อย่างไรก็ตาม หากเมื่อมองผ่านม่านความจริงที่กล่าวลงไป ก็จะพบกับข้อเท็จจริงที่เป็นสัจจะอันหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน แม้จะบวกสามเข้าไป นั้นก็คือ กลไกและนโยบายการเคลื่อนไหวภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งในภาคการเมือง สังคมที่ไม่ได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลักธรรมในพระศาสนา ดุจดังสมัยพุทธกษัตริย์ในชมพูทวีป ที่ทรงประกาศนโยบาย “รัฏฐาภิปาลโนบาย” การใช้อำนาจทางโลกเพื่อให้เป็นประโยชน์ทางธรรม เพื่อการนำอำนาจทางธรรมมาอภิบาลโลก เป็นไปน้อยมาก จะมีความเด่นชัดอยู่แต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ หลายประการ โดยเฉพาะความเป็นพุทธศาสนาที่แตกต่างกันไปตามนิกาย แม้จะอ้างอิงความเป็นพุทธศาสนาเหมือนกัน และใครกล้าปฏิเสธว่า การดำเนินงานขององค์กรศาสนาไม่มีปัญหาเชิงการขับเคลื่อน ทั้งนี้ เพราะการสืบเนื่องของพระพุทธศาสนาที่มีการปฏิรูปไปในแต่ละสมัย จนเกิดเป็นนิกายต่างๆ มากกว่า ๑๘ นิกาย หลังพุทธปรินิพพานเพียงแค่ ๑๐๐ ปี

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการนำ “พระพุทธศาสนา...สู่ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนในประชาคมอาเซียน” จึงอยู่ที่องค์กรพระพุทธศาสนาในแต่ละประเทศของกลุ่มอาเซียน ตลอดจนถึงบุคลากรที่ทำหน้าที่ทางด้านงานพระศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่จะกลับมาพิจารณากันดูให้ละเอียดว่ามีศักยภาพ ...คุณภาพ และประสิทธิภาพตรงตามพระพุทธศาสนาฉบับดั้งเดิมหรือไม่ เป็นสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมฤทธิผลหรือล้มเหลวต่อการสานใจร้อยจิตประชาคมอาเซียนให้เป็นหนึ่งด้วยหลักธรรม ดังตัวอย่างที่ยกขึ้นมาแสดงให้ดูพอเข้าใจว่า เรื่องการนำหลักพระพุทธศาสนามาใช้เป็นนโยบายปกครองประเทศนั้น หรือการเชื่อมโยงประชาคมในภูมิภาคจากหลากหลายประเทศให้เป็นประชาคมเดียวกัน เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นอกจากนี้ เคยมีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมมาแล้ว ดังมรดกธรรมที่ชาวโลกยังกล่าวถึงในนโยบาย “รัฏฐาภิปาลโนบาย” ที่พระเจ้าอโศกมหาราชนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประชาคมในภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเผยแพร่หลักนโยบายธรรมาธิปไตยดังกล่าวไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ กรีซ อียิปต์ ซีเรีย ศรีลังกา สุวรรณภูมิ แคชเมียร์ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นคุณประโยชน์ของนโยบายการปกครองดังกล่าวที่มิใช่แสดงผลเชิงความรู้สึกทางจิตวิญญาณอย่างเดียว แต่เป็นนโยบายเชิงรูปธรรมที่ให้ผลดีในการปฏิบัติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนาวัฒนธรรม “ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่คนในทุกศาสนาสามารถถือปฏิบัติตามได้ โดยไม่ขัดแย้งต่อคำสอนของในแต่ละศาสนา” นโยบายการปกครองโดยธรรมดังกล่าวจึงสามารถยึดเหนี่ยวร้อยเรียงจิตใจให้ประชาชนอยู่ร่วมกัน มีวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์อันเดียวกันได้ โดยเฉพาะนโยบายธรรมวิธานนั้น ทำให้ประชาชนเชื่อถือระบบคุณธรรมจากภาครัฐ จึงให้เกิดความเคารพในระบบราชการที่ไม่สองมาตรฐาน m

อ่านต่อฉบับวันจันทร์