posttoday

พุทธศาสน์สู่ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาของประชาคมอาเซียน (ตอน๑)

28 มิถุนายน 2555

จากการที่พระอาจารย์ได้ไปเมตตาบรรยาย ณ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ในหัวข้อเรื่อง

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโสที่เคารพยิ่ง

จากการที่พระอาจารย์ได้ไปเมตตาบรรยาย ณ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ในหัวข้อเรื่อง “พระศาสนา ... สู่ยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในประชาคมอาเซียน” ... ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟัง ณ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ มิ.ย. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ในโครงการผู้นำแห่งอนาคต ที่มีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน เข้ารับการศึกษาอบรม เพื่อการก้าวสู่ผู้นำในอนาคตที่มีความรู้ มีวิสัยทัศน์ (Vision) ที่จะได้กล้าหาญเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศอย่างมีคุณธรรม (Ethics) ด้วยกระบวนการพิจารณาที่ประกอบด้วยปัญญาเชิงลึก สมบูรณ์พร้อมด้วยข้อมูลทางวิชาการ สนับสนุนเพื่อการดำเนินยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงของประเทศในวันบรรยายดังกล่าว พระอาจารย์ได้ให้ความรู้ที่มีประโยชน์มาก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความคิดความอ่านเชิงลึก

โดยเฉพาะหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาสังคมที่เป็นไปได้จริงๆ สามารถจับต้องมองเห็นได้... ซึ่งมีหลายส่วนที่ควรเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ ร่วมเรียนรู้ และเมื่อทราบว่าพระอาจารย์ได้เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ด้วยแล้ว จึงเห็นประโยชน์ในการอาราธนาขอพระอาจารย์ช่วยเล่าเรื่องและเปิดเผยข้อมูลจากการบรรยายเรื่องดังกล่าวในวันนั้นตามที่เห็นควร เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์แห่งปัญหาสังคม จะได้มีปัญญาจัดกระบวนการคิดที่ถูกต้อง... เพื่อนำตนเองและสังคมออกจากปัญหาดังกล่าวได้... จึงเชื่อว่า หากทุกๆ คนได้ติดตามฟังอย่างละเอียดจากเนื้อหาการบรรยายในวันนั้น คงจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และหวังว่าสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์) จะได้เผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อสังคมในโอกาสต่อไป

จึงกราบเรียนมา

ด้วยความศรัทธา

น.อ.ดร.พญ.รุ่งทิพย์ เมธะสิริ

โรงพยาบาลภูมิพลฯ

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไม่กี่เพลาก็จะเข้าฤดูฝนของปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ พระสงฆ์จะได้หยุดจาริกเพื่ออยู่จำพรรษาในอาวาสตามเหมาะควร ชาวไร่ ชาวนา ก็จะได้ไถหว่านปลูกข้าวทำนากันตามฤดูกาล เพื่อการได้มีบริโภคเป็นไปเพื่อการดำรงชีวิต ในพระพุทธศาสนาของเรา พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นว่า การออกประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้ เปรียบดุจการทำไร่ทำนาของชาวบ้าน ซึ่งหวังการได้มีบริโภคเหมือนกัน เพียงแต่การทำนาในพระศาสนา เป็นไปเพื่อการมีบริโภคตามความหมายแห่งธรรมนั้น อันมีผลเป็นอมตะ ให้สิ้นซึ่งความเศร้าโศกและความทุกข์ทั้งปวง หมดสิ้นการขวนขวายทะยานอยากอีกต่อไป โดยทรงกล่าวแสดงให้เห็นอุปมาอุปไมยว่า

“ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน

ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ

ใจเป็นเชือก มีวาจาคุ้มครองแล้ว สติเป็นผาลและประตัก...

... เป็นผู้สำรวมในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้า คือ วาจาอันสับปลับด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง นำไปถึงความเกษมจากโยคะ ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก เราทำอย่างนี้แล้ว นาที่เราทำนั้น ย่อมมีผลอมตะ...”

ดังนั้น ในขณะที่ชาวบ้านกำลังหว่านกล้าดำนากันอยู่เพื่อทำไร่ทำนาตามฤดูกาล พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็จะต้องเร่งหมั่นเพียรทำนาตามแนวพระพุทธศาสนาโดยอ้างอิงองค์ธรรมตามที่กล่าวมา เพื่อผลแห่งความเป็นอมตธรรม ได้แก่ พระนิพพาน... นี่คือความเป็นจริงที่สวยงามบริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนา จึงสามารถนำมาเป็นแนวเทียบเคียงได้อย่างไม่ขัดแย้งกับโลก แม้โลกจะขัดแย้งกับธรรมซึ่งเป็นไปอย่างปกติ สมดังที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวยืนยันในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า... “...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่ขัดแย้งกับโลก แต่โลกย่อมขัดแย้งกับเรา ผู้กล่าวเป็นธรรมย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆ ในโลกนี้ สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่า ไม่มี แม้เราก็กล่าวว่า สิ่งนั้นไม่มี สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่า มี แม้เรากล่าวสิ่งนั้นว่า มี...”

จากพระภาษิตที่กล่าวมาเพื่อประกอบการพิจารณาให้เห็น สามัญลักษณะของพระพุทธศาสนา ที่ให้ความสำคัญกับสัจจธรรมเป็นที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า “สิ่งที่มีค่าความรู้ในสิ่งทั้งหลายที่ถูกรู้ คือ ความจริงที่เป็นสัจจธรรม” แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธในความจริงชั่วคราวที่โลกสมมติบัญญัติขึ้น ที่เรียกว่า สมมติสัจจะ หรือแม้ความจริงที่ลึกยิ่งกว่าสมมติสัจจะ ซึ่งรู้ได้จากการวิเคราะห์ทำนองวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ที่เรียกความจริงขั้นนี้ว่า สภาวสัจจะ หรือในขั้นปรมัตถะ ซึ่งเป็นความจริงที่อยู่นอกเหนือวิสัยของประสาทสัมผัส ความจริงขั้นนี้ดูออกจะลึกลับ แต่สามารถคิดเชิงตรรกวิทยาได้ หรือใช้วิธีคิดอนุมาน (Deduction) หรือคิดอุปมาน (Induction) ตามหลักเหตุผลได้ ...ซึ่งทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความจริงขั้นใดๆ ก็ย่อมยอมรับได้ หากไม่ขัดแย้งกับสัจจธรรม นี่คือหลักการวัดผลการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา... ซึ่งเมื่อเข้าใจในหลักดังกล่าว ก็คงจะไม่ยากที่จะนำหลักธรรมมาบริหารโลกอย่างไม่ขัดแย้งต่อกันในเชิงความคิด...

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้