posttoday

วัดกัลยาณมิตรเป็นต้นแบบเซียมซีในสำนักต่างๆ

20 พฤษภาคม 2555

คนไทยรู้จักเซียมซีเกือบทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักที่มาที่ไปของ “เซียมซี”

โดย...สมาน สุดโต

คนไทยรู้จักเซียมซีเกือบทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักที่มาที่ไปของ “เซียมซี” วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ย่านธนบุรี มีคำตอบ เพราะในหนังสือประวัติวัดกัลยาณมิตรที่พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของกระทรวงการคลัง ประจำปี 2553 ได้เล่าถึงความเป็นมาของใบเซียมซีไว้อย่างละเอียด

ก่อนอื่นลองอ่านสำนวนใบเซียมซีใบที่ 1 และที่ 12 จาก 28 ใบดูว่ามีอรรถรสน่าฟังเช่นไร

เซียมซีใบที่ 1 พระพุทธไตรรัตนนายก (ซำปอกง) วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ธนบุรี กรุงเทพฯ

(ข้อความ) ใบที่หนึ่งสมมาตรปรารถนา ทายไว้ว่ามีคนชุบอุปถัมภ์ หมายสิ่งใดในจิตคิดจะทำ ว่าคงสำเร็จการประมาณมี แต่ช้าๆ จึงสมอารมณ์ปอง ทั้งพวกพ้องปรีดิ์เปรมเกษมศรี ว่าอยู่เย็นเป็นสุขทุกเดือนปี แม้นใบนี้ถามโรคที่โศกกาย ว่าคงจะเบาบางเหมือนอย่างว่า หรือถามหาลูกหนี้พี่น้องหมาย ว่าคงจะพบพักตร์เหมือนทักทาย หรือถามหมายหาลาภไม่หยาบคำ ว่าช้าๆ คงจะสมอารมณ์นึก ได้ก้องกึกเหล่ากอเป็นข้อขำ ถามหาคู่ดีนักเหมือนชักนำ ขอจบคำที่หนึ่งรำพึงเอย

เซียมซีใบที่ 12 ของสำนักเดียวกัน มีข้อความว่า

ใบที่สิบสองคนหนึ่งเดินนำหน้า คนหนึ่งว่าตามหลังมาทั้งสอง เปรียบเหมือนคนกับใบ้น้ำใจปอง พูดไม่คล่องแสนยากลำบากครัน ว่าจะมีคนชุบอุปถัมภ์ เหมือนถ้อยคำพาทีคนที่ฝัน เวลาตื่นหายไปร้อนใจครัน ให้ป่วนปั่นเปล่าๆ ไม่เข้าการ ถามหาคู่สู่สมภิรมย์พักตร์ ว่าร้ายนักจงแจ้งแถลงสาร ถามเป็นความว่าดีไม่มีวาน ถามถึงการเพื่อนรักประจักษ์ใจ ว่าคงจะได้สมอารมณ์นึก ที่ตกลึกจงแจ้งแถลงไข พบพี่ป้าลุงน้าเพื่อนอาลัย ถามหาลาภไม่สู้ดีเท่านี้เอย

สิ้นสุดใบเซียมซีแต่ละใบจะมีภาษาจีนกำกับ หากเป็นของเดิมออริจินัลต้องมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าแซ่ส่อง ชื่อเปลี่ยน เป็นผู้แปลงเซียมซีจีนเป็นไทยถวาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ติเลยว่าเป็นคำกลอน เพราะของจีนเขาก็เป็นคำกลอนเหมือนกัน”

ที่ยกมาเพื่อให้อ่านพอเป็นตัวอย่าง หากต้องการเสี่ยงเซียมซีว่าดวงชะตาเป็นอย่างไร ตกหมายเลขอะไร ต้องไปเขย่าติ้วที่หน้าหลวงพ่อซำปอกง หรือพระพุทธไตรรัตนนายกในวิหารใหญ่วัดกัลยาณมิตร แล้วจะรู้เองจะเป็นอย่างไร เพราะมีให้เสี่ยงทายตั้ง 28 ใบ

วัดกัลยาณมิตรเป็นต้นแบบเซียมซีในสำนักต่างๆ

 

หนังสือของวัดเล่าว่า เซียมซีวัดกัลยาณมิตรนั้นมีที่มานับร้อยปี ผู้ที่ทำเรื่องนี้ไว้ได้แก่ นายเปลี่ยน แซ่ส่อง โดยมีข้อความว่า

ไม้ติ้วเสี่ยงทาย

เซียมซี มีความหมายได้ว่า “เซียม” หมายถึง ไม้ติ้วเสี่ยงทาย “ซี” หมายถึงโคลงกลอน แปลเอาความได้ว่า สลากบอกผลเสี่ยงทายจากไม้ติ้วที่พิมพ์เป็นคำกลอน

ในขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า “เซียมซี น. ใบทำนายโชคชะตาตามศาลเจ้าหรือวัด มีเลขหมายเทียบกับเลขหมายบนติ้วที่เสี่ยงได้ (จ.)”

เซียมซีมีพัฒนาการที่ยาวไกล ย้อนไปถึงพันปีในประเทศจีน เริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ้อง มีอักษรจีนและสัญลักษณ์สำหรับเสี่ยงทายไว้ ตัวอักษรที่พบมีทั้งเขียนไว้บนเครื่องบรอนซ์ และเขียนไว้บนกระดูกสัตว์ เช่น วัว ควาย และกระดองเต่า ต่อมาได้เกิดตำราเกี่ยวกับการทำนายและการเปลี่ยนแปลง คือ ตำรา “อี้จิง” คำว่า “อี้” แปลว่า เปลี่ยน คำว่า “จิง” แปลว่า คัมภีร์ อธิบายความได้ว่า คัมภีร์ ที่บรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตตามกฎธรรมชาติ

จากต้นกำเนิดตำราอี้จิงจึงได้วิวัฒนาการมาเป็นคำทำนายและคำอธิบายคำทำนาย ซึ่งบรรดาผู้รู้ได้เขียนจารึกไว้ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนเชื่อว่ามีเทพเจ้าสถิตอยู่ สามารถทำนายได้ตามศาลเจ้า เกิดการเสี่ยงทายและคำทำนายขึ้น มีการคิดเครื่องเสี่ยงทายโดยใช้ไม้ไผ่ตัดผ่าแล้วเหลาเป็นซีกบางๆ จำนวนหลายอัน แล้วใช้สีเขียนเครื่องหมายเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรตรงปลายไม้ที่เหลา บรรจุลงในกระบอก มีการทำคำทำนายทั้งโชคร้ายและโชคดีจำนวนเท่ากับจำนวนไม้เหลาเหล่านั้น และกำหนดเป็นเครื่องหมายว่าคำทำนายใดตรงกับไม้เหลาอันใด เวลาจะเสี่ยงทายก็อธิษฐานและเขย่ากระบอกที่บรรจุไม้เหลา จนกระทั่งมีไม้เหลาอันใดอันหนึ่งหล่นลงมา ตรวจดูคำทำนายก็จะได้คำตอบ ซึ่งถือว่าเป็นการพยากรณ์จากเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา เครื่องเสี่ยงทายดังกล่าวเรียกว่า “ไม้ติ้ว” สำหรับเสี่ยงเซียมซี

กำเนิดเซียมซีในไทย

ส่วนต้นกำเนิดเซียมซีในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าเริ่มจากชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยและมีการตั้งศาลเจ้าขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีพิธีเสี่ยงเซียมซีเป็นของคู่กันด้วย จุดกำเนิดอาจมีตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรืออยุธยา ถ้ายึดจากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จ.ปัตตานี ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2116 เป็นหลักฐาน อาจกล่าวได้ว่าการเสี่ยงเซียมซีในประเทศไทยต้องมีมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี การเสี่ยงทายใบเซียมซีเกิดตามศาลเจ้าจีนทั่วไป โดยมีคำทำนายเขียนเป็นภาษาจีนไว้บนแผ่นไม้เนื้อแข็งหรือผนังศาลเจ้า ซึ่งเซียมซีจัดสัดส่วนเป็น 4 ประเภท คือ ดีเลิศ ดีปานกลาง และไม่ดี ต่อมาชาวไทยก็นิยมเสี่ยงเซียมซีด้วย จึงต้องอาศัยผู้รู้ภาษาจีนอ่านและแปลให้ฟัง

สำหรับกำเนิดใบเซียมซีที่มีการแปลเป็นภาษาไทย มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ เมื่อประมาณกลางรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเสี่ยงเซียมซีเกิดขึ้นที่พระวิหารหลวงหลวงพ่อโตวัดกัลยาณมิตร ซึ่งชาวจีนนับถือกันมาก ทำให้มีการจัดใบพยากรณ์ภาษาจีนขึ้นก่อน ต่อมาได้มีผู้สนใจและรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนที่ดีผู้หนึ่ง ได้ริเริ่มแปลเซียมซีภาษาจีนนั้นเป็นภาษาไทย บุคคลผู้นั้นชื่อว่า นายเปลี่ยน แซ่ส่อง ซึ่งมีภรรยาชื่อนางเมี้ยน ต่อมาใช้นามสกุล “ส่งแสงเติม”

ประวัติของนายเปลี่ยน แซ่ส่อง เท่าที่ค้นพบเป็นประวัติโดยสังเขปแบบ “ประวัติลูกเล่า” ตีพิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพภรรยานายเปลี่ยน คือ นางเมี้ยน ส่งแสงเติม ณ วัดสระเกศ วันที่ 24 ก.พ. 2519 ที่เล่าโดยนายโปร่ง ส่งแสงเติม ลูกชายคนที่ 5 เนื่องด้วยเป็นประวัติบอกเล่า จึงไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก ไม่มีกระทั่งวันเดือนปีเกิดของนายเปลี่ยน แต่สามารถคะเนได้จากนางเมี้ยน ซึ่งในประวัติบอกว่าเกิดเดือน ก.พ. 2425 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5

เขียนจารึกไว้ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนเชื่อว่ามีเทพเจ้าสถิตอยู่ สาม

วัดกัลยาณมิตรเป็นต้นแบบเซียมซีในสำนักต่างๆ

ารถทำนายได้ตามศาลเจ้า เกิดการเสี่ยงทายและคำทำนายขึ้น มีการคิดเครื่องเสี่ยงทายโดยใช้ไม้ไผ่ตัดผ่าแล้วเหลาเป็นซีกบางๆ จำนวนหลายอัน แล้วใช้สีเขียนเครื่องหมายเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรตรงปลายไม้ที่เหลา บรรจุลงในกระบอก มีการทำคำทำนายทั้งโชคร้ายและโชคดีจำนวนเท่ากับจำนวนไม้เหลาเหล่านั้น และกำหนดเป็นเครื่องหมายว่าคำทำนายใดตรงกับไม้เหลาอันใด เวลาจะเสี่ยงทายก็อธิษฐานและเขย่ากระบอกที่บรรจุไม้เหลา จนกระทั่งมีไม้เหลาอันใดอันหนึ่งหล่นลงมา ตรวจดูคำทำนายก็จะได้คำตอบ ซึ่งถือว่าเป็นการพยากรณ์จากเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา เครื่องเสี่ยงทายดังกล่าวเรียกว่า “ไม้ติ้ว” สำหรับเสี่ยงเซียมซี

นายเปลี่ยน ผู้แปลเซียมซี

นายเปลี่ยน เป็นชาวไทยแท้ เป็นลูกหลานชาวนานครชัยศรี อาศัยอยู่กับย่า ภายหลังย่าเลิกกับปู่จึงพานายเปลี่ยนมาอยู่กรุงเทพฯ และย่าได้สามีใหม่เป็นชาวจีนแซ่ส่อง นายเปลี่ยนจึงใช้แซ่ส่องตามพ่อเลี้ยง จากนั้นนายเปลี่ยนก็ถูกเลี้ยงดูอย่างจีน และได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือที่เมืองจีน นำวิชาความรู้โดยเฉพาะภาษาจีนกลับมา ทำให้ได้ติดต่อค้าขายกับชาวจีนในเมืองไทย และได้แต่งงานกับนางเมี้ยน ซึ่งมีพ่อเป็นชาวจีน แซ่ฉั่ว และมีแม่เป็นชาวไทย

ในประวัติว่านายเปลี่ยนชอบแต่งคำประพันธ์ เป็นนักอ่านที่สะสมหนังสือไว้มาก เช่น หนังสือเรื่องจีนสามก๊ก ฮั่นสิน ไซอิ๋ว จอยุ่ยเหม็ง ฯลฯ วรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ฯลฯ มีอยู่มากมายในตู้หนังสือ

นายเปลี่ยนประกอบอาชีพหลายอย่าง เช่น ทำหนังสือพิมพ์ อัดกระบอกเสียงจำหน่าย รับติดตั้งไฟตามงานวัด เป็นคนแรกที่คิดในการเปลี่ยนการใช้ตะเกียงเจ้าพายุตามงานวัดมาเป็นการใช้ไฟฟ้า โดยนายเปลี่ยนรับเหมาเช่ากระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าวัดเลียบมาประดับในงานภูเขาทอง วัดสระเกศ อาชีพสุดท้ายคือ เป็นเจ้าของโรงเรียน “เปลี่ยนบำรุง”

จะเห็นได้ว่า นายเปลี่ยน แซ่ส่อง ผู้แปลคำทำนายใบเซียมซีจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยเป็นผู้มีความสามารถสูง คือ แปลโคลงกลอนจีนเป็นความหมายภาษาไทย แล้วผูกกลอนเป็นร้อยกรองไทยขึ้นมาให้ตรงกับความหมายอีกที มีการผสมผสานพุทธปรัชญาไว้ด้วย ใบเซียมซีที่ปรากฏ ณ วัดกัลยาณมิตรในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่นายเปลี่ยนแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยนั้นได้พิมพ์ถวายวัด ต่อมาเมื่อทราบว่าทางวัดจำหน่าย “ใบซี” แก่ผู้มาเสี่ยงเซียมซี นายเปลี่ยนจึงได้เขียนคำแปลไว้บนแผ่นกระจกใสตามลำดับหมายเลข เพื่อให้คนไปยืนอ่าน เมื่อเสี่ยงแล้วได้หมายเลขใดจะได้ไปอ่านตามแผ่นกระจกที่เขียนไว้

วัดอื่นก๊อบปี้ใบเซียมซี

ความนิยมในคำทำนายของใบเซียมซีสำนวนที่นายเปลี่ยนเป็นคนแปลนี้แพร่หลายไปหลายวัดทั่วประเทศ เป็นสำนวนแบบเดียวกันไม่มีผิดเพี้ยน โดยที่ผู้อ่านหรือแม้แต่วัดก็อาจไม่รู้ต้นกำเนิดคำกลอนในใบเซียมซีที่ใช้อยู่ อาจเป็นเพราะเกิดจากแหล่งพิมพ์เดียวกันก็เป็นได้ ที่มีต้นฉบับอยู่แล้วจึงใช้ต่อๆ กันไป ส่วนลักษณะพิเศษในใบทำนายเซียมซีของนายเปลี่ยนคือ ต้นใบเซียมซีจะขึ้นด้วยคำว่า “ซำปอกง” ตามด้วยตัวเลขกำกับใบ ซึ่งปัจจุบันในเซียมซีที่วัดกัลยาณมิตรไม่ได้ขึ้นต้นด้วยคำนี้แล้ว ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเปลี่ยนแปลงเมื่อใด อนึ่ง ใบเซียมซีของวัดกัลยาณมิตรในปัจจุบันทางท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ได้จัดพิมพ์ให้ผู้เสี่ยงเซียมซีภายในพระวิหารหลวง สามารถหยิบได้ฟรีตามหมายเลขที่เสี่ยงได้ ถ้าจะทำบุญตามกำลังศรัทธาก็มีตู้บริจาคเซียมซี

ประวัติใบเซียมซีวัดกัลยาณมิตรจึงได้รวบรวมนำพิมพ์ใบเซียมซีสำนวนนายเปลี่ยน แซ่ส่อง ไว้ครบทั้ง 28 ใบ จากในหนังสืองานศพ นางเมี้ยน ส่งแสงเติม ภรรยานายเปลี่ยน ที่มีคำขึ้นต้นว่า “ซำปอกง ที่...” และลงท้ายไว้ว่า “ข้าพเจ้าแซ่ส่อง ชื่อเปลี่ยน เป็นผู้แปลงเซียมซีจีนเป็นไทยถวาย ท่านทั้ง