posttoday

ลูกหม้อวัดอนงค์รับหน้าที่สมการท่ามกลางความยินดีจากทุกฝ่าย

20 พฤษภาคม 2555

พระราชปัญญามุนี (ขิม ป.ธ.5) อายุ 80 ปี ลูกหม้อวัดอนงคาราม เป็นสมภารใหม่

โดย...สมาน สุดโต

พระราชปัญญามุนี (ขิม ป.ธ.5) อายุ 80 ปี ลูกหม้อวัดอนงคาราม เป็นสมภารใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากพระในวัดและญาติโยมรอบวัดล้นหลาม หลังจากมหาเถรสมาคมมีมติให้เป็นเจ้าอาวาสแทนเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่ถูกปลดเพราะหย่อนสมรรถภาพ และขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา

พระราชปัญญามุนี เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม พระอารามหลวง กล่าวว่า ได้เป็นสมภารพระอารามหลวงแห่งนี้โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน เนื่องด้วยสมภารรูปก่อนที่เป็นอดีตไปแล้วคือ พระเทพเวที ถูกมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ออกจากเจ้าอาวาส เพราะหย่อนสมรรถภาพเมื่อเดือน ม.ค. 2554 และเมื่อได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงแห่งนี้ก็ไม่มีความหนักใจแต่อย่างใด เพราะเป็นลูกหม้อที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยเป็นเด็กวัด 2 ปี แล้วบรรพชาเป็นสามเณรอีก 5 ปี เมื่ออายุครบบวชก็บวชที่วัดนี้เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2496 โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์

ปัจจุบันอายุ 80 ปี แปลว่าอยู่วัดอนงคารามมานานถึง 67 ปี รับใช้เจ้าอาวาสรูปก่อนๆ มาถึง 6 องค์ นับตั้งแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ที่เป็นสมภารปี 24492499 พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี) เป็นสมภารปี 24992511 พระเทพสุธี (พรหม) พระเทพวิสุทธิเวที (ไสว) พระสรภาณกวี (เจือ) และพระเทพเวที (ยิ้ม) หากนับลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่รูปแรก พระราชปัญญามุนี เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเป็นรูปที่ 12

สมภารใหม่ ซึ่งดำรงตำแหน่งปี 2554 เมื่ออายุ 79 ปี กล่าวเล่าเรื่องชีวิตสมณะว่า เมื่ออยู่วัดอนงค์ ไม่ว่าในฐานะใด ตั้งแต่เป็นเด็กวัดจนกระทั่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส จะเป็นผู้อาสารับใช้ทำงานสนองงานหลวงพี่ หลวงพ่อ ในวัดมาตลอด นอกจากนั้นก็สนใจพัฒนาและส่งเสริมการศึกษา จึงเป็นเลขานุการสำนักเรียนวัดอนงค์มาตั้งแต่ปี 2502 เป็นผู้ริเริ่มอบรมศีลธรรม ในศูนย์โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มาตั้งแต่ปี 2509 จนถึงปัจจุบัน จึงมีลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง

ลูกหม้อวัดอนงค์รับหน้าที่สมการท่ามกลางความยินดีจากทุกฝ่าย

 

อาตมาเป็นเด็ก เป็นเณร เป็นพระ อยู่ที่วัดอนงคารามตลอด เริ่มมาตั้งแต่จบ ป.4 อายุ 13 ปี ก็มาอยู่วัดนี้แล้ว ศึกษานักธรรมบาลี และทำงานในวัดมาตลอด ชีวิตในวัดทำงานมากกว่าเรียนหนังสือ ใครๆ ก็ชอบใช้ ไม่มีใครใช้ก็อาสาสมัครทำงานให้

เมื่อบวชพระมีอายุและพรรษามากขึ้น ได้เป็นพระครูปลัดฐานานุกรมของพระเทพสุธี (พรหม) ปี 2513 รุ่งขึ้น ปี 2514 เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ที่พระครูอุดมพิทยากร ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เดิมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) จากนั้นเป็นพระปริยัติโกศล ในปี 2532 และได้เลื่อนเป็นพระราชปัญญามุนีในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 ส.ค. 2547 ท่านบอกความในใจว่า ที่เลื่อนสมณศักดิ์ช้าเพราะเป็นคนไม่ค่อยเข้าเจ้าเข้านาย เป็นคนค่อนข้างแข็ง แต่ก็ช่วยเหลือครูอาจารย์ตลอด

เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาส ปี 2554 อายุ 79 ปี ก็มีคนถามเสมอว่า รู้สึกหนักใจไหม ลำบากไหม ท่านบอกไปเลยว่าไม่หนักใจ ไม่ลำบาก เพราะเคยเห็นอดีตเจ้าอาวาส ทำอะไรที่คนไม่ชอบก็ละเว้นอันนั้น ใครต้องการพบ มาเมื่อไรก็ได้ เป็นคนฟังเหตุผล ไม่เชื่อคนใกล้ชิด อาตมาเห็นตัวอย่างมาแล้ว รู้ว่าอะไรเป็นอะไร พิจารณาตัดสินได้ จึงได้รับกำลังใจจากพระสงฆ์และศิษย์วัดในการขึ้นเป็นเจ้าอาวาส

การที่พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 หรือสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางในปัจจุบันเลือกให้เป็นเจ้าอาวาส ก็น่าจะนับอาวุโสด้านสมณศักดิ์ ที่ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2547 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระปริยัติกิจโกศล ปี 2532

เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูอุดมพิทยากร ปี 2514 ส่วนเปรียญธรรม 5 ประโยคนั้น สอบได้เมื่อปี 2499

พระราชสิทธิโกศล (เสฐียร ป.ธ. 7) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสอีกรูปหนึ่ง ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราช 5 ธ.ค. 2549 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสรถาณกวี ปี 2536 และเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค ปี 2505

ส่วนหลักการบริหารวัดท่านเล่าว่า เมื่อเป็นเจ้าอาวาสก็ไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ได้ตั้งเจ้าคณะในวัดทั้งหมดซึ่งมี 11 คณะ มาเป็นกรรมการบริหารดูแลศาสนสมบัติของวัด โดยคณะกรรมการจะเลือกประธานขึ้นมา 1 องค์ จะมีประชุมแถลงกิจการทุกเดือน

การที่ให้มีกรรมการ จะได้ช่วยกันหลายๆ คน และตัวสมภารเองก็ไม่มีความปรารถนาที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับการเงินการทองของวัด หรือใครเดือดร้อนจะร้องเรียนเรื่องอะไรก็ให้ไปพบกรรมการ ดังนั้น การเป็นสมภารของท่านจึงไม่หนักใจเลย เพราะหาคนมาช่วยบริหาร และพระสงฆ์ในวัดให้กำลังใจและความร่วมมือดี ตัวสมภารจะดูเป็นคนสุดท้าย

เมื่อถามถึงว่ารู้สึกภูมิใจเรื่องอะไรบ้างที่อยู่ที่วัดที่เป็นพระอารามหลวงแห่งนี้ ท่านเล่าว่า ความภูมิใจของท่านคือ ความเป็นลูกหม้อเติบโตมากับวัด และเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี) อดีตเจ้าอาวาส ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงยกย่องว่าเคร่งในวินัย

ในฐานะที่เป็นพระนักพัฒนาและส่งเสริมการศึกษา ดังนั้น เรื่องชอบคือการส่งเสริมการเรียนการศึกษา การสร้างโรงเรียน การสร้างคน และเคยสร้างสถานีอนามัยที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อมอบให้สาธารณชนได้ใช้สอย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงเปิดเมื่อปี 2527 ด้วยความเต็มพระทัยในฐานะที่เป็นศิษย์สำนักวัดอนงคารามด้วยกัน

ลูกหม้อวัดอนงค์รับหน้าที่สมการท่ามกลางความยินดีจากทุกฝ่าย

 

ในวัดอนงคาราม ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวุฒิศึกษา โรงเรียนเอกชนของวัดอนงคาราม ความเป็นมาของโรงเรียนแห่งนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าของโรงเรียนไม่มีทายาท ต้องการยกให้แก่ท่านโดยตรง แต่ท่านไม่รับ ขอให้ยกให้กับวัดจะยั่งยืนกว่า โดยตัวท่านจะเป็นผู้บริหาร เจ้าของโรงเรียนพอใจ และตั้งมูลนิธิชื่อแถมสร้อย ชอบฝึก มาอุปถัมภ์โรงเรียน ตัวหลวงพ่อเอง (พระราชปัญญามุนี) เป็นประธานมูลนิธิ

ท่านเล่าว่า ผลประโยชน์ของวัดอนงค์มีมาก เฉพาะที่ดินที่ลาดกระบังมีมากถึง 582 ไร่ ที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 500 กว่าไร่ ตึกแถวตลาดน้อยและรอบๆ วัดอนงค์อีกจำนวนมาก เมื่อท่านเป็นสมภารก็ดูแลรักษาผลประโยชน์ของวัด เรื่องที่เคยขัดข้องหมองใจระหว่างวัดกับผู้เช่าจนกระทั่งมีเรื่องฟ้องร้อง ท่านก็เรียกมาพูดคุยตกลงกันด้วยดี Win Win ทุกฝ่าย วัดก็ได้ประโยชน์ ผู้เช่าที่เป็นชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน

นอกจากนั้นท่านยังติดตามทรัพย์สินเงินทองของวัดที่เคยถูกเบียดเบียนไปโดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง โดยได้ยื่นฟ้องให้ส่งคืนเงินทองที่เบียดบังไปประมาณ 80 ล้านบาท คืนวัด เรื่องอยู่ในศาลขณะนี้

ความที่ท่านเป็นคนสมถะ รักการทำงานและการศึกษา บางฐานะ บางตำแหน่งที่ได้มาก็ไม่ได้ใช้ เช่น ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ประเภทวิสามัญตั้งแต่ปี 2537 แต่ยังไม่เคยบวชให้ใครเลยจนกระทั่งในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะสมภารองค์ก่อนมักจะพูดว่า ฉันเป็นสมภารอยู่นะ เท่ากับเป็นการปรามไม่ให้ล้ำเส้นนั่นเอง

ท่านจึงเป็นอุปัชฌาย์หมัน ไม่มีลูกศิษย์ที่เรียกว่า สัทธิวิหาริก และน่าจะเป็นเพียงองค์เดียวในประเทศไทย

ล่าสุด ท่านเป็นหนึ่งในบรรดาพระนักบริหาร 85 รูป ที่กรมการศาสนานิมนต์ให้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย ตามโครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปประกอบศาสนกิจ 8 วัน ในวันที่ 1320 มี.ค. 2555 ที่ผ่านมา

นี่คือประวัติของสมภารใหม่ ลูกหม้อวัดอนงคาราม พระอารามหลวง ที่เป็นสมภารท่ามกลาง ความยินดีปรีดาของพระสงฆ์และประสกสีกาวัดอนงคาราม วัดที่เจ้านายเคยเป็นลูกศิษย์