posttoday

คำถามที่ควรตอบของโยมสมานจากการเขียนธรรมส่องโลก (๑)

08 มีนาคม 2553

การเขียนตามความอยากจะเขียนคงไม่ยาก แต่การเขียนตอบเชิงบรรยายนั้น จะต้องค้นคว้า อ้างอิง หาหลักฐานประกอบ เป็นเรื่องยาก

การเขียนตามความอยากจะเขียนคงไม่ยาก แต่การเขียนตอบเชิงบรรยายนั้น จะต้องค้นคว้า อ้างอิง หาหลักฐานประกอบ เป็นเรื่องยาก

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : มีคำถามจากการสนทนากันในค่ำคืนของวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๕๓ ณ วัดป่าพุทธคยา จากโยมสมาน สุดโต แห่งหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ว่า ท่านพระอาจารย์ทำได้อย่างไร กับการเขียน “ธรรมส่องโลก” ทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ศุกร์ (สัปดาห์ละ ๕ วัน) และเอาเวลาที่ไหนมาเขียน ซึ่งปกติโดยทั่วไปทำได้ยากมาก เพราะต้องเขียนตอบ (วิสัชนา) ตามที่มีผู้ถาม (ปุจฉา) เข้ามา ซึ่งจะต้องอ้างอิงข้อมูลในการตอบเชิงพิเคราะห์ และไม่สามารถตอบสั้นๆ หรือเขียนตามใจชอบได้...ท่านอาจารย์สามารถดำเนินการเขียนคอลัมน์มา ๒ ปีกว่าในหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนเลย...

วิสัชนา : ขอเจริญพรสาธุชน ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมะทุกท่าน ขณะที่เขียน “ธรรมส่องโลก” ตามหัวข้อปุจฉานี้ อาตมากำลังโดยสารเครื่องบินเดินทางกลับจาก “โกลกาตา” สู่ “สุวรรณภูมิ” ด้วยเที่ยวบิน 9W0066 ของวันที่ ๓ มี.ค. ๒๕๕๓ เวลาในท้องถิ่น (อินเดีย) ๑๑.๔๕ น. สายการบินเจ็ต แอร์เวย์ โดยอาตมาและคณะศรัทธาชาวไทย รวมประมาณ ๑๕๐ กว่าชีวิต ได้ไปร่วมจัดงาน “วันมาฆบูชาโลก” ในชมพูทวีป (อินเดีย) ทั้งที่ เมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฏระ และที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร ราชคฤห์ มคธชนบท (รัฐพิหารปัจจุบัน) ซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดทั้ง ๒ แห่ง ได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากทุกๆ ฝ่าย ทั้งอาณาจักรและศาสนจักร โดยทางด้านประเทศไทยมีท่านเอกอัครราชทูตไทย และอัครราชทูตไทยประจำกรุงเดลี ประเทศอินเดีย มาร่วมเปิดงานมาฆบูชาโลก ที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร และทางด้านประเทศอินเดีย มีคุณชาลวัน กุมาร หัวหน้าวิปรัฐบาลของรัฐพิหาร มาร่วมเปิดงานในฐานะเจ้าของพื้นที่ แทน Chief Minister ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แสดงกุศลเจตนาอย่างดียิ่งในอันที่เป็นประโยชน์กับศาสนกิจสืบอายุพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป (อินเดีย) โดยเฉพาะการแสดงอาการตอบรับ และแสดงเจตนาสนับสนุนการสืบสานอายุพระพุทธศาสนาในเขตรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งในอดีตคือ แคว้นมคธอันยิ่งใหญ่ หนึ่งในสิบหกแว่นแคว้น แห่งชมพูทวีป ของจอมกษัตริย์พิมพิสาร พุทธมามกะในฐานะอุบาสกแก้ว ในพระพุทธศาสนา อันนับได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสืบสานสัมพันธภาพกับรัฐบาลฮินดู ในทางการกุศล ไม่ขัดแย้งขัดขวางกันอย่างที่หลายๆ ฝ่ายเคยมีวิตกกังวล

ในส่วนของศาสนจักรนั้น ได้รับพระเมตตาจาก พระสังฆราช หรือประมุขแห่งคณะสงฆ์ นิกายสยามวงศ์ (สยามอุบาลีวงศ์ มหานิกาย) จากประเทศศรีลังกา มาเป็นประธานในพิธีการเปิดงานมาฆบูชาโลก ท่ามกลางพระสงฆ์จากหลายชาติที่ส่งผู้แทนระดับปฏิบัติการในพื้นที่อินเดียมาร่วมงานดังกล่าว มีคำกล่าวของพระสังฆราชศรีลังกา ที่มีความหมายอันทรงคุณค่าต่องานการสืบอายุพระพุทธศาสนา ซึ่งหากมีโอกาสก็จะนำมาเผยแผ่ผ่านคอลัมน์แห่งนี้ และที่สำคัญในฝ่ายคณะสงฆ์ไทยเราก็ได้ให้การสนับสนุน โดยมีพระเถระหลายๆ รูปเดินทางไปร่วมงาน โดยเฉพาะในงานชุมนุมของสงฆ์ เพื่อฟังสวดบรรยายพระปาฏิโมกข์ (ศีล/สิกขาบทน้อยใหญ่ ๒๒๗ ข้อ ของพระสงฆ์) ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ในวันมาฆบูชา ที่ ๒๘ ก.พ. ๒๕๕๓ นั้น ได้รับความเมตตาจากพระธรรมกิตติเมธี เจ้าคณะภาค ๔๕๖๗ (ธ.) ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานสงฆ์ในพิธีดังกล่าว มีคำกล่าวปกิณกะธรรมหลายตอนที่ควรนำมาเสนอให้ศรัทธาสาธุชนได้อนุโมทนาในวิสัยทัศน์ของการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนถึงการดำเนินศาสนพิธีของท่านเจ้าคุณพระเทพโมลี แห่งวัดราชผาติการาม ที่ได้เดินทางไปร่วมในงานมาฆบูชาโลก ณ วัดเวฬุวันฯ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ก.พ.–๒๘ ก.พ. ก็น่าศรัทธายิ่งนัก ซึ่งคงจะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันต่อไป

หากสาธุชนท่านใดสนใจอยากชมภาพบรรยากาศวันงานมาฆบูชาโลกที่ประทับใจทุกๆ ฝ่าย ก็สามารถติดตามชมได้จากรายการเที่ยวละไม ไทยแลนด์เวิลด์ ทางไทยทีวีช่อง ๓ ของวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มี.ค. ๒๕๕๓ เวลายามเช้า ๐๖.๒๐ น. แม้เป็นภาพงานเพียงส่วนหนึ่ง ก็คงจะเป็นคำตอบที่ดีเพื่อนำมาสู่ความยินดี ในการอนุโมทนาสาธุการร่วมกัน ซึ่ง ม.ล.สราลี กิติยากร (คุณน้ำผึ้ง) และคณะทีมงานได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปติดตามบันทึกภาพ ถ่ายทำสารคดีธรรมเชิงท่องเที่ยว ถึงวัดเวฬุวันมหาวิหาร/ประเทศอินเดีย

จากการได้มีโอกาสพบปะกับหลายท่าน หลายคณะ จึงได้มีโอกาสสนทนากันในหลายๆ เรื่อง ในเรื่องหนึ่งนั้นคือ คำถามของ “โยมสมาน สุดโต แห่งโพสต์ทูเดย์” จากความแปลกใจต่อการเขียนปุจฉาวิสัชนาธรรมของอาตมาอย่างต่อเนื่องรายวัน เว้นเสาร์อาทิตย์ ว่าทำได้อย่างไร เพราะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ อย่างโยมสมาน ย่อมทราบดีว่าเป็นเรื่องยาก ดังเช่นคำกล่าวในวงสนทนาจากหลวงพ่อพระธรรมกิตติเมธี ว่า “การเขียนตามความอยากจะเขียนคงไม่ยาก แต่การเขียนตอบเชิงบรรยายนั้น จะต้องค้นคว้า อ้างอิง หาหลักฐานประกอบ เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการเขียนอย่างต่อเนื่องรายวัน เป็นงานหนักที่ทำได้ยาก...” ซึ่งนำมาสู่คำถามดังกล่าวว่า “...ทำได้อย่างไร?”

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132