posttoday

ตอบปัญหาธรรม...เกศนีจะดำเนินชีวิตอย่างไร

13 เมษายน 2555

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ให้ถึงปัญญาวิมุติ(จบ)ดำรงฉันทะธรรมเกิดขึ้นในจิตบนหลักความเพียรชอบ ตามการกำหนดรู้อย่างต่อเนื่องจนมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในสิ่งที่กำหนดรู้นั้น ให้สำเร็จเป็นอิทธิบาทธรรมเกิดขึ้น มีกำลังธรรมเกิดขึ้นในจิต ขับเคลื่อนไปสู่ความมีปัญญายิ่ง จนเกิดความถึงพร้อมในศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้าเป็นอินทรีย์ และมีพลังธรรมเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในองค์ธรรมทั้ง ๕ ดังกล่าว จนเกิดอำนาจสติปัญญาที่แก่กล้า ให้สามารถรู้ ละ วาง หรือยับยั้งอำนาจอกุศลธรรม (นิวรณ์ธรรม) มิให้เข้ามาควบคุมจิตใจของตนได้ จนสติปัญญาพัฒนาสู่คุณภาพแห่งตัวรู้ (ญาณ) มีความรู้เท่ารู้ทัน สามารถพิจารณาเลือกเฟ้นธรรมทั้งปวง และกระทำความเพียรชอบได้อย่างแจ่มแจ้ง ให้จิตเบิกบาน เกิดปีติใหญ่ขึ้น แผ่กว้างจากจิตที่มีธรรม และด้วยอำนาจความเพียรชอบที่มีสติปัญญา จึงสามารถกำกับกายจิตให้สงบลง จนรวมเป็นหนึ่งแห่งจิต ที่ให้อำนาจสมาธิขั้นสูง มีญาณรู้พร้อมเกิดขึ้น สามารถรู้จัก ละ วาง คลายออกจากการยึดติดในรูปนาม หรือขันธ์ ๕ เพราะเข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ที่แสดงหลักความเป็นธรรมดาของสภาวธรรมทั้งปวงในธรรมชาติ สมดังที่กล่าวในตอนต้น ว่า ธรรมทั้งหลาย รวมถึง รูปนาม (ขันธ์ ๕) ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ... เพราะ ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา หมายถึง ไม่ใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา การเข้าถึงความไม่มีเรา ไม่มีเขา จึงได้รู้แจ้งในหลักความจริงแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรม อันแสดงการเกิดทุกข์และความดับไปของทุกข์ อันเป็นไปตามหลักธรรมที่กล่าวไว้ว่า “ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแต่เหตุ เมื่อเหตุสิ้นไป ธรรมทั้งหลายย่อมดับไปเป็นธรรมดา”

การเข้าถึงความจริงดังกล่าว ด้วยการเห็นความจริงที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ... ธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน! จึงให้เบื่อหน่ายคลายออกและดับสิ้นซึ่งความกำหนัดยินดีในรูปนาม หรือขันธ์ ๕ ดังกล่าวนี้ จิตจึงยุบตัวลงสู่ใจ ที่มีญาณรู้หรือมีปัญญา สามารถสลัดออกจากการยึดมั่นยึดถือในความเป็นตัวเราของเรา (อหังการมมังการ) ได้ นั่นคือ การก้าวสู่ปัญญา วิมุติ อันนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ที่แท้จริง ...

เส้นทางธรรมดังกล่าวดูเหมือนยากต่อการปฏิบัติ แต่หากถือปฏิบัติ จริงๆ แล้วไม่ยากเลยที่จะเข้าถึง สำคัญคือ ความมั่นคงอยู่กับการประพฤติตามศีลธรรมเป็นเบื้องต้น โดยจะต้องมั่นคงอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม การดำเนินชีวิตบนการไม่ทำชั่วทั้งปวง และทำความดีให้ถึงพร้อม จึงเป็นการเข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ส่วนการเข้าถึงคุณแห่งพระรัตนตรัยนั้น ต้องเข้าสู่ธรรมกระแสด้วยการปฏิบัติ เจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือการอบรมจิตภาวนา จนเข้าถึงชั้นตัวรู้และญาณ อันนำไปสู่ปัญญาวิมุติ ด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม เพื่อการเข้าถึงกฎอนัตตา ด้วยการอาศัยอัตตาทำลายอัตตา ...

“วิชชาและวิมุติ” จึงเป็นธงธรรมที่ยิ่งใหญ่ของการดำเนินชีวิต ที่สัตว์ประเสริฐทั้งหลาย ควรตั้งมั่นไว้เป็นอุดมคติธรรม (สัจจะ) เพื่อการไปให้ถึงธงธรรมดังกล่าว ที่ให้อำนาจปัญญาวิมุติ เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ที่แท้จริง ซึ่งในที่สุดแห่งธรรมอันเป็นไปเพื่อการตรัสรู้ เพื่อก้าวข้ามห้วงโอฆะให้ถึงพระนิพพานนี้ จะต้องเป็นไปตามเส้นทางสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา โดยการพัฒนาจิตหรืออบรมจิตไปบนธรรมวิถี ที่เรียกว่า อริยมรรคอันมีองค์ธรรม ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ การตรวจธรรมเพื่อความสมบูรณ์ของปัญญาญาณ อันเป็นไปเพื่อวิมุติธรรมนั้น จะต้องดำเนินไปตามแต่ละองค์ธรรม จนเกิดสัมปยุตธรรมทั้ง ๘ องค์ธรรม รวมเหลือเพียงหนึ่งเดียวแห่ง “จิตพุทโธ” ความรู้ ตื่น เบิกบาน ก็จะปรากฏอย่างเป็นธรรมดา และความเข้าถึงความเป็นธรรมดานี่แหละ คือ สุดยอดแห่งความรู้ในพระพุทธศาสนา

ในท้ายแห่งวิสัชนา ขอฝากธรรมลิขิต เพื่อประโยชน์แห่งการเจริญธรรมานุสติ ... ดังนี้

บนท้องฟ้า มีดวงดาว ผุดปรากฏ

แสงมรกต สาดส่อง นภาฉาย

ดาวใหญ่น้อย พราวพร่าง พรรณราย

ช่างเฉิดฉาย งามวิสุทธิ์ ดุจแสงทิพย์

ดังดวงธรรม ผุดปรากฏ กลางดวงจิต

ให้มืดมิด โบยบิน สิ้นห่วงหา

แสงสว่าง เกิดกลางใจ มืดอำลา

เกิดปัญญา รู้แจ้งจบ สงบใจ

สิ้นกังขา ในปัญหา ของมนุษย์

โสกโรคทุกข์ โพยภัย สิ้นสลาย

จบความอยาก สิ้นความยึด ทุกข์มลาย

แสงธรรมฉาย ส่องสว่าง นิรันดร์ ... เอย

เจริญพร