posttoday

สมเด็จพระวันรัต พระเถระผู้ใหญ่นั่งเสลี่ยงกลีบบัว อ่านอภิธรรม นำริ้วขบวนพระอิสรริยยศ

08 เมษายน 2555

กรมการศาสนา นิมนต์สมเด็จพระวันรัต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม

โดย...สมาน สุดโต

กรมการศาสนา นิมนต์สมเด็จพระวันรัต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นพระเถระผู้ใหญ่นั่งเสลี่ยงกลีบบัวและราชรถน้อย อ่านพระอภิธรรม นำริ้วขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนริ้วขบวนพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภา พัณณวดี สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 9 เม.ย. 2555

นับว่าเป็นเกียรติประวัติสูงยิ่งของสมเด็จพระวันรัตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เคยปฏิบัติหน้าที่นี้เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2551 ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช นั่งเสลี่ยงกลีบบัวและราชรถพระนำอ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศในการเคลื่อนพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตโต ป.ธ.9) มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ก.ย. 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โยมบิดามารดา ชื่อ นายจันทร์และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์

บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2491 ณ วัดคีรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดคีรีวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตตโร) วัดคีรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธัมมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

สมเด็จพระวันรัต พระเถระผู้ใหญ่นั่งเสลี่ยงกลีบบัว อ่านอภิธรรม นำริ้วขบวนพระอิสรริยยศ

ส่วนการศึกษานั้น สอบได้นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. 2495 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. 2516

พระธรรมวราจารย์ (หลวงปู่แบน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อายุ 83 ปี เล่าให้ฟังว่าตัวหลวงปู่กับสมเด็จพระวันรัตเคยเรียนบาลีประโยค ป.ธ.3-5 ด้วยกัน ขณะที่สมเด็จพระวันรัตยังเป็นสามเณร ส่วนหลวงปู่เป็นพระที่มาจาก จ.นครศรีธรรมราช ทั้งคู่มุ่งมั่นในการเรียน จึงแปลธรรมบท 8 ภาค ด้วยเสียงอันดังจบไปหลายสิบเที่ยว เป็นที่เลื่องลือในวัดบวรนิเวศวิหาร และสามารถสอบได้พร้อมกัน แต่สมเด็จพระวันรัตก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งสอบประโยค 9 ได้ เมื่อ พ.ศ. 2516 ส่วนหลวงปู่จบเพียงประโยค 5 ก็ไปทุ่มเทช่วยงานวัดและช่วยงานเจ้าอาวาส (พระพรหมมุนี) (ผิน) การเรียนบาลีจึงไม่ก้าวหน้า

ปี 2516 ที่สมเด็จพระวันรัต สอบ ป.ธ.9 ได้นั้น มีผู้สอบได้รวมทั้งหมด 16 รูป ในจำนวนนั้น ที่เจริญรุ่งเรืองรับใช้พระพุทธศาสนาต่อเนื่องจนมีสมณศักดิ์สูงเป็นสมเด็จพระราชาคณะถึง 2 รูป คือสมเด็จพระวันรัตและสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะใหญ่หนกลาง

ส่วนรูปอื่นๆ ก็มีสมณศักดิ์สูงต่ำตามฐานะแต่ละรูป เช่น พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี) ราชบัณฑิต วัดราชโอรสาราม พระราชรัตนมุนี (ชัยวัฒน์) เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม วัดพระปฐมเจดีย์ พระศรีวิสุทธิเมธี (เชษฐา) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น

ที่ไม่ได้เป็นพระราชาคณะ แต่ยังคงเป็นพระมหามีรูปเดียวคือ พระมหาจำนงค์ วรวฑฺฒโน (จันทน์ขาว) เจ้าอาวาสวัดพังม่วง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ที่ลาสิกขา ได้ดีในทางราชการที่ระบุชื่อได้คือ น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย ร.น. ที่มรณภาพหรือถึงแก่กรรมก็มีเช่นกัน

เมื่อพระเถระทั้งสองมีสมณศักดิ์สูง ทั้งสมเด็จพระวันรัตและสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ทั้งคู่ต่างก็นิมนต์พระเถระร่วมรุ่นมาสวดชัยมงคลคาถา เมื่อคราวสมโภชสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏ จึงเป็นที่อนุโมทนาและสรรเสริญจากพระเถระร่วมรุ่นและพระภิกษุสามเณรที่ทราบกันทั่วไป

กล่าวเฉพาะสมเด็จพระวันรัต ท่านเป็นสมเด็จพระวันรัต องค์ที่ 24 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่พิเศษ คือไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าอาวาส นอกจากรักษาการเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ และวัดมกุฏกษัตริยาราม ที่เหนืออื่นใดทำให้วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามหลวงมีสมเด็จพระราชาคณะ 2 รูป ในเวลาเดียวกัน

นอกจากบุญบารมีสูงส่ง สติปัญญาก็สูงเช่นกัน คือ ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมให้เป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติของไทย) และให้ความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเดินหมุดและคำนวณ ปฏิทินปักขคณนา สำหรับบอกอุโบสถให้กับคณะธรรมยุตด้วย

ด้านการปกครองคณะสงฆ์ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์ กรรมการสนามหลวง แผนกบาลี แม่กองธรรมสนามหลวง กรรมการฝ่ายศาสนศึกษาของมหาเถรสมาคม ผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้านความอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่ถือยศถือศักดิ์นั้น ท่านได้รับการกล่าวถึงด้วยความยินดีว่า เมื่อพบพระเถระที่อายุและพรรษาสูงกว่า ไม่ว่าเป็นพระธรรมยุตหรือพระมหานิกาย ท่านจะเป็นผู้เข้าไปกราบด้วยความอ่อนน้อม ถ่อมตน ด้วยความเต็มใจยิ่ง

สมเด็จพระวันรัต พระเถระผู้ใหญ่นั่งเสลี่ยงกลีบบัว อ่านอภิธรรม นำริ้วขบวนพระอิสรริยยศ

ด้านความกตัญญูก็ได้รับการสรรเสริญไปทั่ว เมื่อไปเห็นวัดคีรีวิหาร วัดที่สมเด็จเคยอยู่ที่ จ.ตราด ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เสมือนสร้างใหม่ทั้งวัด นอกจากนั้นได้อุปถัมภ์นักเรียนโรงเรียนวัดคีรีวิหารและโรงเรียนมัธยมคีรีเวศน์รัตนูปถัมภ์ จ.ตราด

ด้านการศึกษาสงฆ์ ท่านดำรงตำแหน่งเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักธรรม ธรรมศึกษา ชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก อีกทั้งจัดให้มีการสอบไล่วัดผลประจำปีตามหลักสูตรนักธรรมกับธรรมศึกษา ที่มีการเปิดสอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. 2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรโมลี

พ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุมนต์มุนี

พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี

พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมกวี

พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ พระพรหมมุนี

วันที่ 5 ธ.ค. 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระวันรัต

สมเด็จพระวันรัต ยังมีคุณสมบัติที่ถูกจารึกและมีปฏิปทาที่ควรเอาอย่างอีกมาก ดังที่หนังสือเล่าเรื่องสมเด็จพระวันรัตสมัยรัตนโกสินทร์ (พิมพ์ในงานสมโภชสุพรรณบัฏ พ.ศ. 2553) กล่าวถึงตอนหนึ่งว่า เจ้าประคุณสมเด็จเป็นผู้รับฟัง เมื่อจำเป็นต้องทำสิ่งใดที่ไม่คุ้นเคย จะบอกว่าไม่รู้ ขอฟังดูก่อน จากนั้นดำเนินการไปตามความเหมาะสม

ประการสุดท้ายเป็นผู้พอเหมาะพอดีกับทุกคนที่พบปะสมาคม ไม่ว่าจะเป็นคนคุ้นเคยหรือแปลกหน้า สมเด็จจะโอภาปราศรัยไปตามสถานะ ไม่มาก ไม่น้อย ไม่เสียธุระ และไม่เสียน้ำใจ

การที่ได้รับนิมนต์ให้เป็นพระเถระผู้ใหญ่นั่งเสลี่ยงกลีบบัวและราชรถน้อย อ่านพระอภิธรรมนำริ้วขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนริ้วขบวนพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 9 เม.ย. 2555 นั้น จึงเป็นที่อนุโมทนาสาธุการไปทั่ว