posttoday

ปุจฉาจากรศ.ดร.ภาวดีกรณีการวางเฉยกับอุเบกขาธรรม (ตอน๔)

04 เมษายน 2555

ใครมาถามว่า หิวมั้ย ก็ไม่หิวแล้ว อยากหรือไม่ ก็ไม่อยากแล้ว ความไม่อยากชั่วขณะที่เกิดจากความอิ่ม

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ใครมาถามว่า หิวมั้ย ก็ไม่หิวแล้ว อยากหรือไม่ ก็ไม่อยากแล้ว ความไม่อยากชั่วขณะที่เกิดจากความอิ่ม เหมือนคนกินอิ่มนี้ เรียกว่า อุเบกขา เป็นกลางๆ ไม่เข้าไปสู่ความต้องการทั้งรักทั้งชัง อำนาจสมาธิเบื้องต้น จึงให้อุเบกขาความเป็นกลางของจิตที่มีสติ แต่เป็นสติในขั้นของสมถะที่เป็นโลกียวิสัย คือ ชั่วขณะ สักพักหนึ่ง อุเบกขานั้นก็คลายได้ จึงยังไม่ใช่ตัวปัญญาแท้ แต่เป็นตัวธรรมะที่เกิดจากการปฏิบัติอันถูกต้อง เรียกว่า อุเบกขาในเบื้องต้น

ส่วนอุเบกขาในชั้นของปัญญา ในโลกุตตรธรรม อุเบกขาดังกล่าวนั้น ปรากฏในสัตโพชฌงค์ หรือองค์ธรรมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ สติโพชฌงค์ ธัมมวิจยโพชฌงค์ วิริยโพชฌงค์ ปีติโพชฌงค์ ปัสสัทธิโพชฌงค์ สมาธิโพชฌงค์ และอุเบกขาโพชฌงค์ ... ในองค์ธรรม ๗ ประการดังกล่าว มี สติเป็นตัวที่ ๑ และดำเนินวิถีไปสู่สุดท้าย จากสติไปอุเบกขา... จากตัวต้นไปตัวปลายสุด เริ่มต้นที่สติ ไปจบที่อุเบกขา นั่นแสดงว่า อุเบกขานี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจของสติ

แต่สตินี้ เป็นสติที่มีปัญญาเกิดขึ้น ภาษาไทยเรียกว่า “ความรู้เท่า รู้ทัน” ความรู้เท่ารู้ทันที่เกิดขึ้นของจิต ให้จิตนั้นวางเป็นกลางๆ ด้วยปัญญาที่เกิดจากความรู้เท่ารู้ทัน อุเบกขาจึงเกิดจากความรู้เท่ารู้ทัน จึงเป็นกลางได้

... เพราะรู้เท่ารู้ทัน จึงวางจิตเป็นกลางๆ ไม่เข้าไปเสพเกี่ยวข้องกับสภาวธรรมทั้งหลายนั้น เรียกว่า จิตมีอำนาจของสติปัญญา เกิดรู้เท่ารู้ทันในโลกนี้ จึงไม่ข้องแวะกับโลกนี้ จึงเกิดอำนาจธรรมหนึ่งที่เรียกว่า อุเบกขา ...

อุเบกขาของจิตนั้นเปี่ยมล้นด้วยสติปัญญา รู้ในสิ่งที่เป็นสัมปัญญา เป็นปัญญาอันชอบ รู้ในสิ่งที่ควรปฏิบัติอันชอบ เรียกว่า มีความเห็นความคิดอันชอบ ดำเนินวิถีจิตตามองค์ธรรม ๘ ประการของอริยมรรค จึงจะเกิดอุเบกขา... และอุเบกขานี้เป็นสติปัญญาที่บริสุทธิ์ ยังให้เกิดญาณทัศนวิสุทธิเพื่อวิมุตติธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากโลก

อุเบกขาธรรมจึงเป็นปัญญาล้วนๆ ที่เข้าถึง เข้าใจ ในธรรมชาติว่า มันเป็นเช่นนี้เอง ไม่เปลี่ยนไปจากนี้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น เข้าถึงความจริงในชั้นของอิทัปปจัย เห็นแจ้งความจริงในปฏิจจสมุปบาทธรรม และไม่สงสัยในอริยสัจ... พบความจริงแท้นี้ ที่ปรากฏในธรรมนิยาม อันเป็นปัญญาล้วนๆ จึงไม่ใช่อาการลักษณะของจริต หรือพฤติจิต หรือสภาพของความนึกคิดปรุงแต่งที่ให้เกิดการวางเฉย

การวางเฉย ก็คือ การประพฤติปฏิบัติ เป็นการถือประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำ ไม่ข้องแวะ คือ การกระทำโดยการไม่กระทำ... การไม่กระทำเหล่านั้น คือ การกระทำ ... การกระทำโดยไม่กระทำ จึงยังเกี่ยวข้องกับโลกอยู่ ไม่ใช่ออกจากโลก จึงไม่ใช่ตัวอุเบกขาในพระศาสนา

ฉะนั้น การคิดว่า ฉันวางเฉย ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ นั้น เป็นการคิดในฐานของความลำเอียงของจิต ... ลำเอียงเพราะรักก็วางเฉยได้ ลำเอียงเพราะโกรธก็วางเฉยได้ ลำเอียงเพราะกลัวก็วางเฉยได้ หรือลำเอียงเพราะโลภก็วางเฉยได้ ความวางเฉยดังกล่าวนั้นเป็นอคติ ๔ จึงไม่สามารถเกิดพรหมวิหาร ๔ ได้

เราจึงพบอุเบกขาอีกตัวหนึ่งเกิดขึ้นในเบื้องต้นของธรรมที่เป็นไปเพื่อความประเสริฐ คือ พรหมวิหารธรรม... เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา... ก็เช่นเดียวกัน อุเบกขาในพรหมวิหารก็เป็นตัวปัญญา ที่ต้องเข้าถึงชั้นความจริงว่า

... สัพเพ สัตตา ยถาวา ตถาวา กัมมัสสกาโหนตุ

สัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าเขาหรือเรา ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกรรม...

จึงต้องเข้าถึงธรรมข้อนี้ ก็หมายความว่า ต้องเข้าถึงกฎแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว... ที่เขาดี เขาชั่วนั้น เป็นผลการกระทำของเขา เพื่อให้จิตเรานั้นยุติอยู่ที่ธรรมะ ไม่ล่วงไปฉันทะ ไม่ล่วงไปปฏิคะ ไม่ทำให้เมตตานั้นกลายเป็นความกำหนัดยินดี ไม่สงสารจนเกินขอบเขตล้นกรอบความถูกต้อง และไม่มุทิตาจนสอพลอ หรือลำเอียงเข้าข้างกันมากเกินไป... มุทิตา คือ ยินดีในสมบัติที่เขาควรได้ แต่ไม่ไปสอพลอกันนั้น เมื่อคนนั้นคนนี้ได้ดี ได้ฐานะ ได้โอกาส เราจึงเห็นมนุษย์สอพลอมากมายในสังคมทั้งหลาย เวลาเราไปมุทิตาใคร คือไปแสดงความยินดีกับบุคคลที่เขาได้ดีนั้น ถ้าขาดความเข้าใจธรรมะกลายเป็นสอพลอประจบประแจงกันของสังคม เพื่อความเกื้อกูลต่อกันในเชิงตอบสนองความต้องการ ...

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้