posttoday

โลงมอญและปราสาทมอญมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

25 มีนาคม 2555

วัดคันลัด ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

โดย...สมาน สุตโต

วัดคันลัด ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ติดประกาศว่าจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระโสภณสมุทรคุณ อดีตเจ้าอาวาส วันที่ 18 มี.ค. 2555 เวลา 17.00 น. พร้อมกับแจ้งว่าจะมีการจัดสร้างเมรุปราสาท 9 ยอด พร้อมโลงศพแบบมอญ เป็นที่พระราชทานเพลิงศพ เพราะเป็นพระเถระระดับเจ้าอาวาส ซึ่งนานๆ ทีจะมีให้เห็นสักครั้ง ผมจึงไม่ยอมพลาดโอกาสนี้

วัดคันลัด พระประแดง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กับคลองลัดโพธิ์ ติดกับถนนที่ไปตลาดนัดบางน้ำผึ้ง ดังนั้นจึงหาง่าย ส่วนเมรุปราสาท 9 ยอด ตั้งอยู่ในวัดติดถนน ประดับไฟสวยงามในเวลากลางคืน

ปราสาท 9 ยอดนั้น ประกอบด้วยอาคารโครงสร้างชั่วคราว 9 อาคาร ตรงกลางเป็นอาคารหลักมี 4 มุข มียอดปราสาทสูงที่สุดเพื่อตั้งโลงมอญ ด้านข้างมีอาคารรูปปราสาทด้านละ 4 หลัง หรือซ่างสำหรับพระสงฆ์ 4 รูปนั่งสวดอภิธรรม การประดับลวดลายอลังการ งดงามโดยใช้กระดาษตอกลาย

ประพันธ์พงษ์ เทวคุปต์ ประธานศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน ต.ทรงคนอง เล่าเรื่องปราสาทมอญในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระโสภณสมุทรคุณ (ทองหล่อ พูลเจริญ) ว่า การทำโลงมอญและปราสาทมอญเป็นวัฒนธรรมทรงคุณค่าของบรรพบุรุษคนมอญ ที่คนมอญถือปฏิบัติกันอยู่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เกียรติและทดแทนบุญคุณแก่พระเถระที่มรณภาพ หรือบุคคลอาวุโสที่ถึงแก่กรรม ทางศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน อ.พระประแดง ได้ขึ้นบัญชีโลงมอญและปราสาทมอญเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ป้องกันมิให้สูญหาย

โลงมอญและปราสาทมอญมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

โลงมอญ (ฮะลาบ๊อก) คือโลงใส่ศพ (หีบศพ) ที่ชาวไทยเชื้อสายมอญจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยทำขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและทดแทนบุญคุณแก่ผู้วายชนม์ โดยเฉพาะพระเถรานุเถระและพระสงฆ์มอญเมื่อมรณภาพ นอกจากนี้ ยังใช้กับศพคนมอญที่เก็บศพไว้ค้างปี หรือศพที่แห้งแล้วเท่านั้น เนื่องจากก้นหีบศพลีบ ปากหีบผายกว้าง มิเช่นนั้นจะใส่ศพไม่ได้

โลงมอญ (ฮะลาบ๊อก) เป็นงานศิลปะวิจิตร มีทั้งความอ่อนช้อยและอลังการ ฝาครอบโลงเป็นศิลปะประเภทลายกระดาษ จัดอยู่ในช่างสิบหมู่ประเภทลายดอกไม้

การทำโลงมอญมีขั้นตอนต่างๆ ยากมาก ผู้ทำต้องใช้วิริยะ ความอดทน และใจเย็น เพราะเป็นงานประณีต หากไม่มีอนุรักษ์ไว้อาจสูญได้

ปัจจุบัน สกุลช่างชาวมอญที่เป็นฆราวาสที่สามารถทำโลงมอญได้ไม่เหลือตัวตน นอกจากพระภิกษุ 4 รูป คือ พระครูสุภัทรกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดคันลัด พระสิทธิพัฒนาทร เจ้าอาวาสวัดทรงธรรม พระสมุห์ชวลิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรม และพระครูวินัยธรวิทยา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแค

เมรุปราสาท

“ปราสาท” ในที่นี้หมายถึง สถานที่พระราชทานเพลิงศพพระมอญที่มรณภาพและเก็บศพไว้ค้างปี และคำว่า “ปราสาท” ถือว่าเป็นของสูง ซึ่งใช้กับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และพระสงฆ์เท่านั้น

การทำศพพระมอญมีขั้นตอนพอสมควร กล่าวคือ เมื่อพระมอญมรณภาพทางวัดจะเคาะระฆังใหญ่ที่มีเสียงกังวาน เมื่อสิ้นเสียงก็จะเคาะใหม่ สัญญาณนี้เป็นที่รู้กันเลยว่ามีพระมรณภาพ ภาษามอญเรียกว่า “ริ จ๊าด โป”

ชาวบ้านก็จะไปรวมตัวกันที่วัด จัดเก็บกุฏิพระที่มรณภาพ เตรียมที่สรงน้ำศพและที่ตั้งศพ เก็บศพไว้ค้างปี เมื่อใกล้กำหนดวันพระราชทานเพลิงศพหรือฌาปนกิจ คณะกรรมการวัด ฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาส ก็จะประชุมแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานตามหน้าที่ เช่น ฝ่ายจัดทำโลงมอญ ฝ่ายทำปราสาท ฝ่ายโรงครัว ฝ่ายศาสนพิธี ฯลฯ

งานพระราชทานเพลิงศพ หรือการฌาปนกิจพระภิกษุหรือพระเถระจะไม่ใช้เมรุ หรือเตาเผาที่เผาศพคนทั่วๆ ไป แต่ชาวบ้านจะทำปราสาทตามฐานะของพระที่มรณภาพ เช่น เป็นพระราชาคณะ พระครู เจ้าอาวาส ก็จะทำปราสาท 9 ยอดบ้าง 5 ยอดบ้าง ถ้าเป็นพระลูกวัดก็จะทำยอดเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างกัน ชาวบ้านที่มีฐานะดีหรือพระที่มีลูกศิษย์ลูกหามากก็จะช่วยกันรับคนละยอดบ้าง สองยอดบ้าง หรือรับทั้งหมด (ยอดปราสาทงานพระราชทานเพลิงศพพระโสภณสมุทรคุณนั้น ราคายอดละ 2 หมื่นบาท)

เมื่อถึงวันยกยอดปราสาท ชาวบ้านก็จะมารวมตัวกันชักยอดปราสาทเพราะถือว่าได้บุญมาก นอกจากนั้นแล้วชาวบ้านก็จะนำส่งของ อาทิ ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา พริกแห้ง หอม กระเทียม ปลาเค็ม พืชผลไม้ต่างๆ มาเข้าโรงครัว ภาษามอญเรียกว่า “แหน่มโรด” สำหรับหุงอาหารเลี้ยงพระ เลี้ยงคน เป็นต้น

โลงมอญและปราสาทมอญมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 

ขั้นตอนการจัดทำโลงมอญ (ฮะลาบ๊อก)

(รวบรวม พระครูสุภัทรกิจจาทร)

พระครูสุภัทรกิจจาทร ได้อธิบายว่า ท่านมิใช่เป็นคนเชื้อสายรามัญ แต่เพียงมีฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดมาพอจะทำโลงมอญได้เท่านั้น ประกอบกับ พระมหาบุญเลิศญาณเมธี ทำวิทยานิพนธ์ การทำโลงมอญ ท่านจึงได้เขียนขั้นตอนการทำโลงมอญ เพราะเห็นว่าโลงมอญ (ฮะลาบ๊อก) เป็นโลงศพที่มีศิลปะที่วิจิตร สวยงามมาก มีทั้งความอ่อนช้อยของตัวโลง มีความอลังการของฝาโลง เป็นศิลปะของประเภทลายกระดาษ จัดอยู่ในช่างสิบหมู่ ประเภทลายดอกกระดาษ

ถ้าย้อนไปประมาณ 50 กว่าปีก่อน การทำโลงมอญนั้นยากมาก เช่น ไม้ที่จะใช้ทำก็ใช้ไม้ที่ทำฝาบ้าน กระดาษที่จะทำให้สวยงามก็จะเป็นกระดาษอังกฤษที่หาซื้อยากและราคาแพงมาก ซึ่งขั้นตอนในการทำมีดังนี้

1. การประกอบตัวโลง ในสมัยที่ยังไม่มีไม้อัดแผ่นบางๆ จะใช้ไม้ยางที่ใช้ทำฝาบ้าน ซึ่งมีความหนา แข็ง และตัดยาก แต่ต้องทำให้อ่อนช้อยจึงต้องใช้เวลาและอดทนมาก ให้นึกถึงการต่อเรือตังเกเอาก็แล้วกัน กว่าจะตัดไม้ให้เข้ารูปทรงอย่างที่ต้องการนั้นยากและเสียเวลามาก การทำโลงมอญก็เช่นเดียวกัน ต้องมีลูกมือช่วยจับ ช่วยตอก และต้องใช้ความอดทน ใช้เวลา จึงจะได้ความอ่อนช้อยตามที่ต้องการ

2. ปัจจุบันใช้ไม้อัดแผ่นเดียวเอามาประกอบเป็นตัวโลง จะตัดให้อ่อนช้อยอย่างไรก็ได้อย่างที่ใจต้องการ และใช้เวลาในการประกอบไม่เกิน 23 ชั่วโมง

3. การประกอบฝาครอบโลง ในสมัยก่อนต้องเอาเลื่อยมาซอยไม้ระแนงให้บาง กว้างประมาณ 1.5 ซม. เพื่อตีเป็นโครงทำเป็นหลังคาโลง และใช้ไม้ระแนงเล็กๆ นั้นมาตีตะปูเป็นรูปจั่ว ดูแล้วยุ่งยากเสียเวลา ปัจจุบันทำฝาครอบโลงง่ายขึ้นโดยใช้ไม้อัดตัดเป็นรูปจั่ว ไม่ต้องเอาไม้ระแนงมาซอยมาตอกตะปูเป็นโครงสร้างให้ลำบากยุ่งยากเสียเวลา

4. กระดาษที่ทำลายต้องใช้กระดาษอังกฤษ หาซื้อมาทั้งเล่ม เล่มหนึ่งประมาณ 100 แผ่น เอามาตอกทำเป็นลาย ที่ใช้กระดาษอังกฤษเพราะตอกลายง่าย เดินเม็ดลายก็สวยกว่ากระดาษธรรมดา แต่เวลาลอกออกจะยากหน่อย อาจจะขาดได้ การสอดสีลายก็ออกจะยาก เสี่ยงต่อการขาด การสอดสีลายก็ออกจะยาก เพราะกระดาษอังกฤษลื่น แป้งหรือกาวไม่ติดทน ถ้าติดได้นานๆ มักจะล่อนออกง่าย

5. กาว ใช้แป้งข้าวเจ้าปนแป้งข้าวเหนียว เติมน้ำ ตั้งไฟ เคี่ยวให้เข้ากัน เมื่อคลุกแล้วจะเหนียว หรือใช้หนังควายเติมน้ำตั้งไฟเคี่ยวก็ได้

6. สมัยเดิม ใช้ไม้ระกำที่เป็นเส้นตรง เหลาให้มีความกว้างประมาณ 1 ซม. หนาครึ่ง ซม. เพื่อทำคิ้วโลง และโลง 1 ใบ ต้องใช้ไม้คิ้วจำนวนมาก จึงมีความลำบากพอสมควร

แต่ปัจจุบันใช้โฟมทำคิ้วโลง โดยใช้โฟมบางมาตัดเป็นคิ้ว ง่ายกว่าการเหลาไม้ระกำ ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ติดคิ้วโลงได้ทั้งใบ ส่วนไม้ระกำก็จะยังใช้อยู่ เช่น

ก.ใช้ประกอบหน้าจั่ว หรือหน้าบันทั้งสามชั้น

ข.ใช้ติดลายที่เป็นแผง กระจังทั้ง 6 แผ่น

ค.ใช้ติดลายที่ต้องยกดอก เพราะเหมาะแก่การที่จะเอาตะปูเข็มเสียบแววกะพริบเมื่อเวลาโดนลม ก็จะไหวเพิ่มความสวยงาม โดนแสงไฟก็สวยมาก ถ้าวัสดุอื่น เช่น โฟมก็จะหลุดง่าย ไม่ดูด และเหนียวเหมือนระกำ

ง.ใช้กลึงให้กลมตามขนาดที่ต้องการ ติดกระดาษสลับสี พันเป็นรูปกระบองยักษ์ติดตามมุมโลง ทั้งสี่ด้านทำให้ดูสวยงามมากขึ้น

ขั้นตอนการประกอบตัวโลงและการประกอบฝาโลงศพนั้น ต้องใช้สมาธิ ความสามารถ ประสบการณ์ ความอดทน ใจเย็น เพราะต้องตอกลวดลายต่างๆ การสอดสีลายให้ดูสวยงามขึ้นอยู่กับวัยของผู้วายชนม์

นอกจากนี้แล้ว การยกโลงมอญ (ฮะลาบ๊อก) จะใช้แคร่ยกเพื่อป้องกันการจับต้องตัวโลงที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ไม่ให้หลุดขาดไป

เมื่อถึงเวลาเผา จะเผากันที่เมรุกลางแจ้ง (เมรุลอย) คือเผาทั้งโลงเลย ต้องคอยพรมน้ำที่ตัวโลงให้ค่อยๆ ไหม้ไปพร้อมกับศพ

อ่านคำอธิบายและดูของจริงที่วัดคันลัด ก็ต้องยอมรับว่าทั้งโลงมอญและปราสาท 9 ยอดนั้น นอกจากเป็นวิจิตรศิลป์แล้ว ถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่พระเถระที่มรณภาพ เพราะเชื่อว่าสัมปรายภพของพระเถระที่มรณภาพนั้น ไม่เป็นเทพก็เป็นพรหม ถ้าหากบรรลุธรรมก็มีนิพพานเป็นวิมุตติภพ