posttoday

เสียงวิพากษ์จากดร.กรวิภา กรณีภิกษุณีในพระพุทธศาสนา (เถรวาท)อันควรรับฟัง (ตอน ๖)

27 กุมภาพันธ์ 2555

จากความเห็น ดร.กรวิภา สู่...เครือข่ายส่งเสริมบทบาทสตรีเพื่อการปกป้องและสืบพระพุทธศาสนา

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

จากความเห็น ดร.กรวิภา

สู่...เครือข่ายส่งเสริมบทบาทสตรีเพื่อการปกป้องและสืบพระพุทธศาสนา

กราบนมัสการ หลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส ด้วยความเคารพยิ่ง

ดิฉันได้อ่านคำถามของ ดร.กรวิภา ที่พระอาจารย์เมตตานำมาเผยแพร่ผ่าน “ธรรมส่องโลก” เพื่อให้ผู้สนใจในกรณีการบวชภิกษุณี และมีศรัทธาปสาทะในการสืบอายุพระพุทธศาสนา ได้มาร่วมกันขบคิดแสดงความเห็นในทางสร้างสรรค์ต่อกันแล้ว ดิฉันขอกราบอนุโมทนาในแนวคิดอันเป็นประโยชน์โดยธรรมของพระอาจารย์เป็นอย่างมาก ... จึงขอโอกาสนี้ร่วมแสดงความเห็น และหวังว่าจะเป็นการเริ่มเปิดประเด็นให้ได้รับฟังข้อคิดจากสตรีและบุรุษทั้งหลายที่มีความสนใจในกรณีของ “สตรีกับพระพุทธศาสนา” ต่อไป

ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเริ่มต้นเรียนรู้ธรรมะจากพระอาจารย์ในหลายวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่พระอาจารย์เมตตามาบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ให้กับนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์เมื่อภาคการศึกษาที่แล้ว ทำให้ดิฉันไม่อาจเห็นเป็นอย่างอื่นได้ และน่าจะเป็นความเห็นพ้องกับ ดร.กรวิภา ในประเด็นที่ว่า ผู้ที่กล่าวเรียกตนเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่ให้ความสนใจในพระธรรมวินัยอย่างจริงจังนั้นมีอยู่จำนวนน้อยจริงๆ ซึ่งเป็นไปได้ด้วยเหตุผลนานาประการ แต่จะด้วยเหตุปัจจัยใดก็แล้วแต่ นั่นสะท้อนว่า เมื่อนานวันเข้า ความสนใจที่จะมีเพื่อการศึกษาแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงนั้นยิ่งหาได้ยากขึ้น และหากปล่อยไว้เช่นนี้ ก็ยิ่งจะทำให้แสดงออกซึ่งความเห็นผิดๆ กันมากขึ้น และเป็นผลร้ายต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา

ดิฉันได้อ่านข้อเขียนของพระอาจารย์ในกรณีของบทบาทสตรี และการบวชภิกษุณีแล้ว ดิฉันขออนุญาตแยกประเด็นกรณีบทบาทสตรีไว้เรื่องหนึ่ง ส่วนกรณีการบวชภิกษุณีนั่นก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งการมองสตรีกับบุรุษในพระพุทธศาสนานั้น มิได้มองในมิติแห่งความแตกต่างของเพศ เพราะไม่ว่าจะสตรีหรือบุรุษ ก็ล้วนบรรลุธรรมได้ จึงต้องมองเขาและเธออย่างเป็นสัตว์ประเสริฐที่เท่ากันของทั้งหญิงและชายต่างหาก... ทั้งบุรุษและสตรีล้วนแต่มีบทบาทในพระพุทธศาสนาได้...สตรีสามารถมีบทบาทในพระพุทธศาสนาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่เพศบรรพชิตครองตนเป็นภิกษุณี เฉกเช่นบุรุษที่สามารถมีบทบาทในพระพุทธศาสนาได้โดยไม่จำเป็นต้องอุปสมบทเป็นภิกษุ... จะมีประโยชน์อันใดเล่า หากการเข้าสู่เพศบรรพชิตนั้นเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง และแม้จะเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ผู้นั้นไม่สามารถดำรงความเป็นเพศบรรพชิตนั้นไว้ได้อย่างบริสุทธิ์ ก็ยิ่งจะทำให้อายุแห่งพระพุทธศาสนาสั้นลง...

การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็เพราะว่าพุทธบริษัทช่วยกันดูแลและรักษาสืบต่อกันมา ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสตรีที่เข้าใจในพระพุทธศาสนา และสำคัญยิ่งที่สตรีเหล่านั้นจะต้องมีคุณสมบัติถูกต้องตามพระพุทธศาสนา เพื่อการทำหน้าที่ปกป้องและสืบพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกทางโดยธรรม และไม่ถูกชี้นำจากกระแสที่ขาดการเรียนรู้ ขาดการเข้าใจ และเอาแต่อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง จนนำไปสู่การทำลายพระศาสนาอย่างไม่รู้ตัวได้

สตรีจึงต้องศึกษาอย่างรอบด้าน และต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย สตรีที่ศึกษาธรรมย่อมเห็นรายละเอียดและมีความเข้าใจในพระพุทธศาสนา สตรีทั้งหลายที่ประสงค์จะมาร่วมกันดูแลพระพุทธศาสนา จึงจะต้องเรียนรู้เรื่องสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งข้อกฎหมาย ตามหลักการแห่งความสัมพันธ์ของกฎ ๓ ที่พระอาจารย์เคยสาธยายไว้ คือ กฎหมาย กฎสังคม และกฎศาสนา ซึ่งในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน เราให้ความสำคัญกับกฎศาสนาเป็นแกนหลัก

ปัจจุบัน มีเครือข่ายของสตรี โดยสตรี และเพื่อสตรี อยู่จำนวนมาก และล้วนแต่เข้มแข็ง มีความหลากหลายในการทำงาน แต่กลับพบว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไม่มีกลุ่มองค์กรแบบในแนว NGO ซึ่งรักษาพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ ดิฉันจึงเห็นว่าควรจะมีการจัดตั้งเครือข่ายส่งเสริมบทบาทสตรีเพื่อการปกป้องและสืบพระพุทธศาสนา โดยให้มีจุดมุ่งหมายของการทำงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสันติ และรักษาไว้ซึ่งบทบาทของสตรีที่ถูกต้องโดยธรรมะ เพื่อประโยชน์แห่งธรรม และเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาสืบต่อไป โดยให้การขับเคลื่อนเป็นไปเพื่อสนับสนุนสตรีทั้งหลายให้มีพื้นที่ของคนที่มีความเห็นถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งหากไม่ตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา ก็จะเอียงตามกระแสของสตรีเฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นรุนแรงมาก เราจึงต้องสร้างสมดุลไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์สุด ไม่ให้เกิดการทำลายพระศาสนา ...การสนับสนุนสตรีให้มีบทบาทเต็มที่ตามศักยภาพนั้น น่าจะเป็นแนวทางที่พระอาจารย์สนับสนุน เพราะพระอาจารย์เองก็ได้เคยกล่าวไว้หลายครั้งในหลายเวทีทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์นี้ ในรายการวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงเวทีเสวนาเกี่ยวกับบทบาทของสตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดิฉันเห็นว่าพระอาจารย์ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะก้าวรุกล้ำไปสู่กรณีภิกษุณี แต่ตั้งใจมารับฟังนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมความก้าวหน้าของสตรี

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้