posttoday

ขนาดของความฝัน

12 กุมภาพันธ์ 2555

ความฝันนั้นมีรูปร่างมีขนาดหรือไม่ มีเครื่องมือใดใช้วัดขนาดของความหวัง

ความฝันนั้นมีรูปร่างมีขนาดหรือไม่ มีเครื่องมือใดใช้วัดขนาดของความหวัง

ความใฝ่ฝันได้บ้าง! ความฝันงดงามและเลอค่ามากเพียงใด ถึงทำให้ใครหลายคนยอมสูญเสียสิ่งสำคัญบางอย่าง หรืออาจจะทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ฝันนั้นธำรงไว้...

...“ใบหน้าของคนหนุ่มสาวในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อนบ้านของเรา พวกเขาเปี่ยมด้วยความมั่นใจในตนเอง ต่างจากใบหน้าคนหนุ่มสาวในประเทศของผมซึ่งเต็มไปด้วยความวิตกกังวล”

“ซาร์การ์นา” นักแสดงตลกชาวพม่า อดีตนักโทษการเมืองกล่าวถึงความรู้สึกเมื่อได้เดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก หลังจากที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมากว่า 3 ปี

อดีตนักโทษการเมืองพม่าผู้นี้หวังว่า สักวันหนึ่งอนุชนแห่งลุ่มน้ำอิรวดีจะเปี่ยมด้วยเสรีภาพและความมั่นใจในอนาคตเช่นเดียวกัน

...“โนเบิล อาย” อดีตนักศึกษาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยดาโกน วัยเพียงแค่ 37 ปี แต่เธอถูกคุมขังในฐานะนักโทษการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง

ใช่เพียงเพราะแม่ของเธอเป็นสมาชิกระดับบริหารของพรรคเอ็นแอลดีในย่างกุ้ง แต่ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยของเธอหลังเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ในวันที่ 8 ส.ค. ค.ศ.1988 หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 8888 โนเบิล อาย ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบลับๆ กิจกรรมหนึ่งของกลุ่ม คือ “White Sunday” ซึ่งเธอและเพื่อนนักศึกษา สวมเสื้อผ้าสีขาวคล้ายชุดนักโทษการเมือง เพื่อไปเยี่ยมเยียนครอบครัวของนักโทษการเมือง

เธอถูกจับกุมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 แม้ต้องสูญเสียอิสรภาพไปถึง 7 ปี โดยไม่มีการไต่สวนความผิด แต่ก็หาได้ทำให้ศรัทธาต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเสรีของเธอสูญสลายไป เธอและเพื่อนได้ร่วมกันทำนิตยสารรายเดือนฉบับหนึ่ง ซึ่งที่นี่เองเธอได้พบรักกับคนรักของเธอ ซึ่งเป็นอดีตนักโทษการเมืองในเหตุการณ์ 8888

อาจใช่เพียงแค่ความรักของหนุ่มสาว แต่ความมุ่งมั่นต่อเสรีภาพบนแผ่นดินเกิดของทั้งสอง ได้หลอมรวมชีวิตพวกเขาไว้ด้วยกันอย่างลึกซึ้ง แต่อีกด้านหนึ่ง ความมุ่งมั่นอันลึกซึ้งที่มีร่วมกันนี่เอง กลับกลายเป็นการพรากคนรักจากกันโดยไม่อาจรู้ชะตากรรมเบื้องหน้า

หลังเหตุการณ์พระสงฆ์เดินขบวนประท้วงรัฐบาลพม่าในปี 2550 เธอถูกจับกุมอีกครั้ง ขณะที่ชายคนรักหนีภัยเข้ามาประเทศไทย

แม้รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งแสดงท่าทีผ่อนปรนทางการเมืองมากขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐบาลพม่าจะปล่อยตัวนักโทษการเมือง ุวุฒิสมาชิก จอห์น แม็คเคน แห่งสหรัฐ เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ ข้อหารือหนึ่งของวุฒิสมาชิกแม็คเคน คือปัญหานักโทษการเมือง ซึ่งรองประธานาธิบดี ทินอ่องมิ้นต์อู ของพม่า ปฏิเสธว่า “ไม่มีนักโทษการเมืองในพม่า”

ในเรือนจำ โนเบิล อาย ทราบเรื่องนี้จากญาติและเพื่อนที่ไปเยี่ยม เธอตัดสินใจฝากจดหมายเปิดผนึกที่เขียนถึงประธานาธิบดี เต็งเส่ง มากับบิดา เพื่อเปิดเผยให้โลกได้รู้ว่า เธอคือหนึ่งในนักโทษการเมืองนับพันคนที่ถูกคุมขังโดยไม่มีการไต่สวนความผิด

หลังจดหมายดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านสื่อในโลกตะวันตก เธอถูกสั่งห้ามเยี่ยมและรายชื่อนักโทษการเมืองหลายร้อยคนที่ถูกปล่อยตัวช่วงปลายปีก่อนก็ไม่ปรากฏชื่อเธอ “โนเบิล อาย”

ทุกวันนี้เธอยังถูกคุมขังอยู่หลังกำแพงเรือนจำ เธอยอมสูญเสียเสรีภาพที่ศรัทธาให้กับความใฝ่ฝันถึงเสรีภาพที่แท้จริง ขณะที่ชายคนรักยังเฝ้าคอยเธออยู่บนอีกแผ่นดินหนึ่งซึ่งห่างไกลออกไปนับพันกิโลเมตร

ไม่ว่าจะสักกี่ครั้ง เมื่อมีผู้ถามไถ่เรื่องราวของ โนเบิล อาย เขาก็จะตอบว่า

“มันไม่สำคัญว่านานแค่ไหนที่เธอถูกคุมขัง แต่ผมจะรอ นี่คือกฎเหล็กของผม”

...กว่า 20 ปีที่ผ่านมา โลกไม่เคยลืม “อองซานซูจี” นับตั้งแต่เหตุการณ์ 8888 ภาพผู้คนซึ่งถูกทหารปราบปรามเข่นฆ่า ทำให้ซูจี ในวัยเพียง 40 ปี เขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ารับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนพม่า

ขณะนั้น เธอจากครอบครัวที่ประเทศอังกฤษกลับพม่า เพื่อดูแลมารดาซึ่งเจ็บป่วย แต่หลังจากมารดาเสียชีวิต ปัญหาการเมืองในพม่าทำให้เธอล้มเลิกการเดินทางกลับอังกฤษ

หนึ่งปีถัดมา หลังเหตุการณ์นองเลือด 8888 ณ เวทีปราศรัยริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี ท่ามกลางผู้คนกว่า 5 แสนคน เธอขึ้นเวทีปราศรัยขณะที่รัฐบาลพม่าส่งทหารเข้ามาเพื่อเตรียมสลายการชุมนุมและโลกจดจำภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นมิอาจลืมเลือน

หญิงสาวบอบบางในชุดประจำชาติพม่า แหวกผู้คนที่ห้อมล้อมเดินตรงเข้าหาแนวทหารที่กระชับกระบอกปืนเล็งตรงมาที่เธอ ท่ามกลางความรุ่มร้อนของสถานการณ์ แต่แววตาของเธอกลับอ่อนโยน น้ำเสียงราบเรียบขอร้องให้ผู้บัญชาการทหารหยุดยิง ความคุกรุ่นค่อยๆ กลับคืนสู่ความสงบ

บทบาทของเธอที่เข้าร่วมกับพรรคเอ็นแอลดี พรรคฝ่ายค้านในพม่า และความนิยมของประชาชนที่มีต่อเธอ ทำให้รัฐบาลพม่าสั่งกักบริเวณเธอไว้ในบ้านพักตั้งแต่ปี 2532 อีกหนึ่งปีถัดมาพรรคเอ็นแอลดีของเธอชนะการเลือกตั้งและรัฐบาลพม่าประกาศยกเลิกผลการเลือกตั้ง ซูจียังคงถูกกักบริเวณต่อไป แต่รัฐบาลไม่ขัดข้อง หากเธอจะเดินทางกลับประเทศอังกฤษ

ซูจีปฏิเสธและยินยอมจะถูกกักบริเวณในบ้านพักต่อไป

โลกสดุดีเธอด้วยการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2534 แน่นอนว่าเธอมิยอมเดินทางออกจากพม่า เพราะเกรงว่าจะถูกสั่งห้ามกลับเข้าประเทศ บนเวทีรับรางวัลจึงมีเพียงเด็กชายสองคนถือภาพของเธอขึ้นไปแทน

ทั้งคู่ประกาศว่า “ถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณ พร้อมกับขอร้องให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ”

ร่วม 20 ปี ที่ไร้อิสรภาพ แรงกดดันนั้นจะหนักหนาเพียงใด หากมิใช่ด้วยหัวใจที่เปี่ยมความมุ่งมั่นและความใฝ่ฝัน ใครบ้างจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้

ร่วม 20 ปี มีเพียงครั้งเดียวที่โลกได้เห็นน้ำตาของเธอ สามีของเธอป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ทางการพม่าไม่อนุญาตให้เขามาพบเพื่อร่ำลาเธอ และเธอเองก็หวั่นเกรงว่าหากเดินทางไปหาเขาที่อังกฤษก็จะไม่ได้กลับเข้ามาอีก

คู่ชีวิตที่พรากจากกันมานานหลายปีไม่มีโอกาสร่ำลา แม้รู้ว่าเวลาที่เหลือนั้นหดสั้นคืบเข้ามาจนน้อยลงทุกขณะ

ความใฝ่ฝันซึ่งผูกโยงกับชะตากรรมของผู้คนทั้งแผ่นดิน และช่วงเวลาสุดท้ายกับคนรักคู่ชีวิต ไม่ว่าเลือกอย่างใด แรงกดทับในความรู้สึกก็คงหนักหนาไม่ต่างกัน

27 มี.ค. 2542 ประจักษ์พยานจากผู้สื่อข่าวตะวันตกหลายคนที่ขอสัมภาษณ์เธอ หลังทราบข่าว ไมเคิล อริส สามีของเธอเสียชีวิตแล้ว โลกจึงได้รับรู้ถึงหยาดน้ำตาแรกของวีรสตรีแห่งอิรวดี

บางที ถ้าความใฝ่ฝันมีรูปร่าง สามารถกำหนดขนาด และมีเครื่องมืดวัดได้ การตัดสินใจ อาจจะไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวด...