posttoday

มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างตาลปัตรพัดรองเล่าเรื่องงานศิลปะ

12 กุมภาพันธ์ 2555

มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างตาลปัตรพัดรอง 10 เล่ม

มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างตาลปัตรพัดรอง 10 เล่ม

โดย...เบญมาศ เลิศไพบูลย์

เล่าเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมไทย เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ว่า การสร้างงานศิลปะ หากนำมาปรับแต่งให้เข้ากับพิธีกรรมทางศาสนา โดยไม่ทำให้พิธีกรรมผิดเพี้ยน ก็ถือเป็นการสืบสานพิธีกรรมให้ดำรงอยู่

คำกล่าวของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่เคยกล่าวไว้ยังคงเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ครั้งหนึ่งท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ศิลปะนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้ สำหรับชีวิตที่มีวัฒนธรรมของชาติ” และหากจะย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2554 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้จัดงานทำบุญคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยครบรอบ 68 ปี แม้จะเป็นงานที่ปฏิบัติติดต่อกันทุกปี แต่การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นปีที่พิเศษ เนื่องจากฝ่ายศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยได้พิจารณาคัดเลือกศิลปินคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ และคณะมัณฑนศิลป์ รวม 10 ท่าน ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมตามจินตนาการของศิลปินแต่ละท่านลงบนตาลปัตร เพื่อใช้ในกิจกรรมทางพิธีสงฆ์ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น

มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างตาลปัตรพัดรองเล่าเรื่องงานศิลปะ

 

ทั้ง 10 ศิลปิน ได้แก่ รศ.พิษณุ ศุภนิมิตร รศ.ปริญญา ตันติสุข รศ.ทินกร กาษรสุวรรณ ผศ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง ผศ.ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง ผศ.ไพโรจน์ วังบอน ผศ.อภิชัย ภิรมย์รักษ์ อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ อ.ฤทัยรัตน์ คำศรีจันทร์ และ อ.ธณฤษภ์ ทิพย์วารี

ผศ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง รองอธิการบดี ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดการ สร้างสรรค์งานตาลปัตร 10 เล่ม โดยได้แจกจ่ายงานให้กับคณาจารย์ช่วยกันทำภายใต้คอนเซปต์ “คุณงามความดี” เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปะ จึงอยากให้งานบุญครั้งนี้เป็นงานที่แตกต่างออกไปจากที่อื่น เพราะเบื้องต้นมหาวิทยาลัยต้องนิมนต์พระสงฆ์เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาอยู่แล้ว พระสงฆ์จะได้ใช้ตาลปัตรที่คณาจารย์ร่วมกันทำขึ้นในงานได้เลย

ตาลปัตรแต่ละเล่มจะมีเรื่องราวต่างๆ กัน เมื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จ ก็สามารถเก็บไว้กับมหาวิทยาลัย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมผลงานต่อ

ผศ.ญาณวิทย์ ยกตัวอย่างงานของ รศ.พิษณุ ที่ใช้เทคนิคการปักลงตาลปัตร โดยสื่อถึงการเดินทางของพระพุทธศาสนา การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านสังเวชนีย สถานทั้ง 4 ตำบล ได้แก่ ลุมพินีวัน (ที่ประสูติ) พุทธคยา (ที่ตรัสรู้) สารนาถ (ที่แสดงปฐมเทศนา) และกุสินารา (ที่ปรินิพพาน) เมื่อเริ่มต้นงานชิ้นนี้ อ.พิษณุ เป็นผู้ลงสีผืนผ้าบนตาลปัตรด้วยตัวเองก่อนวาดโครงสร้างและเขียนอธิบายสังเวชนียสถานข้างรูปที่วาด ก่อนให้นักศึกษาช่วยลงมือใช้จักรปักและเย็บขอบตาลปัตรในขั้นตอนสุดท้าย

งานอีกชิ้นที่โดดเด่นกระทั่งตาลปัตรดูเหมือนจะลุกเป็นไฟเพราะเปลวเทียน ด้วยฝีแปรงจากศิลปินเรียลิสติก ผศ.ไพรวัลย์ กับการใช้เทคนิคสีอะครีลิก วาดรูปเทียน ภาพนี้ให้ความรู้สึกถึงแสงสว่างและความรุ่งโรจน์ งานชิ้นนี้ใครเห็นจะต้องเพ่งพินิจเทียนบนตาลปัตร ละเลียดในความงาม และแสงแห่งพลังที่ศิลปินถ่ายทอดได้อย่างมหัศจรรย์

รูปต้นพระศรีมหาโพธิ์จากทองคำเปลวบนตาลปัตร โดยฝีมือ ผศ.ไพโรจน์ ก็เป็นอีกชิ้นงานที่ศิลปินใช้สัญลักษณ์ต้นโพธิ์เพื่อสื่อถึงปัญญาญาณ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อีกนัยหนึ่ง ทองคำเปลวนั้นถือว่าเป็นธาตุที่มีความบริสุทธิ์ มีความหมายอยู่ในตัว งานนี้ต้องใช้ทองคำเปลวถึง 300 แผ่น กว่าจะเป็นงานที่สมบูรณ์

อ.ญาณวิทย์ เล่าว่า ตามปกติแล้วตาลปัตรจะนำมาใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญๆ ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งงานมงคลหรืองานอวมงคล โดยนำไปใช้คู่กับพัดยศของพระราชาคณะ หรือจะใช้แยกจากพัดยศเป็นเอกเทศก็ได้ ตาลปัตรนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าพัดรอง

ผลงานศิลปกรรมบนตาลปัตรไม่ได้เพิ่งมี หากแต่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสองค์ที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้รังสรรค์งานที่โดดเด่นและเป็นต้นแบบของงานศิลปะบนตาลปัตรในระยะต่อมา

มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างตาลปัตรพัดรองเล่าเรื่องงานศิลปะ

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรอบรู้งานศิลปะแทบทุกแขนง กระทั่งมีการกล่าวขานพระองค์ว่าเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ซึ่งเป็นคำล้อเลียนในหมู่พระญาติพระวงศ์สมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ ทรงเป็นเลิศในการสร้างงานศิลปะบนพัดรองที่มีชื่อเสียงมากพระองค์หนึ่ง ทรงสร้างสรรค์ศิลปะประเภทนี้อยู่ถึง 41 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2442 ซึ่งเป็นปีที่ 31 ในรัชกาลที่ 5 จนถึงปี พ.ศ. 2483 ปีที่ 6 ในรัชกาลที่ 8 งานศิลปะบนพัดรองของสมเด็จฯ เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความตื่นตัวและนิยมการสร้างพัดรองอย่างแพร่หลายมากขึ้นตราบถึงปัจจุบัน

พัดรองที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นพัดหน้านาง ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เคยใช้เป็นรูปแบบพัดยศ เช่น พัดเปรียญและพัดที่พระสงฆ์ถือในงานพระราชพิธี

ส่วนงานอื่นพระสงฆ์จะถือแต่ตาลปัตรใบตาล พัดรองที่เห็นใช้แทนตาลปัตรเป็นสามัญนั้น น่าจะเริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ด้วยเพราะพระสงฆ์ในสมัยนั้นนิยมนำพัชนีมาใช้ถือแทนตาลปัตรกันอย่างแพร่หลาย พัชนีมีใบงองุ้มด้ามยาว เดิมใช้โบกสำหรับรำเพยลม รัชกาลที่ 4 ทรงรำคาญพระราชหฤทัยว่าน่าเกลียด จึงมีประกาศพระราชปรารภชี้แจงความน่าเกลียดของพัชนี พร้อมแสดงพระราชดำริที่จะสร้างพัดรูปหน้านางเป็น “พัดรอง” ให้พระสงฆ์ใช้ถือเมื่อได้รับนิมนต์หรือทำกิจพิธีสงฆ์ในที่ใดๆ แทน

ศ.ศิลป์ เคยกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ไว้ว่า “สมเด็จฯ ทรงเป็นอัจฉริยะที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทย พระอุโบสถวัดราชาธิวาสเป็นผลงานออกแบบชั้นเยี่ยมของสมเด็จฯ งานออกแบบของสมเด็จฯ ทุกชิ้นลักษณะน่าสนใจ ควรที่นักเรียนศิลปะต้องสนใจ เอาใจใส่ศึกษาอย่างใกล้ชิด แม้งานออกแบบชิ้นเล็กๆ เช่น พัดยศ ตราต่างๆ ที่ไม่ควรให้ผ่านสายตาไปง่ายๆ”

ด้วยความเกี่ยวเนื่องของมหาวิทยาลัยศิลปากรกับสมเด็จฯ นั้น พระองค์มีพระเมตตาให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในวังท่าพระ อันเป็นที่ประทับของพระองค์ ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรศิลปะหลาก0วันนริศ ไหว้สมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม โดยในปี พ.ศ. 2545 ถือเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยได้จัดนิทรรศการศิลปกรรมบนตาลปัตรขึ้น

มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างตาลปัตรพัดรองเล่าเรื่องงานศิลปะ

 

ครั้งนั้นบรมครูต่างวาดลวดลายผ่านตาลปัตรเพื่อให้เป็นผลงานชิ้นเอก อาทิ งาน “ไปไหว้พระนครปฐม” เทคนิคสีน้ำมันของ อ.สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และศิลปินชั้นเยี่ยมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งครั้งนี้ รศ.ปริญญา บุตรชาย อ.สวัสดิ์ ก็ร่วมเขียนรูปตาลปัตรด้วย ผ่านการสื่อความจากไตรลักษณ์ 3 และงาน “ประทานพร” เทคนิคสีอะครีลิก ปิดทองคำเปลว โดย ศ.ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ล้วนแล้วแต่เป็นงานมาสเตอร์พีซที่มีขึ้นเพียงชิ้นเดียวในประเทศ และยังได้รับการเก็บรักษาอยู่ในมหาวิทยาลัย

“การทำงานศิลปะบนตาลปัตร เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลงานชิ้นนั้น ยิ่งนานวันเมื่อกลับมาดูงานก็ยิ่งสร้างมูลค่าให้กับศิลปิน และถือเป็นงานบุญร่วมกัน” ผศ.ญาณวิทย์ กล่าว

จากตาลปัตรผ้าแบบพื้นๆ ขาดลวดลายแห่งศิลปะที่พระภิกษุใช้ในพิธีทางศาสนา ได้ถูกศิลปินเนรมิตความงามบนตาลปัตร 10 เล่มขึ้นมาแล้ว แต่มิได้หยุดยั้งเพียงนี้ เพราะงานนี้ยังรอศิลปินรุ่นหลังให้เดินตามด้วยความภาคภูมิต่อไป เมื่อถึงวันนั้นประวัติศาสตร์ศิลปะก็จะมีการสานต่อรุ่นไม่มีวันจบสิ้น สมกับเป็นศิลปินสร้างคุณค่าแก่สังคมและสร้างความสุขสันติแก่มนุษยชาติยิ่งนัก