posttoday

ห่วงพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจะถล่มเพราะแรงพลุระเบิด

29 มกราคม 2555

พระเทพสุวรรณโมลี (สะอิ้ง) เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์

พระเทพสุวรรณโมลี (สะอิ้ง) เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์

โดย..สยาม สุคโต

เรียกร้องให้กรมศิลปากรไปสำรวจตรวจสอบพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ต.รั้วใหญ่ ที่ได้รับแรงอัดจากพลุมหาประลัยระเบิด เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ว่า ได้รับความเสียหายแค่ไหน อย่างไร หรือไม่ เพราะท่านเกรงว่าแรงอัดของพลุมหาประลัยนั้นจะเป็นเหตุให้พระปรางค์อายุนับพันปีถล่มลงมาได้

พลุระเบิดในงานตรุษจีนที่มีมังกรใหญ่สร้างบังศาลหลักเมือง ทำให้มีคนตาย 4 คน บ้านที่อยู่อาศัยในรัศมี 5 กิโลเมตรพัง บางแห่งไฟไหม้ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุทั้งวัดเสียหาย 100%

ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ไปตรวจเยี่ยม และมอบปัจจัยสิ่งของให้พระสงฆ์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เดือดร้อน ไม่มีที่หลับที่นอน เพราะกุฏิพังทั้งหมด แต่ในการฟื้นฟูให้วัดกลับสู่สภาพเดิมใครจะรับผิดชอบ

ห่วงพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจะถล่มเพราะแรงพลุระเบิด

 

พระมหาวิเชียร กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กล่าวว่า ส่วนของพระปรางค์ยังไม่ได้สำรวจ ไม่ทราบว่าได้รับผลกระทบขนาดไหน แต่สิ่งปลูกสร้าง และถาวรวัตถุในวัด กุฏิพระ 12 หลัง หอสวดมนต์ หอฉัน ศาลาเมรุ ศาลาบำเพ็ญกุศลหลังใหญ่ เมรุเผาศพ และพระอุโบสถเสียหายทั้งหมด หากจะฟื้นฟูให้เข้าสู่สภาพเดิม คงต้องใช้งบประมาณนับร้อยล้านบาท

บรรหาร ศิลปอาชา เคยเข้ามาดูที่วัดและบอกว่าจะช่วยทุกอย่าง แต่เมื่อไร อย่างไร ยังไม่ได้พูดในรายละเอียด แต่ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินนักร้องชาวสุพรรณฯ ได้แวะไปเยี่ยมเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยบูรณะวัด โดยหาทุนจากการจัดสร้างพระมเหศวร พิมพ์เดียวกับที่เขาบูชาและห้อยคอตลอดเวลา ให้ประชาชนเช่า ซึ่งท่านก็เห็นด้วย

ท่านเล่าว่าพระสงฆ์ 12 รูป อยู่ในฐานะลำบาก หลับนอนกันตามที่ต่างๆ ที่ยังพอหลบได้ เช่น ใต้ถุนศาลา เป็นต้น เพราะกุฏิที่เคยอาศัยพังหมด ท่านว่าเป็นเรื่องที่นึกไม่ถึงว่าจะรุนแรงขนาดนี้ เพราะว่าทุกปีตั้งแต่สร้างมังกรตัวนี้ จะมีอุบัติเหตุตลอด และทำความเดือดร้อนให้ชาววัดและชาวบ้านข้างเคียง เนื่องจากจุดพลุดังสนั่นหวั่นไหวทุกปีเมื่อถึงงานเทศกาลตรุษจีน

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยมีพระปรางค์ใหญ่เป็นศูนย์รวมศรัทธา และพระผงสุพรรณ ที่เป็นพระผงชั้นหนึ่งในชุดเบญจภาคี ก็ได้จากกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุนี้ เช่นเดียวกันกับพระกำแพงศอก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางลีลาแบบสุโขทัย เนื้อชินก็ได้จากกรุวัดนี้

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุตั้งอยู่ที่ถนนสมภารคง เขตตำบลรั้วใหญ่ ชาวบ้านมักเรียกชื่อวัดนี้สั้นๆ ว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งมีประวัติยาวนานหลายศตวรรษ หนังสือเรื่องเมืองสุพรรณฯ ให้ข้อมูลเรื่องวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและพระปรางค์ไว้ว่า

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ในสมัยแรกนั้น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเจริญรุ่งเรืองมาก ชาวเมืองสุพรรณบุรีต่างให้ความเคารพศรัทธาและไปสักการบูชากันอยู่ไม่ขาดสาย

แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่ารุกรานจนแตกพ่ายในปี พ.ศ. 2310 เมืองต่างๆ ก็กลายเป็นเมืองร้าง ไร้ผู้คนรวมทั้งเมืองสุพรรณฯ นี้ด้วย วัดมหาธาตุจึงทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และท้ายที่สุดก็กลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2446 ชาวจีนที่ปลูกผักอยู่ใกล้ๆ บริเวณวัดได้ลงไปในองค์พระปรางค์ ขุดเอาแก้วแหวนเงินทองกลับเมืองจีนไป เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องก็พากันไปขุดบ้าง และได้ค้นพบพระเครื่องและพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก ทำให้องค์พระปรางค์ที่ชำรุดอยู่แล้วยิ่งชำรุดทรุดโทรมลงไปอีก จนกระทั่งพระยาสุนทรสงคราม (อี้ กรรณสูต) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองในขณะนั้นทราบเรื่อง จึงเกณฑ์ไพร่พลลงไปขุดค้นหาโบราณวัตถุที่เหลืออยู่ในกรุมาเก็บรักษาไว้ที่จวนผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี และหลังจากนั้นก็ได้บูรณะซ่อมแซมวัดให้ดีขึ้นอีกครั้ง

ห่วงพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจะถล่มเพราะแรงพลุระเบิด

 

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุได้แก่ องค์พระปรางค์ก่อด้วยอิฐเผาไม่สอปูน ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นอ่อนช้อยงดงาม ภายในเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สันนิษฐานว่าก่อสร้างก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะลักษณะการสร้างเป็นเทคนิคเก่าแก่กว่าสมัยอยุธยา อีกทั้งโบราณวัตถุที่ขุดพบ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปหรือพระพิมพ์ต่างๆ ดังเช่น พระนาคปรกแบบลพบุรี พระกำแพงศอกศิลปะสุโขทัย และพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง รวมถึงพระพิมพ์ผงสุพรรณ ล้วนเป็นศิลปะก่อนสมัยอยุธยาทั้งสิ้น

บริเวณด้านข้างพระปรางค์องค์ใหญ่มีพระปรางค์คู่เคียงกันอยู่ด้านละ 1 องค์ ลักษณะก่อสร้างเท่าที่พอเหลือให้เห็นเป็นแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน เป็นพระปรางค์สมัยอู่ทอง ทั้ง 2 องค์นี้เป็นลักษณะเจดีย์มหายานที่มีรูปทรงงดงามได้สัดส่วน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพระปรางค์คู่นั้นเหลือเพียงฐาน เนื่องด้วยชำรุด พังทลายด้วยฝีมือมนุษย์ที่ขุดหาทรัพย์ และพระเครื่องที่บรรจุภายใน

ในบริเวณวัดยังมีวิหารคู่ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายในมีพระพุทธรูปสำหรับบูชา นอกจากนั้นวัดนี้ยังเป็นศูนย์รวมพระพุทธรูปจำนวนมากตั้งอยู่ในวิหารใหญ่ โดยมีพระปางไสยาสน์ อยู่ในวิหารด้านตะวันออกติดกับถนนอีก 2 องค์

ด้านตะวันตกยังมีอุโบสถหลังเก่าอายุประมาณ 100 ปี สร้างแปลกจากที่อื่นเพราะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โครงสร้างอุโบสถเป็นแบบง่ายๆ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ไม่มีประตูหน้าต่าง นอกจากกำแพงสูงประมาณ 2 ศอกล้อมรอบ ในส่วนภายในมีเสาไม้รับหลังคามุงกระเบื้องว่าว แต่ก็แตกหักไปเป็นส่วนมาก ที่ยังคงสภาพน่าดูอยู่คือใบพัทธสีมาที่เป็นหินทรายโบราณ

การที่อุโบสถหันหน้าไปทิศตะวันตก ถามผู้รู้รุ่นเก่าเล่าให้ฟังว่า เคยมีลำคลองตัดจากแม่น้ำสุพรรณฯ ผ่านด้านตะวันตกของวัดออกไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และทะลุไปยังวัดป่าเลไลยก์ คลองนี้เป็นทางสัญจรอีกทางหนึ่ง นอกจากคลองที่ตัดจากวัดประตูสาร ไปยังวัดป่าเลไลยก์

ศาลเทพารักษ์หลักเมือง

ส่วนศาลหลักเมืองนี้มีชื่อเรียกว่า “ศาลเทพารักษ์หลักเมือง” มีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยไม่มีหลักฐานปรากฏว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย แล้วร้างไประยะหนึ่งในช่วง พ.ศ. 2310 เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2435 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มาตรวจราชการที่เมืองสุพรรณฯ หลังจากทรงตรวจหัวเมืองทางภาคเหนือหลายจังหวัดแล้วมาแวะที่ จ.อ่างทอง บอกพ่อเมืองอ่างทองว่าจะไปเมืองสุพรรณฯ แต่พ่อเมืองอ่างทองในสมัยนั้นชื่อว่า พระยาอินทรวิชิต (เถียร) เคยอุ้มสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เมื่อยังเป็นเด็ก จึงคุ้นกันสนิทกว่าขุนนางที่เป็นชาวหัวเมืองอื่นๆ ไม่เต็มใจจะให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปเมืองสุพรรณฯ บอกว่าหนทางไกลไม่มีที่จะพักแรม และท้องทุ่งที่จะเดินทางไปก็ยังเป็นน้ำเป็นโคลน ถ้าไปเกรงจะลำบากนัก

แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่าไปมาหลายแห่งเดินทางลำบากมาแล้ว ไปสุพรรณฯ คงทนได้ เมื่อสุดจะทัดทาน เจ้าเมืองอ่างทองจึงไปบอกพระยาวรพุทธิโภคัย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในราชการที่ไปกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่าในกรมไม่ทรงทราบหรือว่าเขาห้ามเจ้าไปเมืองสุพรรณฯ เพราะเขาว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณฯ ไม่ชอบเจ้านาย ถ้าเสด็จไปมักทำให้เกิดภัยอันตราย แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงตัดสินใจเสด็จเมืองสุพรรณฯ โดยเสด็จไปทางบก มีม้าเป็นพาหนะ กินเวลานานกว่าจะถึงเมืองสุพรรณฯ เมื่อไปถึงไม่มีเจ้าเมืองมาต้อนรับ เพราะหลบไปกรุงเทพฯ ทั้งนี้เพราะประชาชนชาวสุพรรณฯ เตรียมร้องเรียนที่เจ้าเมืองสร้างความเดือดร้อนให้มาก เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบเช่นนั้นจึงสั่งปลดกลางอากาศทันที

ในนิทานโบราณคดี ท่านเล่าว่า เมื่อฉัน (สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ) พักอยู่ที่เมืองสุพรรณฯ ครั้งนั้น มีเวลาไปเที่ยวที่เจดีย์วัตถุที่สำคัญ เช่น วัดมหาธาตุ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ) และวัดพระป่าเลไล (วัดป่าเลไลยก์) สระน้ำสรงราชาภิเษก (สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกส)

ห่วงพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจะถล่มเพราะแรงพลุระเบิด

และไปทำพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นศาลไม้เก่าคร่ำคร่า มีเทวรูปพระพิษณุแบบเก่ามากจำหลักศิลาตั้งอยู่ 2 องค์ ฉันรับเป็นหัวหน้าชักชวนพวกชาวเมืองสุพรรณฯ ให้ช่วยกันสร้างศาลใหม่ ให้เป็นตึกก่ออิฐถือปูน และก่อเขื่อนถมดินเป็นชานรอบศาล พวกพ่อค้าจีนช่วยกัน แข็งแรงทั้งในการบริจาคทรัพย์และจัดการรักษา ดูเหมือนจะเริ่มมีเฮียกงประจำศาลแต่นั้นมา

หลักเมืองสุพรรณฯ นี้ไม่เหมือนกับหลักเมืองทั่วๆ ไป ที่ทำด้วยไม้ แต่เป็นรูปจำหลักนูนต่ำบนแผ่นหินสีเขียว เป็นศิลปะแบบไพรกเมงอันเก่าแก่ มีอายุประมาณ 1,3001,400 ปีมาแล้ว เป็น “พระนารายณ์สี่กร และมีเทวรูปพระอิศวร ประดิษฐานอยู่ข้างๆ นับเป็นปูชนียวัตถุที่ประชาชนในจังหวัดเคารพบูชาเป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของชาวจีน หรือตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของไทย จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลมาที่ศาลหลักเมืองเพื่อร่วมงานแห่อัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองและงานประเพณีทิ้งกระจาด

นับแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปทำลายความเชื่อเก่าๆ รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ 2 ครั้ง นับแต่นั้นก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณฯ เดี๋ยวนี้คนที่รู้ว่าเคยมีคติเช่นนั้นก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว จึงเขียนนิทานโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้สูญไปเสีย