posttoday

ปรากฏการณ์แห่งสำนึกของสัตว์ประเสริฐ...ที่ควร(ตอน ๑๗)

12 มกราคม 2555

ปุจฉา : ขอกราบอาราธนาพระอาจารย์

ปุจฉา : ขอกราบอาราธนาพระอาจารย์

โดย..พระอาจารย์อารยะวังโส

ได้กรุณาขยายความและยกตัวอย่าง กรณีการออกแบบกฎหมายที่ต้องเป็นไปอย่างควบคู่กับศีลธรรม เพื่อให้กฎหมายนั้นสามารถรักษากลไกของสังคมให้ดำเนินไปอย่างสงบสุข ดำรงซึ่งสันติและให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้พัฒนาตนเป็นคนดีได้ ที่สำคัญจะได้เตือนผู้ออกแบบกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมายทั้งหลาย ได้พึงตระหนักว่า ศีลธรรมและกฎหมายไม่อาจแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด

จึงขอกราบอาราธนาพระอาจารย์ได้วิสัชนาให้สาธุชนทั้งหลายได้เรียนรู้ไปพร้อมกันด้วยค่ะ

ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิสัชนา : จึงต้องพัฒนาการศึกษาให้ครบสมบูรณ์ทั้งสองด้าน ทั้งด้านศิลปวิทยาการทางโลก ความรู้ในศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ว่านิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ซึ่งจะต้องมุ่งสู่ธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นตราชู เป็นไปตามวิถีธรรม และจะบรรจบกันที่ธรรมอันเป็นที่หมายเดียวกัน ที่จะให้ค่าความเป็นปกติสมบูรณ์พร้อมด้วยประโยชน์สุขแห่งการดำเนินชีวิตที่เป็นไปอย่างมีแบบแผนโดยธรรม ดังนั้น จึงมีหลักปกติแห่งสังคมที่จะใช้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาตัดสินอย่างมีมาตรฐานบนภาคจิตสำนึกของสังคมที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เพราะสมาชิกในสังคมมีธรรมเป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่งแห่งการดำเนินชีวิต ปกครองโดยหลักนิติธรรม ที่ให้ความยุติธรรม ซึ่งไม่ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ในรูปธรรมนิยาม อันจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ไม่วิบัติของภาคสังคม ดังเช่น คนที่ทำผิดกฎหมายกับความเป็นคนดีนั้น อาจจะสวนทางกันได้ แม้จะฆ่าคนมา ๙๙๙ ศพอย่างอหิงสกะ ซึ่งต่อมาสามารถพัฒนาการเรียนรู้จนยกระดับจิตสู่ความเป็นอรหันตสาวกในพระพุทธศาสนาได้ ซึ่งหากเป็นในปัจจุบัน พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องควบคุมตัวพระองคุลิมาลออกไปจากสังฆมณฑล เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวนและลงโทษตามทางโลก ทั้งนี้ เพราะมีความผิดปรากฏชัดแจ้ง แต่เหตุใด พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงไม่ดำเนินการตามกฎหมายของบ้านเมือง มิหนำซ้ำยังปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐากพระองคุลิมาล...

เรื่องดังกล่าวจึงควรพิจารณาเพื่อเป็นธัมมานุสติ... เพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาธรรม และเราจะได้ข้อยุติโดยธรรมอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าความสำนึกทางจิตวิญญาณแบบวิถีพุทธ ซึ่งพุทธศาสนามุ่งการพัฒนายกระดับจิตใจสู่ความบริสุทธิ์ยุติธรรม สร้างคุณค่าความสำนึกที่ชอบโดยธรรม ยึดหลักประโยชน์สุขโดยธรรมเป็นเครื่องตัดสิน สังคมในสมัยนั้นจึงให้คุณค่าความสำนึกทางธรรมสูงมาก... มากพอที่จะรู้จักการให้อภัยทาน มากกว่าการมุ่งสู่การเบียดเบียนทำลายกัน การฆ่าฟันกัน... การให้ความหมายธรรมที่อภัยทานจึงเป็นเอกลักษณ์ทางสังคมอารยธรรมของพระพุทธศาสนา และเป็นไปตามหลักคุรุธรรมของชาวชมพูทวีปในยุคนั้น ที่ถือปฏิบัติกันอย่างเข้มแข็งสืบเนื่องมายาวนาน ด้วยจิตสำนึกภาคสังคมที่มั่นคงโดยธรรม... ด้วยเห็นคุณค่าของธรรมเป็นสำคัญ... เป็นธงชัยแห่งการดำเนินชีวิต จึงไม่ผิดพลาดต่อการตัดสินใจใดๆ ดังเช่น หากนำอหิงสกะไปประหารชีวิต ซึ่งขณะนั้นสู่ความเป็นพระอรหันต์เจ้าแล้ว ก็คงเป็นอนันตริยกรรมที่ยิ่งใหญ่ต่อผู้กระทำ... ผู้ร่วมรู้ ผู้สั่งการ ที่สำคัญ เมื่อศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ก็ต้องยอมรับว่า บุคคลเหล่านั้นที่เคยประพฤติผิดกฎหมาย บัดนี้ สู่ความเป็นคนดีแล้ว และเป็นความดีขั้นสูงสุด ได้แก่ อริยบุคคล ขั้นพระอรหันต์ จึงเป็นการนิรโทษกรรมโดยปริยาย เมื่อผู้เคยกระทำผิดเหล่านั้นมุ่งเข้าสู่เขตอภัยทาน เพื่อมุ่งพัฒนาชีวิตให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในธรรม จนถึงที่สุด แห่งที่สุดของการประพฤติธรรม ดังคำกล่าวที่อาตมาเคยอุทานเมื่อพบความอัศจรรย์ของธรรม ณ โพธิมณฑลสถาน พุทธคยา อินเดีย ครั้งวันวิสาขบูชา ปี ๒๕๔๘ ว่า

ที่สุด... ของที่สุด เส้นทางมรรค

ที่สุด... ของที่สุด ปรากฏผล

ที่สุด... ของที่สุด พ้นบ่วงกล

ปรากฏผล เมื่อถึง ที่สุดจริง!!!

จึงไม่แปลก หากในสมัยพุทธกาล หรือก่อนหน้านั้น ในชมพูทวีปจึงมีข้อยุติโดยธรรมเป็นเครื่องตัดสิน และถือปฏิบัติตามหลักคุรุธรรมอย่างเคร่งครัดและสืบเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อการดำรงภาคจิตสำนึกของสังคมที่นำไปสู่การให้คุณประโยชน์ต่อการสัมพันธ์กันในสังคม การยึดถือปฏิบัติตามจารีตประเพณี และวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องไม่สูญสลาย จึงเป็นเครื่องแสดงออกให้ประจักษ์แจ้ง ดังเช่น ป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันเป็นที่ตั้งของธัมเมกขสถูป สถานที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงปฐมเทศนา ที่เรียกว่า ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์คุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสีทรงประกาศให้เป็นเขตอภัยทาน ห้ามประชาชนหรือใครๆ ฆ่าสัตว์ในเขตพื้นที่ดังกล่าวนั้นมาตั้งหลายหมื่นปี ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ ... นี่คือ ความสำนึกของภาคสังคม อันหมายถึงมวลรวมความสำนึกจากสมาชิกในสังคม ที่แสดงถึงความมั่นคงเข้มแข็งในคุรุธรรม ซึ่งเป็นเนติฉบับของกฎระเบียบ... หลักนิติธรรมทั้งปวงของสังคม... ที่สำคัญ คือ ความเป็นบทธรรมของทุกศาสนา แม้ศาสนาพุทธของเราก็มิได้ปฏิเสธหลักคุรุธรรม อันมีคุณานุปการต่อชาวโลกมาแต่ดั้งเดิม

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้