posttoday

สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมรับมือวิกฤตในวิกฤต(1)

27 พฤศจิกายน 2554

ท่ามกลางวิกฤตการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ยังมีหลายวิกฤตที่เกิดขึ้นซ้อน

ท่ามกลางวิกฤตการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ยังมีหลายวิกฤตที่เกิดขึ้นซ้อน

โดย..ปรีดา เรืองวิชาธร

ณ ใจกลางของมหาวิกฤตครั้งนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการแก้ไขจัดการน้ำท่วม ดังเราจะเห็นภาพความขัดแย้งเกิดขึ้นตลอดเส้นทางของการคลี่คลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภายใน ศปภ.เอง ระหว่าง กทม.กับกรมชลฯ หรือฝ่ายค้านกับรัฐบาล ที่สำคัญมากยิ่งกว่า คือ มันเกิดขึ้นกับประชาชนด้วยกันเองที่อยู่คนละพื้นที่ที่มีประตูระบายน้ำหรือแนวคันกั้นน้ำขวางอยู่ โดยเฉพาะกรณีที่มีความพยายามจะรื้อแนวบิ๊กแบ็กหลายจุดและการชุมนุมกดดันให้เปิดประตูระบายน้ำ เป็นต้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังหาทางคลี่คลายวิกฤตการณ์ภายใต้แรงกดดันมหาศาล สะท้อนให้เห็นความจริงที่น่าเจ็บปวดก็คือ การหาทางออกหรือวิธีการแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ นั้น แม้จะพยายามช่วยแก้ไขคลี่คลายให้กับพื้นที่ที่เป็นหัวใจสำคัญเป็นหลักก่อน แต่ก็ย่อมก่อผลกระทบกับอีกหลายพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและแรงกดดันเช่นนี้ ยิ่งยากที่จะทำให้แต่ละวิธีการไม่ได้มาจากการไตร่ตรองวิเคราะห์อย่างมีส่วนร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบ จึงยังผลให้วิธีการแก้ปัญหามีแนวโน้มทุ่มไปปกปักรักษาพื้นที่สำคัญ ในขณะอีกหลายพื้นที่จึงไม่ได้รับการใส่ใจเหลียวแลความทุกข์ความต้องการของเขาอย่างที่ควรจะเป็น แม้ในวอร์รูมของรัฐบาลจะอ้างอย่างชอบธรรมว่าต้องเอาพื้นที่หัวใจหรือส่วนสำคัญที่สุดเป็นตัวตั้งก่อน แต่หลายพื้นที่ที่ต้องรับชะตากรรมเป็นผู้เสียสละมาหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งนี้ต่างอดไม่ได้ที่จะรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำอย่างเจ็บปวดจนแปรไปสู่ความโกรธแค้นอยากจะเป็นปฏิปักษ์กับวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาล และที่สุดพวกเขาก็ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมในฐานที่เห็นแก่ตัวไม่คิดถึงส่วนรวมและความเหมาะสม

กระบวนการคลี่คลายปัญหาในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความจริงที่สั่งสมอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งมานานว่า ในอดีตที่ผ่านมารัฐกับบรรดานายของทุนน้อยใหญ่ทั้งหลายนั้นได้ใช้อำนาจเหนือโดยไม่เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดวิถีทางพัฒนาประเทศและสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ รวมถึงมีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาหรือร่วมสลายความขัดแย้งในเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเพียงพอและสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากภาพความขัดแย้งต่อต้านโครงการพัฒนาน้อยใหญ่ของรัฐบาลและฝ่ายทุน ที่แทบไม่เคยเปิดพื้นที่อย่างเท่าเทียมเพื่อรับฟังเสียงแห่งความต้องการที่แตกต่าง ซึ่งมักลงเอยด้วยการใช้อำนาจเหนือบังคับ ตัดสินใจแทน หรือสร้างความหมายปลุกปั่นให้ผู้เสียเปรียบทางสังคมต้องยอมทำตามเป้าหมายของรัฐกับฝ่ายทุน ในนามของการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ จนสังคมไทยต้องขายตัวแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมทรัพยากรต่างๆ แรงงาน ที่ดิน รากเหง้าทางวัฒนธรรม รวมถึงจิตวิญญาณในความเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงไม่หลงใหลฝักใฝ่ในโลภ โกรธ หลง จนเลยเถิดกลายเป็นความลุ่มหลงวัตถุนิยมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมรับมือวิกฤตในวิกฤต(1)

 

การที่รัฐและฝ่ายทุนที่มีอำนาจมากมายในมือไม่ยอมเปิดหรือสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามากำหนดทิศทางการพัฒนาร่วม เข้ามาต่อรองหรือแบ่งปันอำนาจในการบริหารจัดการ รวมถึงมีส่วนร่วมในการตรวจสอบแก้ไขโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมานั้น นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ซับซ้อนหลายด้านหลายระดับอันเนื่องมาจากการมุ่งพัฒนาที่เอียงอย่างสุดโต่งไปทางด้านเศรษฐกิจแบบวัตถุนิยมจ๋าแล้ว การใช้อำนาจเหนือที่เน้นคิดและตัดสินใจแทนอย่างเป็นอาจิณมักทำให้มีบางฝ่ายได้เปรียบอยู่เสมอ ขณะที่อีกฝ่ายก็เสียเปรียบอยู่เสมอ ทุกย่างก้าวของการตอกย้ำการใช้อำนาจเหนือนั้น นำไปสู่การเพิ่มพูนพลังอำนาจให้ฝ่ายหนึ่งที่มีอำนาจอยู่ในมือมากอยู่แล้ว และอีกด้านหนึ่งก็ลดทอนพลังอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งที่มีอำนาจต่อรองน้อยอยู่แล้ว ความรู้สึกของฝ่ายที่เสียเปรียบทางสังคมมักจะเก็บกดความเจ็บปวดและพร้อมที่จะโต้ตอบเพื่อขอแบ่งปันหรือแย่งชิงอำนาจในรูปแบบที่เต็มไปด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ ดังหลายปีมานี้ภาคประชาชนที่เสียเปรียบทางสังคมได้ปฏิเสธอำนาจรัฐกับฝ่ายทุนด้วยการปลุกม็อบนานาชนิด ดังนั้นท้องถนนและสถานที่เชิงสัญลักษณ์จึงกลายเป็นสมรภูมิต่อรองทางอำนาจ ครั้นพวกเขาจะหวังพึ่งกลไกลของรัฐก็จะรู้สึกไร้ซึ่งความหวัง เพราะภาคการเมืองเราห่วยเต็มที

มิเพียงเท่านี้ การมุ่งเน้นการใช้อำนาจเหนือเพื่อรวบรัดการคิดและตัดสินใจแทนมาโดยตลอดนั้น ยังทำให้กระบวนการสื่อสารทางสังคมอ่อนแอเปราะบางง่ายต่อการปลุกปั่นและปะทุเป็นความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งมักนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างสุดขั้ว ทั้งนี้เพราะสังคมไทยมิได้มีโอกาสมากพอที่จะฝึกฝนให้เกิดการคิดวิเคราะห์แลกเปลี่ยนมุมมองและความต้องการที่เกิดจากความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเท่าเทียมและสร้างสรรค์ สังเกตได้ง่ายมากจากแต่ละฝ่ายที่ปากชอบอวดอ้างเชิดชูวิถีประชาธิปไตยพร่ำบ่นถึงการเคารพสิทธิและความหลากหลายเป็นพื้นฐาน แต่ด้านหนึ่งกับทนได้ยากอดกลั้นได้น้อยกับความเชื่อและความต้องการที่แตกต่างของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นเมื่อสังคมถึงคราวต้องการใช้กระบวนการเจรจาต่อรองใดๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน จึงทำให้เราคุยกันไม่รู้เรื่อง การเจรจาตกลงเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันที่ดีจึงบังเกิดผลได้ยากเต็มที ดังเช่นการเจรจาระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับตัวแทนเสื้อแดงเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้หากรัฐหรือเหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลายจะขอความร่วมมือให้ประชาชนแต่ละภาคส่วนประสานสามัคคีกัน หรือขอให้บางฝ่ายบางส่วนเสียสละเพื่อส่วนรวม ทั้งที่สังคมไทยยังเต็มไปด้วยการผูกเงื่อนปมแห่งความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งรุนแรงมาโดยตลอด จึงเป็นคำร้องขอที่ทั้งน่าขบขันและน่าเจ็บปวดเป็นอย่างยิ่ง

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจเหนือเป็นหลักมาโดยตลอดก็คือ ความไม่มุ่งมั่นจริงใจต่อข้อเสนอของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา เพื่อดึงคนที่มีความสามารถและได้รับความไว้วางใจจากสังคมเข้ามามีส่วนร่วมช่วยทำภารกิจบางอย่างที่รัฐบาลอับจนหนทางหรือไม่เหมาะสมที่จะดึงมาทำเอง อย่างกรณีรัฐบาลทักษิณตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อศึกษาและบรรเทาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์แต่งตั้งกรรมการถึง 5 ชุด ขึ้นมาเพื่อค้นหาความจริงและบรรเทาเยียวยาหลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว และที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่แต่งตั้งกรรมการ 2 ชุด เพื่อเยียวยาวและฟื้นฟูหลังน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เป็นต้น การแต่งตั้งบุคคลจากหลายภาคส่วนเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญที่ไร้ซึ่งถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล แม้จะติดขัดด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม ล้วนทำให้เกิดผลสำคัญก็คือ แต่ละภาคส่วนที่มุ่งมั่นจริงใจมาช่วยขับเคลื่อนภารกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่างเกิดความเสื่อมศรัทธาและหมดหวังต่อรัฐบาล รวมถึงประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธาต่อรัฐและบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลาย และที่น่าเจ็บปวดใจแทนผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมเป็นกรรมการต่างๆ เหล่านี้ ต้องถูกต่อต้านถูกบริภาษอย่างรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล ที่สุดแล้วรัฐบาลก็เพิกเฉยหรือใช้ประโยชน์จากผลงานของเหล่ากรรมการที่ตัวเองตั้งมากับมือแบบทิ้งๆ ขว้างๆ จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาเล่นการเมืองแบบห่วยแตกต่อไป

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นผลร้ายทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจเหนืออย่างผูกขาด โดยไม่พยายามเปิดหรือสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมให้คนจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา เข้ามาร่วมบริหารจัดการ และร่วมตรวจสอบโครงการน้อยใหญ่ของรัฐที่มีผลกระทบกว้างขวางลึกซึ้งต่อคนในสังคม ตอนนี้ถึงเวลาหรือยัง (จริงๆ มันล่วงเลยเวลามานานแล้ว) ที่สังคมไทยจะร่วมกันพัฒนาพื้นที่และกระบวนการการมีส่วนร่วมกันเองในหลากหลายมิติในทุกระดับ และส่งแรงกดดันให้รัฐและผู้มีอำนาจต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมเพื่อแบ่งปันอำนาจการตัดสินใจ สัปดาห์หน้าค่อยมาลงรายละเอียดการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม