posttoday

เตรียมจัดงานฉลองที่ยูเนสโกยยกย่องจารึกวัดโพธิ์

23 ตุลาคม 2554

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ วัดประจำรัชกาลที่ 1 ที่คนไทยภาคภูมิใจว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของสยาม

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ วัดประจำรัชกาลที่ 1 ที่คนไทยภาคภูมิใจว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของสยาม

โดย..สมาน สุดโต 

เพราะมีบันทึกจารึกสรรพวิทยาการ ตั้งแต่อาชีวอนามัย กาพย์กลอน โคลงฉันท์ การปกครอง ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา นิทานชาดก สุภาษิต และการแพทย์แผนโบราณที่เป็นมรดกภูมิปัญญาไทยให้สาธารณชนคนทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้ บัดนี้ได้เป็นที่ยอมรับระดับโลก เมื่อยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ทางวัดจึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม จัดงานฉลองใหญ่ในวันที่ 25 พ.ย.-5 ธ.ค. 2554

หนึ่งใน 150 ประเทศ

คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนความทรงจำแห่งโลก บอกว่าจารึกวัดโพธิ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนี้ มีคุณสมบัติตรงกับหลักเกณฑ์ของยูเนสโก เช่น มีการดูแลรักษาอย่างดี และเผยแพร่ให้สาธารณชนศึกษาหาความรู้ เป็นต้น ซึ่งประเทศที่มีสมบัติทางวัฒนธรรมที่ยูเนสโกยกย่องมีเพียง 44 ประเทศ จากภาคีสมาชิกกว่า 150 ประเทศ จึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง

พระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ ป.ธ. 9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ได้กล่าวในงานเดียวกันว่าจารึกวัดโพธิ์มี 1,440 แผ่น โดยแผ่นแรกทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปีพระพุทธศักราช 2343 ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร (มีอักษรจารึก 30 บรรทัด) เล่าเรื่องการสร้างวัดโพธิ์โดยละเอียด รวมทั้งงานฉลองวัดว่ามีอะไรบ้าง ท้ายจารึกสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงตั้งพระราชปณิธานขอเป็นพระสัมโพธิญาณที่จะสร้างและบูรณะวัดแห่งนี้

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ พร้อมทั้งทรงรวบรวมสรรพวิทยาการมาจารึกไว้โดยรอบระเบียงคด วิหาร และศาลา จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของสยาม

เมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ทางวัดและกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิสิริวัฒนภักดี มูลนิธิสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงร่วมกันจัดงานฉลองเริ่มในวันที่ 25 พ.ย. สิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค. 2554 โดยจำลองการฉลองที่มีครั้งโบราณมาไว้ ทั้งการแสดงและการออกร้าน ที่ขาดไม่ได้คือการบำเพ็ญกุศล ซึ่งทางวัดจะนิมนต์พระมาสวดมนต์ทุกวัน วันละ 85 รูป และมีเทศน์มหาชาติ ตามบทและทำนองพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์รูปแรกของโลกที่ยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดย ดร.พระครูวินัยธร มานพ นักเทศน์มหาชาติชื่อดังแห่งยุค ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ จะเป็นผู้นิมนต์พระนักเทศน์มหาชาติจากสำนักต่างมาเทศน์ในตอนค่ำทุกวัน

เตรียมจัดงานฉลองที่ยูเนสโกยยกย่องจารึกวัดโพธิ์

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการมูลนิธิสิริวัฒนภักดี ผู้สนับสนุนหลักในการบูรณปฏิสังขรณ์ และการจัดงานฉลองวัดโพธิ์ ได้กล่าวถึงการที่ตนมีความผูกพันกับวัดโพธิ์ว่ามีมานานมากและต่อเนื่อง เพราะเป็นสำนักที่เคยบรรพชาอุปสมบท พร้อมกับเชิญชวนประชาชนมาชมวัดที่มีความ Unseen อีกหลายแห่ง รวมทั้งศาลาการเปรียญซึ่งเป็นที่แถลงข่าวนั้น เคยเป็นพระอุโบสถของวัดนี้มาก่อนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมาเป็นศาลาการเปรียญเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่

เมื่อมีฐานะเป็นศาลาการเปรียญ ก็ยังมีความงามที่น่าทึ่งในหลายมิติ ตั้งแต่สถาปัตยกรรมบุษบก ฐาปน บอกว่า หากมองผ่านประตูออกไปจะเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ชัดเจน หรือถ้ามองกลับเข้ามาข้างใน จะเห็นพระประธานประทับนั่งบนบุษบกอย่างน่าอัศจรรย์

กว่าจะได้ขึ้นทะเบียน

ส่วนความเป็นมาจนกว่าจารึกวัดโพธิ์จะได้รับการขึ้นทะเบียนนั้น เอกสารเผยแพร่ระบุว่า คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ได้เสนอเอกสารมรดกของชาติให้องค์การยูเนสโกได้พิจารณารับรองเอกสารมรดกของไทยเป็นมรดกความทรงจำของโลกในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในระดับนานาชาติมาก่อนแล้ว3 รายการ คือ

1.ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่16 ต.ค. 2546

2.เอกสารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยาม พ.ศ. 2411-2453 ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2552

3.จารึกวัดโพธิ์ ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2551 และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2554

เส้นทางการเสนอจารึกวัดโพธิ์ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2550 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ได้จัดสัมมนาเครือข่ายระดับชาติด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “การเสนอจารึกวัดพระเชตุพนฯ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก” เพื่อระดมความรู้และนำประสบการณ์ที่ได้จากการสัมมนามาพิจารณาคุณสมบัติ ความหมายและคุณค่าความโดดเด่นของจารึกวัดโพธิ์ โดยการสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม จากการสัมมนาดังกล่าว พบว่าจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกภูมิปัญญาไทยที่มีความสำคัญเทียบเท่าระดับสากล มีความล้ำค่า มีประวัติความเป็นมาและเนื้อหาบอกเล่าวิชาความรู้หลากหลาย เป็นจารึกสรรพวิชาการ รวมทั้งแผ่นศิลาจารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จารึกสุภาษิตพระร่วง รูปปูนปั้นฤาษีดัดตน แสดงท่าทางการบริหารร่างกาย การนวดแผนโบราณที่รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้น

เตรียมจัดงานฉลองที่ยูเนสโกยยกย่องจารึกวัดโพธิ์

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกได้ศึกษา ประมวลความสำคัญ ว่าศิลาจารึกวัดโพธิ์มีคุณสมบัติที่สำคัญตามหลักเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด คือ เป็นของแท้เป็นของจริง เป็นของที่หายาก เป็นของที่มีคุณค่าแก่มวลมนุษยชาติ ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น คณะกรรมการฯ จึงได้เสนอจารึกวัดโพธิ์ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอันดับแรก

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2551 ในการประชุมคณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก (UNESCO Memory of the World Regional Committee for Asia/Pacific – MOWCAP) ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย มีมติรับรองจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของโลกในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามที่ประเทศไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกเสนอ

งานเพื่อมนุษยชาติ

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำโลกพิจารณาเห็นว่าเนื้อหาจารึกวัดโพธิ์มีผลต่อมวลมนุษยชาติในวงกว้าง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ถึงปัจจุบัน เป็นของแท้ มีหลักฐานระบุชื่อผู้สร้าง มีความโดดเด่นในด้านองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ จึงได้ดำเนินงานนำเสนอจารึกวัดโพธิ์เป็นเอกสารมรดกความทรงจำโลกในระดับนานาชาติ

เพื่อให้การจัดทำทะเบียนการอนุรักษ์และเผยแพร่จารึกวัดโพธิ์เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ยูเนสโกกำหนด กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการอนุรักษ์และเผยแพร่จารึกวัดโพธิ์ขึ้นในปี 2552 โดยมี ม.ร.ว.รุจยาอาภากร เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งได้ดำเนินงานและจัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน เพื่อระดมความคิดเห็นและจัดทำแผนการอนุรักษ์จารึกวัดโพธิ์ โดยกำหนดหัวข้อหลัก 4 หัวข้อ คือ การจัดทำทะเบียน การบันทึกข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล การอนุรักษ์จารึก และการเผยแพร่ข้อมูล คุณค่า และความสำคัญของจารึกฯ

เตรียมจัดงานฉลองที่ยูเนสโกยยกย่องจารึกวัดโพธิ์

 

นักภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ นำโดย ก่องแก้ว วีรประจักษ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมได้สำรวจจัดทำตำแหน่งจารึกและถ่ายภาพเพื่อจัดทำทะเบียนใหม่แล้วพบว่า มีจารึกในเขตพุทธาวาสของวัดจำนวน 1,440 แผ่น และได้ดำเนินการกรอกแบบฟอร์มทะเบียนข้อมูลจารึกตามที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติจัดทำแบบฟอร์มตามมาตรฐานสากล

คณะอนุกรรมการฯ จัดทำแผนการอนุรักษ์จารึกวัดโพธิ์เพิ่มเติม และเสนอเป็นส่วนประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกระดับนานาชาติต่อองค์การยูเนสโกในที่สุดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2554 องค์การยูเนสโก ได้มีมติรับรองให้จารึกวัดโพธิ์ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกแห่งความทรงจำแห่งโลกในระดับนานาชาติ ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก ครั้งที่ 10 (The Tenth Meeting of the International Advisory Committee for the Memory of the World Programme of UNESCO) ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมืองแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร

คณะกรรมการจัดงานจึงเชิญชวนทุกท่านให้ไปเที่ยววัดโพธิ์ นอกจากจะได้ความรู้ ได้บุญ ยังได้ความบันเทิงและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยด้วย