posttoday

จักกวัตติธรรม หลักธรรมนำสังคมสู่สันติสุข (ตอน ๘)

18 ตุลาคม 2554

ตามที่มีการเจริญพระพุทธมนต์ สวดพระปริตร อธิษฐานจิตเพื่อแผ่นดินไทย ครั้งที่ ๓๒

ตามที่มีการเจริญพระพุทธมนต์ สวดพระปริตร อธิษฐานจิตเพื่อแผ่นดินไทย ครั้งที่ ๓๒

โดย..กราบเรียน พระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่มีการเจริญพระพุทธมนต์ สวดพระปริตร อธิษฐานจิตเพื่อแผ่นดินไทย ครั้งที่ ๓๒ เมื่อวันที่ ๒ ต.ค. ๒๕๕๔ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา มีสาธุชนมาร่วมงาน ประกอบศาสนกิจกันมากมาย ด้วยความศรัทธายิ่ง

ในงานครั้งนี้ พระอาจารย์ได้แสดงธรรมที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมไทยมาก โดยเฉพาะผู้ปกครองบ้านเมือง นักการเมือง และรัฐบาล ควรจะได้มีส่วนรับฟังเพื่อเป็นอนุสติในการดำเนินชีวิต บริหารจัดการปกครองสังคม เพื่อประโยชน์และความสุขของสังคม...

จึงใคร่ขอความกรุณาช่วยสรุปธรรมเรื่องดังกล่าวที่ชื่อว่า “จักกวัตติธรรม” ลงตีพิมพ์ใน “ธรรมส่องโลก” จะเป็นประโยชน์กับสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาจะได้เรียนรู้ในหลักธรรมดังกล่าว เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตที่ต้องสัมพันธ์กับภาคสังคมโดยรวม...

กราบเรียนมาด้วยความเคารพ

คณะศรัทธาวัดพระแก้วฯ

รจนา วานิช

วิสัชนา : จากเรื่องดังกล่าวขอสาธุชนพึงพิจารณาเพื่อเข้าใจในปัญหาที่แท้จริงว่า ที่จริงของปัญหาก็คือ เพราะไม่ได้ส่งเสริมอาชีพ ไม่ได้จัดการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากต่อเนื่อง ไม่แบ่งปันทรัพย์ให้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่อง... จึงเป็นปัญหานำไปสู่วิกฤตการณ์ของความยากจนในสังคม ให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ที่สำคัญเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกลับแก้ไขอย่างไม่ถูกต้องโดยธรรม ดังเช่นเมื่อมีการลักทรัพย์ ก็ให้ทรัพย์ หรือคนประพฤติผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ... สามารถยกเลิกนิรโทษกันได้ เมื่อมีคนทำผิดจำนวนมาก จึงมีการพยายามขอนิรโทษด้วยอาศัยความประพฤติที่ไม่อาศัยธรรม ธรรมเป็นเครื่องดำเนิน... เรื่องดังกล่าวนี้ย่อมเป็นหลักธรรมที่สาธุชนพึงพิจารณาเพื่อให้เกิดสติปัญญา รู้ความควร... ความไม่ควร

โดยขอให้ยึดแนวทางในพระพุทธศาสนาที่ให้หลักสงเคราะห์ ๔ อย่าง ได้แก่ สงเคราะห์ในสิ่งที่ควรสงเคราะห์ ไม่สงเคราะห์ในสิ่งที่ไม่ควรสงเคราะห์ นี่ถูกต้อง ถ้าสงเคราะห์ในสิ่งที่ไม่ควรสงเคราะห์ หรือไม่สงเคราะห์ในสิ่งที่ควรสงเคราะห์ นี่ถือว่าผิดเพี้ยน จะเห็นว่า พระราชาองค์นี้สงเคราะห์ในสิ่งที่ไม่ควรสงเคราะห์ ความฉิบหายจึงเกิดขึ้นในอาณาจักรนั้น และต่อมาเมื่อปัญหาดังกล่าวขยายตัวมากขึ้น เพราะการสงเคราะห์ผิดๆ จึงนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดพลาดมากยิ่งขึ้น ด้วยการจับกุมคนที่ลักทรัพย์และลงโทษด้วยการประหารชีวิตตัดศีรษะเสียบประจาน เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างหวังว่าจะปราบกันอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งได้กลายเป็นตัวอย่างให้มีการหยิบอาวุธ สร้างศัสตรา เพื่อประหัตประหารซึ่งกันและกัน เจ้าทรัพย์ทั้งหลายจึงสร้างกำลังอารักขา บัดนั้น การปล้นฆ่าจึงเกิดขึ้นมากมายในแผ่นดิน...

ศีล ๕ เบื้องต้น อันถือกำเนิดเกิดขึ้นก่อนพระพุทธศาสนาและเป็นครุธรรมในชมพูทวีป ได้เสื่อมถอยขึ้นมาในยุคนั้นเพราะความยากจน เพราะการแก้ไขที่ไม่ถูกต้องของผู้ครองแผ่นดิน และเพราะไม่ตั้งมั่นประพฤติปฏิบัติตามธรรม ไม่สงเคราะห์ ขาดสติ ขาดปัญญาในการแก้ไขปัญหาในบ้านเมือง สุดท้าย ยิ่งแก้ยิ่งผิด ยิ่งแก้ยิ่งพลาด ยุ่งเหมือนด้ายกระจุกเป็นปม สืบสาวหาหัวหาท้ายไม่เจอ สังคมจึงวิบัติ คนทำผิดทำชั่วจึงมากขึ้น ศัสตราวุธจึงมากขึ้น การทำร้ายทำลายจึงมากขึ้น ดังที่ปรากฏในกาลต่อมาในสมัยของพระราชาองค์ที่ ๘ ตามความปรากฏในพระสูตร...

เมื่อมนุษย์ทำชั่วมากขึ้น ภายใต้กฎธรรมชาติความจริงที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงถูกลงโทษด้วยกฎความจริงนั้น เมื่อมนุษย์ผิดศีลธรรม การกระทำต่อสังคมสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหา สุดท้ายมนุษย์จึงมีอายุลดลงด้วยอธรรมเพิ่มขึ้น อายุและผิวพรรณของสัตว์ทั้งหลายก็เสื่อมลงจากมนุษย์ที่มีอายุ ๘ หมื่นปีในยุคนั้น ต่อมารุ่นบุตรมีอายุเพียง ๔ หมื่นปี และลดลงไปเรื่อยๆ จนเมื่อมนุษย์มีอายุ ๕๐๐ ปี ก็ลดลงเรื่อยๆ จนถึง ๒๕๐ ปี จนถึง ๑๐๐ ปี และโดยประมาณของยุคเราในปัจจุบัน นับอายุคำนวณในพระศาสนาได้ประมาณ ๗๐ ปี

การเสื่อมลงในแต่ละสมัยของอายุและวรรณะนี้ เพราะความเสื่อมของศีลธรรมคือ อธรรมเพิ่มขึ้น เช่น ในยุคที่มนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปี และลดลงมาเป็น ๔ หมื่นปีนั้น เพราะความชั่วเกิดมากขึ้น ความชั่วที่ชัดเจน คือ การพูดเท็จอย่างจงใจ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ อาการพูดเท็จ ส่อเสียด ติฉินนินทา นี่เป็นอาการของความชั่วที่แสดงปรากฏชัดในสังคมที่ไร้อารยธรรม ดังเช่นสังคมในปัจจุบันของบ้านเมืองเราที่ใช้ปากเป็นอาวุธ ส่อเสียด ติฉินนินทา ใส่ร้ายใส่เท็จ และจาบจ้วงล่วงเกินกันอย่างมากมาย นี่เป็นอาการของความชั่วที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยจากศีลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ อย่างมิต้องถามว่า ทำไม...ทำไม...

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้