posttoday

วังสราญรมย์ สถานที่แห่งความภูมิใจ ของ..กระทรวงต่างประเทศและชาวไทย

09 ตุลาคม 2554

ผู้ที่ผ่านถนนมหาไชยที่อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชอุทยานสราญรมย์จะพบอาคารโบราณแบบยุโรปที่ปรับปรุงสวยงามหลังหนึ่ง

ผู้ที่ผ่านถนนมหาไชยที่อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชอุทยานสราญรมย์จะพบอาคารโบราณแบบยุโรปที่ปรับปรุงสวยงามหลังหนึ่ง

โดย..สมาน สุดโต 

เคยเป็นที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านหน้ามีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 องค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่บนพระแท่นอย่างสง่างาม สมพระเกียรติยศอย่างยิ่ง

อร่าม สวัสดิวิชัย ผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า ราชสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หรือที่เรียกว่าสาย 4 นำโดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น เนื่องในโอกาสครบ 2 ศตวรรษแห่งปีพระราชสมภพในรัชกาลที่ 4 เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2547 สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปลายปี พ.ศ. 2552

พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้เทียบกับที่สร้างในอดีต องค์นี้สูงกว่าเพราะมีส่วนสูงเป็นสองเท่าจากพระองค์จริง หรือประมาณ 4 เมตร หล่อด้วยโลหะสำริด โดยช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

วังสราญรมย์ สถานที่แห่งความภูมิใจ ของ..กระทรวงต่างประเทศและชาวไทย

การที่สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าพระราชวังสราญรมย์ หรือกระทรวงการต่างประเทศเก่า เนื่องด้วยวังสราญรมย์สร้างขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 ที่สร้างเพื่อเป็นที่ประทับ หลังจากสละราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ ที่บรรลุนิติภาวะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทน แต่พระองค์มาด่วนสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2411 ก่อนที่วังจะสร้างเสร็จ

ผู้ออกแบบวังสราญรมย์ได้แก่ เฮนรี อาลาบาศเตอร์ ต้นตระกูลเศวตศิลา เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ และพระราชทานให้พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ประทับเมื่อปี พ.ศ. 2419–2424 ก่อนที่วังบูรพาจะสร้างเสร็จ

ส่วนชื่อว่า สราญรมย์ นั้น รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามไว้ก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้เรียกว่า “พระราชวังสราญรมย์”

ในบริเวณวังสราญรมย์ ยังมีสถานที่ที่สำคัญตั้งอยู่ สิ่งแรกคือวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นในที่ดินที่เคยเป็นสวนกาแฟของหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2407 ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุตเท่านั้น พระราชทานนามว่า “วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม” เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” เพราะเป็นวัดที่มีพัทธสีมารอบวัด (วัดที่มีสีมารอบวัดอีก 2 วัดคือวัดบพิธฯ และวัดโพธิ์นิมิตร นอกจากนั้นจะมีสีมาเฉพาะบริเวณอุโบสถ) แต่การเรียกชื่อวัดมักไม่ตรงกับชื่อที่พระราชทาน จึงทรงมีประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2411 เรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ให้ถูกว่า “วัดราชประดิษฐ์” หรือ “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” เพราะมีผู้ไปเรียกว่า วัดราชบัณฑิต หรือวัดทรงประดิษฐ์ ก็มี

เมื่อสร้างเสร็จ ได้ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว ป.9) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญ 9 ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรมรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2408

อีกสถานที่แห่งหนึ่งคือ พระราชอุทยานสราญรมย์ (ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร)

ติดๆ กันเป็นอาคารที่ทำการทำเนียบองคมนตรีและอาคารสำนักราชเลขาธิการ โดยไม่นับศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ที่อยู่คนละฟากถนน

ศันสนีย์ สหัสสะรังษี นายสถานีวิทยุสราญรมย์แถลงตอนหนึ่งในหนังสือวิทยุสราญรมย์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 4950 ที่พูดถึงวังสราญรมย์ว่า เราได้นำภาพสวยๆ ของพระราชวังสราญรมย์ในวันนี้มาฝากท่าน พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ที่พวกเราชาวบัวแก้วหลายคนรู้สึกอบอุ่นเหมือน “บ้าน” ณ วันนี้ได้รับการบูรณะปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยส่วนโครงสร้างและการปรับภูมิทัศน์ภายนอกเสร็จสมบูรณ์แล้ว คงเหลือแต่การตกแต่งภายในซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

ในหนังสือฉบับเดียวกันเล่าความเป็นมาของวังที่ตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังติดกับวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และติดกับสวนสราญรมย์ ว่า

พระราชวังสราญรมย์ หรือที่รู้จักในนาม “วังสราญรมย์” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2409 ในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเตรียมไว้เป็นที่ประทับหลังจากทรงสละราชสมบัติ เมื่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงบรรลุนิติภาวะ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตลงในปี พ.ศ. 2411 ในขณะที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทั้งสองพระองค์

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศทรงใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศในช่วงปี พ.ศ. 24282430 หรือที่เรียกกันในช่วงนั้นว่า “ศาลาว่าการต่างประเทศ”

ในช่วงปี พ.ศ. 24302469 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประทับและที่พำนักของพระราชอาคันตุกะที่มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เช่น เจ้าชายแห่งญี่ปุ่น ซาเรวิชหรือมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย (ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2) เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซ พระราชอาคันตุกะพระองค์แรกที่เข้ามาประทับคือ เจ้าชายออสการ์ เมื่อปี พ.ศ. 2427

บางครั้งก็พระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระราชโอรสที่ทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศและเสด็จกลับมากรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว

วังสราญรมย์ สถานที่แห่งความภูมิใจ ของ..กระทรวงต่างประเทศและชาวไทย

 

พระราชวังสราญรมย์ยังเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานรื่นเริงที่มีความสำคัญ อาทิ งานเต้นรำของกระทรวงการต่างประเทศเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้กระทรวงการต่างประเทศย้ายจากศาลาราชวัลลภในบริเวณพระบรมมหาราชวังกลับไปยังพระราชวังสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ใช้เป็นที่ทำการแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ตลอดช่วงปี พ.ศ. 24692540 กระทรวงการต่างประเทศได้ปรับปรุงซ่อมแซมพระราชวังสราญรมย์หลายครั้งด้วยกัน โดยได้ซ่อมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2494 รวมทั้งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมขึ้นด้วย

ในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงการต่างประเทศได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่สองแห่ง คือ อาคารถนนศรีอยุธยาและอาคารถนนแจ้งวัฒนะ โดยเริ่มการก่อสร้างอาคารทั้งสองในปี พ.ศ. 2539 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2540 จึงได้ย้ายส่วนราชการทั้งหมดจากพระราชวังสราญรมย์ไปที่อาคารที่ทำการใหม่ พร้อมกันนั้นได้ให้มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดทำข้อเสนอแนะและแผนงานสำหรับโครงการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่ออนุรักษ์พระราชวังสราญรมย์

ในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการได้ตามเสนอโดยในการนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ อย่างไรก็ดีเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงได้ชะลอโครงการไว้ชั่วคราว โดยได้พยายามดำเนินในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณมากนักเรื่อยมา

จนถึงปี พ.ศ. 2550 การบูรณะปรับปรุงซ่อมแซมพระราชวังสราญรมย์จึงเริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตามแผนงาน โดยใช้เวลา 3 ปี จึงดำเนินการในส่วนโครงสร้างและการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายนอกแล้วเสร็จ คงเหลือแต่งานตกแต่งภายในซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งต้องขอขอบคุณคณะผู้บริหารของกระทรวงการต่างประเทศที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน รวมทั้งคุณทศพร มูลศาสตรสาทร และคณะที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในโครงการนี้จนสำเร็จอย่างงดงาม

กระทรวงการต่างประเทศมุ่งหวังที่จะใช้พระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่สำหรับจัดการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญ รวมทั้งใช้เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของการต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์เพื่อให้พระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่เชิดหน้าชูตาของเกาะรัตนโกสินทร์และกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับประกอบกิจกรรมระดับนานาชาติและเป็นสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสามารถรักษาไว้ ตลอดจนทำนุบำรุงต่อไปด้วยความภาคภูมิใจ แต่จะประดับตกแต่ แล้วเสร็จต้องคอย พ.ศ. 2556