posttoday

สำนักโบฯกรมศิลปกร ใช้ GIS ดูแลโบราณสถาน

02 ตุลาคม 2554

สํานักโบราณคดี กรมศิลปากร หนักใจที่โบราณสถานหลายแห่งที่อยู่ในวัดถูกทำลายไปมาก

สํานักโบราณคดี กรมศิลปากร หนักใจที่โบราณสถานหลายแห่งที่อยู่ในวัดถูกทำลายไปมาก

โดย..สมาน สุคโต

โดยที่เจ้าอาวาสไม่รู้เท่าทัน เจ้าอาวาสบางวัดเข้าใจว่ามีแต่โบสถ์ วิหาร และศาลาการเปรียญเท่านั้นที่เป็นโบราณสถาน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว สิ่งปลูกสร้างโบราณรวมทั้งกุฏิและอาคารอื่นๆ ก็เป็นโบราณสถานเช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาจึงจัดถวายความรู้พระสังฆาธิการทุกปี ล่าสุดได้นำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) มาใช้ในการตรวจและติดตามการอนุรักษ์โบราณสถานตามวัดสำคัญๆ

การใช้ระบบ GIS อาศัยความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวงที่มีระบบสมบูรณ์มาก เพราะการไฟฟ้าฯ ต้องใช้เพื่อติดตามเก็บค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนที่เป็นผู้ใช้ไฟ

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร บอกกับผู้สื่อข่าวในงานเปิดบ้านศิลปากรครั้งที่ 6 ว่าปัญหาความไม่เข้าใจของผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานโดยเฉพาะวัดนั้น มีต่อเนื่อง เมื่อถวายความรู้แก่สมภารรูปหนึ่งไปแล้ว ต่อมามรณภาพ ความรู้ที่มีกับสมภารรูปนั้นก็ตายตามไปด้วย

เมื่อมีเจ้าอาวาสใหม่ครอบครองวัดที่เป็นโบราณสถาน สั่งรื้อโบราณสถานหลายแห่งทิ้ง กรมศิลปากรไปขอร้องว่าก่อนรื้อ ก่อนเปลี่ยนแปลงให้ปรึกษากรมศิลปากรก่อน เจ้าอาวาสบางรูปก็ร่วมมือดี แต่บางรูปได้แต่ฟังเฉยๆ แล้วสั่งรื้อ สั่งทุบทิ้ง จนกระทั่งกรมศิลปากรต้องแจ้งความดำเนินคดี เรื่องอย่างนี้เกิดที่วัดแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี เป็นวัดโบราณ แต่สมภารใหม่มีสมณศักดิ์สูง สั่งรื้อกุฏิและศาลา รวมทั้งเจดีย์ 18 รายการ กรมศิลปากรจึงแจ้งความกับเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีเจ้าอาวาสวัดนั้นรวมทั้งสิ้น 18 คดี ที่มากคดีเพราะเกิดต่างกรรมต่างวาระ

 

สำนักโบฯกรมศิลปกร ใช้ GIS ดูแลโบราณสถาน

โทษของการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 คือ ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมเสีย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน มีโทษตามมาตรา 32 ถ้าเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับสมภารรูปนี้ ตำรวจดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย เช่น พิมพ์ลายนิ้วมือในฐานะผู้ต้องหา และส่งเรื่องให้อัยการเพื่อฟ้องร้องต่อไป

ธราพงศ์ กล่าวว่า วัดในกรุงเทพมหานครจำนวนกว่า 400 วัดนั้น จัดว่าเป็นโบราณสถานเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นแต่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกเท่านั้น เพราะเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่

สำหรับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานนั้น นอกจากสำนักโบราณคดีไปสำรวจแล้วขอขึ้นทะเบียนตามอำนาจกฎหมาย ยังมีเอกชนบางรายที่เห็นคุณค่ามาขอให้ขึ้นทะเบียนบ้านของตนเป็นโบราณสถานด้วย เช่นร้าน เซ่งชง เป็นร้านทำฉลองพระบาทถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ 4 แยกประตูสามยอด ได้มาขอขึ้นทะเบียน และเคยมีเจ้าของบ้านทรงไทยโบราณย่านสี่พระยามาขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากรรับขึ้นตามระเบียบ แต่ต่อมาต้องถอนทะเบียนเพราะทราบว่าเขามาขอขึ้นทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงการเวนคืนการสร้างสาธารณูปโภคของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้น สำนักโบราณคดีได้เข้าไปสำรวจโบราณวัตถุบริเวณที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินขุดสร้างสถานีที่วังบูรพาและสนามไชย ใกล้กับกระทรวงพาณิชย์เดิม ได้พบสิ่งของโบราณหลายรายการด้วยกัน เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็นที่ตั้งวังเก่าและเส้นทางรถราง สิ่งของที่พบจะนำมาจัดแสดงให้ชมว่าที่ตั้งสถานีนั้นเคยเป็นที่ตั้งอะไรและมีโบราณสถานอะไรมาก่อน

ธราพงศ์ บอกว่าจากข้อมูลจำนวนโบราณสถานทั้งที่ขึ้นและไม่ขึ้นทะเบียนฯ ทั่วประเทศที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สำนักโบราณคดีจึงได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในงานทะเบียนโบราณสถาน เพื่อการจัดเอกสารแฟ้มทะเบียนโบราณสถานเข้าสู่ระบบการสืบค้นจากคอมพิวเตอร์ การนำเสนอข้อมูลโบราณสถานเผยแพร่ทางเว็บไซต์ www. archae.go.th และการนำเสนอข้อมูลโบราณสถานในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ซึ่งการจัดระบบข้อมูลทั้งหมดนั้นเพื่อความสะดวกในการวางแผนอนุรักษ์ บริหารจัดการโบราณสถาน และการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนในชาติ และสืบทอดให้สิ่งที่เป็นเพียงรูปธรรมมีเรื่องราวสำคัญที่คงอยู่ร่วมกับยุคสมัยสืบไป

ส่วนการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาในเอกสารเรื่อง ประวัติโบราณคดีในประเทศไทยของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ว่า “ในประเทศไทยการสงวนรักษาของโบราณเป็นทางราชการนั้นนับว่าตั้งต้นช้ากว่าประเทศทั้งหลายในโลก คือ เราเพิ่งจะมีประกาศจัดการตรวจรักษาของโบราณขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2466 โดยการดำเนินงานในระยะแรกเป็นการดำเนินงานโดยกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร”

ต่อมาจึงโอนภาระหน้าที่นี้ให้ราชบัณฑิตยสภา แผนกโบราณคดี ซึ่งราชบัณฑิตยสภาได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2469 โดยการดำเนินงานในระยะแรกราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินการจัดทำบัญชีจากการสำรวจของผู้สำเร็จราชการมณฑลต่างๆ ซึ่งปรากฏเป็นปาฐกถา เรื่อง “สงวนรักษาของโบราณ” ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงแสดงแก่เทศาภิบาล ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำหรับพระนคร เมื่อวันพุธที่ 19 พ.ย. 2473 ความตอนหนึ่งว่า

“ของโบราณนั้น ราชบัณฑิตยสภากำหนดเป็น 2 ประเภท คือ ของซึ่งไม่พึงเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นว่า เมืองและปราสาทราชวัง วัด เทวาลัย ตลอดจนบ่อกรุและสะพานหิน ของโบราณอย่างนี้ กำหนดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า โบราณสถาน ส่วนของโบราณซึ่งอาจเอาเคลื่อนที่ไปได้ เป็นต้นว่า ศิลาจารึก พระพุทธรูป เทวรูป ตลอดจนเครื่องใช้ เครื่องประดับต่างๆ เหล่านี้ กำหนดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า โบราณวัตถุ

อนึ่ง ข้อซึ่งว่าเป็นของโบราณและมิใช่ของโบราณนั้น ราชบัณฑิตยสภากำหนดว่า ของมีอายุกว่าร้อยปีขึ้นไปเป็นของโบราณ ที่เอาร้อยปีเป็นเกณฑ์ ก็เป็นแต่สมมติเพื่อสะดวกแก่การตรวจ เพราะของที่อายุยังไม่ถึงร้อยปีมีมาก และมักมีผู้รู้พอจะสืบเรื่องได้ไม่ยากเหมือนของที่เก่าก่อน แต่ราชบัณฑิตยสภามิได้ประสงค์สงวนบรรดาของโบราณทุกสิ่งไป เพราะพ้นวิสัยที่จะทำได้ อันของโบราณที่ถือว่าควรสงวนนั้นอยู่ในเกณฑ์ 2 อย่าง คือ เป็นของสำคัญในพงศาวดารอย่างหนึ่ง กับที่เป็นของสำคัญในทางศิลปศาสตร์ คือ แบบอย่างและฝีมือช่างอีกอย่างหนึ่ง

ลักษณะการสงวนของโบราณที่ราชบัณฑิตยสภาทำมานั้น กำหนดการที่ทำเป็น 3 อย่าง

อย่างที่ 1 คือ การค้น ให้รู้ว่ามีโบราณสถานอยู่ที่ไหนบ้าง ดังเช่น ราชบัณฑิตยสภาได้มีการตราของให้เทศาภิบาลต่างมณฑล ช่วยสืบแล้วบอกมาให้ทราบเพื่อจะทำบัญชี และหมายลงแผนที่ประเทศสยามไว้เป็นตำรา

อย่างที่ 2 การตรวจ คือเมื่อรู้ว่าโบราณสถานมีอยู่ ณ ที่ใดแล้ว แต่งให้ผู้เชี่ยวชาญออกไปยังที่นั้น พิจารณาดูให้รู้ว่าเป็นของอย่างไร สร้างในสมัยใด และเป็นของสำคัญเพียงใด การตรวจนี้ บางแห่งต้องขุดหาแนวรากผนังและค้นลวดลาย ต้องทำมากบ้าง น้อยบ้าง ตามลักษณะสถานที่นั้น

อย่างที่ 3 การรักษา ซึ่งนับว่าเป็นการยากยิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะโบราณสถานในประเทศมีมากในเวลานี้ ยังเหลือกำลังราชบัณฑิตยสภาที่จะจัดการรักษาได้ทุกแห่ง จำเป็นต้องกำหนดลักษณะการรักษาเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นต่ำ เป็นแต่ห้ามปรามมิให้ผู้ใดรื้อทำลายโบราณสถานที่ควรสงวน ชั้นกลาง จัดการถากถางที่บริเวณและค้ำจุนป้องกันตัวโบราณสถานมิให้หักพังอีกต่อไป ยกตัวอย่างดังเช่นที่ได้ทำที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยา และที่ในเมืองลพบุรี เป็นต้น ชั้นสูงนั้นคือ การปฏิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิม...”

“โบราณสถาน” หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือซากปรักหักพังแห่งอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอายุหรือลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันมีอยู่ในสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือศิลปกรรม

เมื่อมีพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2477 อธิบดีกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นครั้งแรกในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2478 ซึ่งเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยชื่อและสถานที่ตั้ง ยังไม่มีการกำหนดขอบเขต

ปัจจุบัน กรมศิลปากรดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 โดยมีขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานที่ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ

ในเอกสารข้อมูลของสำนักโบราณคดี ระบุว่า ตั้งแต่อดีตถึงจนถึงปัจจุบันมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั่วประเทศรวมแล้ว 2,104 แห่ง

ข้อมูลที่สำนักศิลปากรที่ 115 ส่งรายชื่อพร้อมที่ตั้งของโบราณสถานเข้ามาในปี พ.ศ. 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,633 แห่ง ซึ่งบางส่วนอยู่ระหว่างสำรวจและดำเนินการขึ้นทะเบียน

งานของสำนักโบราณคดีเป็นงานหนักที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเคารพกฎกติกา ความรู้ความเข้าใจของผู้ครอบครองและชุมชนว่าโบราณสถานและโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุนั้นเป็นรากเหง้า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศชาติ และมนุษยชาติ และต้องยอมรับว่าการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ส่วนการบุกรุก ทำลาย รื้อทิ้ง สร้างใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องงดเว้น

ดังนี้ โบราณสถานและศิลปวัตถุจึงจะอยู่เป็นมรดกของชาติไทยตลอดไป