posttoday

พุทธศาสนากับความเป็นหนึ่งเดียวด้วยการปฏิบัติ(ตอน ๒)

30 กันยายน 2554

ปุจฉา : กราบนมัสการ พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการ พระอาจารย์อารยะวังโส

โดย..พระอาจารย์อารยะวังโส

ได้ทราบว่าหลวงพ่อรับกิจนิมนต์ไปประเทศจีนในช่วงกลางพรรษา เพื่อโปรดคณะศรัทธาทางจีน ในความเป็นจริงพุทธศาสนาในประเทศจีน ทิเบต เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นมหายานนิกาย ส่วนประเทศไทยของเราเป็นเถรวาทนิกาย จึงให้มีคำถามว่า จะสงเคราะห์กันได้อย่างไรในเมื่อความเชื่อ/ศรัทธาต่างนิกายกัน แม้พุทธศาสนาเหมือนกัน และหรือหลวงพ่อปฏิบัติหรือสั่งสอนด้วยธรรมบทใด จึงทำให้มีผู้ศรัทธา จึงมีกิจนิมนต์ไปโปรดชาวจีน ตามที่ทราบข่าวมาจากคณะศิษย์ศรัทธาของหลวงพ่อ

คำถามดังกล่าวมิได้มีเจตนาล่วงเกินใดๆ เพียงเพื่อขอความรู้ด้วยจิตคารวะอย่างแท้จริง

เคารพอย่างสูงโดยธรรม

ทพญ.ไพพัชร–ทพ.ต่อถาวร จันทามงคล

วิสัชนา : กลับมาสู่คำถามที่ทราบว่าอาตมารับนิมนต์ไปสงเคราะห์คณะศรัทธาและพระสงฆ์จีน และให้มีความสงสัยว่า จะสงเคราะห์กันได้อย่างไรในเมื่อต่างนิกายกัน ระหว่างอาตมากับคณะศรัทธาหรือพระสงฆ์จีน ในเรื่องนี้ก็ขอวิสัชนาว่า เรื่องนิกายไม่ใช่เรื่องของเครื่องขวางกั้นการให้ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ประเด็นของปัญหาอยู่ที่ผู้สอนนั้นรู้จริง หรือเข้าถึงจริงในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่... อาตมาเชื่อมั่นว่า ชาวพุทธทุกนิกายและทุกประเทศย่อมมีความศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งหากมีความศรัทธาที่ถูกต้อง และมีจิตใจเข้าถึงความศรัทธาจริง ก็ย่อมที่จะไม่ปฏิเสธในองค์ธรรม ๘ ประการ ที่นำไปสู่การปฏิบัติอันมุ่งไปสู่ความสิ้นทุกข์ ที่เรียกว่า อริยมรรค และ คงไม่ปฏิเสธทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ที่ไม่มุ่งไปสุดโต่งในสองส่วนสุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรเปิดใจให้กว้างคือ อย่าไปมองแบบดูถูกกันว่านิกายฉันดี อาจารย์ฉันแน่ นิกายแกไม่ดี อาจารย์แกสู้อาจารย์ฉันไม่ได้ คิดอย่างนั้น เดี๋ยวฉันกับแกก็คงจะได้ฟาดปากกัน ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวกู...ของกูนี่แหละ...ขอให้พึงทำใจยอมรับว่า เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่สัตว์โลกต้องเสวยทุกข์อยู่ร่ำไป เมื่อนั้นเราต้องพูดเรื่องพุทธศาสนาอย่างเดียวกัน คือรู้ในทุกข์นั้นๆ เพื่อการดับทุกข์นั้น พระพุทธศาสนาของแท้ดั้งเดิมจึงสอนเฉพาะเรื่องทุกข์ กับการดับทุกข์ให้สิ้นเท่านั้น ไม่สอนให้เมามายบ้าบุญ ซื้อขายบุญ จนกลายเป็นพุทธพาณิชย์เกลื่อนกลาดไปทั่วดินแดนที่แอบอ้างว่าเป็นเขตพระพุทธศาสนา

การไปโปรดศรัทธาญาติโยมและพระจีนของอาตมานั้น เกิดขึ้นเพราะอาตมาได้เดินทางไปบำเพ็ญเพียรเจริญภาวนา อยู่ในถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ บนยอดเขาซงซาน อยู่ในมณฑลเหอหนาน อันเป็นที่ตั้งของวัดเส้าหลิน ต้นกำเนิดนิกายฌาน (ธญาณ) หรือที่เรียกว่า เซน ต่อมา โดยครั้งล่าสุดอาตมาไปจำวัดอยู่ ๙ คืน เพื่อเจริญภาวนาในถ้ำเล็กๆ ดังกล่าว ที่มีเพียงรูปปั้นของท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ หรือพระโพธิธรรม ที่ชาวพุทธในจีนให้ความเคารพนับถืออย่างสูงสุด ในครั้งนั้นอาตมาเป็นพระอาคันตุกะของวัดเส้าหลิน โดยได้รับนิมนต์จากเจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน จึงได้รับการดูแลอย่างดียิ่ง

เรียกว่าได้ฉันหมั่นโถ ผัดพืชผักของวัดเส้าหลินทุกมื้อ และที่สำคัญคือ ได้มีโอกาสปุจฉาวิสัชนาธรรมกับคณะสงฆ์วัดเส้าหลินในห้องฌาน ตามประเพณีของพุทธศาสนานิกายเซน ด้วยคำตอบของอาตมาในหลายๆ ข้อ ที่พระภิกษุจีนปุจฉามา จึงนำไปสู่ความศรัทธาให้ท่านเหล่านั้นปวารณาเป็นศิษย์ขอรับพระกรรมฐานจากอาตมา มีการนำหนังสือ แสงสว่างแห่งธรรม (Light of Dhamma) ที่อาตมาเคยสั่งสอนพระฝรั่ง ไปแปลเป็นภาษาจีน เพื่อเป็นคู่มือปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งบัดนี้หนังสือแสงสว่างแห่งธรรมภาคภาษาจีนได้แปลเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อเผยแผ่ในหมู่พระจีน และชาวพุทธในประเทศจีนที่สนใจการปฏิบัติด้วยความศรัทธาดังกล่าว จึงนำมาสู่การนิมนต์ของคณะศรัทธาในครั้งสุดท้ายนี้ ที่อาตมาได้ไปจำวัดอธิษฐานอยู่ในถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ ๓ คืน โดยถ้ำดังกล่าวมีประตูปิดเปิดเรียบร้อย ถูกต้องตามหลักพระวินัย ในการพักอาศัยในช่วงพรรษาได้ทุกประการ ด้วยเป็นถ้ำเล็กๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

อาตมาได้กระทำกิจเจริญพระพุทธมนต์แผ่เมตตา ให้บรรพชนของคณะศรัทธาเนื่องในเทศกาลเดือนสิบ และในภาคกลางวัน ยังได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนกรรมฐานให้พระจีนที่วัดเส้าหลิน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาตมาอยู่แล้ว โดยมิได้มีเรื่องนิกายมหายานหรือเถรวาทมาขวางกั้นเลย เพราะอาตมายืนยันว่าคำสอนทั้งหมดของอาตมาเป็นพุทธดั้งเดิม (Original Buddhism) ด้วยการอ้างอิงพระสูตรคำสั่งสอนที่ถูกต้องทุกประการ จึงไม่มีความขัดแย้งใดๆ ในเรื่องของพระธรรม หากแต่ลำบากใจก็เรื่องของพระวินัยต่างหาก

อ่านต่อฉบับวันจันทร์