posttoday

ตามดูความเจริญและเสื่อมของแคว้นชมพูทวีป ผ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นหมอภิญโญ

25 กันยายน 2554

เมื่อต้นเดือน ก.ย. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

เมื่อต้นเดือน ก.ย. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้จัดสัมมนาเล็กๆ เกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ “ดีและดีเด่น” ระดับปริญญาโทและเอกของนิสิต มจร หนึ่งในนั้นมีวิทยานิพนธ์ “ดีเด่น” ระดับปริญญาโท สาขาพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิต เรื่อง “การศึกษาความเจริญและความเสื่อมของแคว้นในชมพูทวีป สมัยพุทธกาลตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา” ของ นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษด้านวิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลอ่างทอง อยู่ด้วย

แรงบันดาลใจ

วิสัญญีแพทย์โรงพยาบาลอ่างทอง บอกเล่าการตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ว่า ถ้าลองย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว ปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยในเวลานั้นคือความขัดแย้งของคนไทย โดยที่คนกลุ่มต่างๆ พูดเหมือนกันประโยคหนึ่งว่า “เราทำไปเพื่อความเจริญของประเทศชาติ” แต่เขาว่าไม่น่าจะใช่เพราะดูเหมือนเราเดินออกห่างจากสิ่งที่เรียกว่าความเจริญมากขึ้นเรื่อยๆ

ตามดูความเจริญและเสื่อมของแคว้นชมพูทวีป ผ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นหมอภิญโญ

“จากจุดประกายนี้ทำให้ผมสงสัยว่า ความเจริญหน้าตาเป็นอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะเดินทางไปสู่ความเจริญที่แท้จริง ดังนั้น ผมจึงขอทำวิทยานิพนธ์ในการศึกษาเรื่องความเจริญและความเสื่อมของชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประยุกต์ให้ประเทศไทยได้เดินไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริง”

หมอภิญโญเกริ่นนำว่า การอยู่ในปฏิรูปเทสคือ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม มีความเจริญ มีคนดี มีนักปราชญ์ ถือเป็นมงคลแห่งชีวิต ประการหนึ่งสามารถนำมาให้ถึงพร้อมด้วยความเป็นใหญ่ ความไพบูลย์แห่งโภคะ ทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง และความสุข ดังอย่างเมืองพาราณสีแห่งแคว้นกาสีในสมัยพุทธกาล ความเจริญส่งผลให้มีเจ้าลัทธิต่างๆ มาอาศัยอยู่ และแม้พระพุทธเจ้ายังได้เสด็จไปประกาศศาสนาในเมืองนั้นด้วย

ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลก็ถือเป็นปฏิรูปเทส โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 แคว้นใหญ่ คือ อังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ และอีก 5 แคว้นเล็ก คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ ปัจจุบันแคว้นทั้งหมดเหลือเพียงชื่อเสียงที่มีการพูดถึงความยิ่งใหญ่ ความเจริญรุ่งเรือง หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้

ตามดูความเจริญและเสื่อมของแคว้นชมพูทวีป ผ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นหมอภิญโญ

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการศึกษาปัจจัยและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญและความเสื่อมของแคว้นในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล โดยคุณหมอเลือกวิจัยศึกษาเฉพาะ 4 แคว้นสำคัญ ได้แก่ แคว้นมคธ แคว้นโกศล แคว้นวัชชี และแคว้นสักกะ เท่านั้น

ปัจจัยแห่งความเจริญและเสื่อม

จากการศึกษาของคุณหมอพบว่าความเจริญและความเสื่อมของแคว้นเกิดขึ้นจากปัจจัย 2 ประการ คือ ปัจจัยทางประชากรและปัจจัยทางกายภาพ

ปัจจัยทางประชากร ได้แก่ ผู้นำ ผู้บริหารงานราชการ และประชาชน เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเจริญและความเสื่อมของแคว้นโดยตรง เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเกิดจากการกระทำของมนุษย์เป็นหลักสำคัญ

จากการศึกษายังพบว่าประชากรที่จะส่งผลให้เกิดความเจริญของแคว้นได้นั้นต้องอาศัยคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1.การมีปัญญา ซึ่งหมายถึง ปัญญาทางโลก ได้แก่ ความรู้ทางศาสตร์ต่างๆ ในการบริหารแคว้น เช่น ความรู้ทางด้านสภาพภูมิศาสตร์ การเมือง และการปกครอง กระบวนการยุติธรรม สภาพเศรษฐกิจ และปัญญาทางธรรม เช่น การรู้ว่าสิ่งใดคือกุศลหรืออกุศล การให้อภัย การมีเมตตา การไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เป็นต้น

ตามดูความเจริญและเสื่อมของแคว้นชมพูทวีป ผ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นหมอภิญโญ

2.การมีกัลยาณมิตร เพราะกัลยาณมิตรเป็นบุคคลที่ช่วยชี้แนะแนวทาง ชักจูง ตลอดจนแนะนำสั่งสอน ชักนำให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ประสบผลดี ให้มีความสุข ให้เจริญก้าวหน้า ให้พัฒนาในทั้งทางโลกและทางธรรม

ส่วนปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ การเมือง และการปกครอง กระบวนการยุติธรรม และสภาพเศรษฐกิจ พบว่าไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีบทบาทโดยตรง เนื่องจากถูกควบคุมโดยอ้อมผ่าน การกระทำของมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก

หลักธรรมสร้างความเจริญ

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญของแคว้นต่างๆ ได้แก่ จักรวรรดิ วัตร ทศพิธราชธรรม ขัตติยพละ อปริหานิยธรรม นาถกรณธรรม กุศลกรรมบถ และกัลยาณมิตรธรรม ส่วนหลักธรรมที่เป็นรากฐานแห่งความเสื่อม ได้แก่ อคติ อกุศลมูล และปาปมิตตะ

แคว้นมคธ เป็นแคว้นที่มีความเจริญมากที่สุดในสมัยพุทธกาล ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปัจจัยแห่งความเจริญจึงขึ้นอยู่กับคุณธรรมของพระเจ้าพิมพิสารเป็นสำคัญ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีจักรวรรดิวัตรและทศพิธราชธรรมอย่างมาก ประกอบกับการมีขัตติยพละ 5 อย่างสมบูรณ์ ทรงเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่น และทรงมีกัลยาณมิตรด้วย ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้แคว้นมคธมีความเจริญอย่างมาก

ตามดูความเจริญและเสื่อมของแคว้นชมพูทวีป ผ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นหมอภิญโญ

แคว้นโกศล เป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมาก ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่สมัยปลายพุทธกาลกลับต้องประสบกับความเสื่อมจนต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นมคธ พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการเลือกคบมิตร แม้พระองค์ทรงมีจักรวรรดิวัตรและทศพิธราชธรรม แต่กลับมีขัตติยพละที่ไม่สมบูรณ์ คือขาดผู้จงรักภักดี แรกๆ ทรงมีกัลยาณมิตร แต่หลงเชื่อคำยุยงของผู้ไม่หวังดี จึงทำให้เสียกัลยาณมิตรไปกอปรกับการคบหาปาปมิตร จึงเป็นปัจจัยนำแคว้นโกศลพบกับความเสื่อมในที่สุด

แคว้นวัชชี เป็นอีกแคว้นที่มีความรุ่งเรือง แต่กลับพ่ายแพ้สงครามและถูกรวมการปกครองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธในช่วงหลังพุทธปรินิพพาน เพราะถูกอุบายยุยงให้แตกสามัคคี

หลักธรรมที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญของแคว้นนี้คือ อปริหานิยธรรม ซึ่งทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ปกครองและประชาชน ส่วนในช่วงที่แคว้นพบกับความเสื่อมสาเหตุเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมที่เคยปฏิบัติกันมา โดยรากเหง้าของการสูญสิ้นสามัคคีธรรมนี้มาจากการคบปาปมิตร ร่วมกับการมีฉันทาคติและโทสาคติในจิตใจของเจ้าวัชชีเอง

แคว้นสักกะ เป็นแคว้นขนาดเล็กที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ในสมัยกลางพุทธกาล เจ้าศากยะกลับถูกสังหารล้างเผ่าพันธุ์ และตกเป็นเมืองขึ้นของแคว้นมคธในสมัยปลายพุทธกาล แคว้นสักกะ ปกครองโดยระบบสามัคคีธรรม ความเจริญและความเสื่อมจึงขึ้นอยู่กับความสามัคคีและคุณธรรมของเจ้าศากยะ

ตามดูความเจริญและเสื่อมของแคว้นชมพูทวีป ผ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นหมอภิญโญ

หลักธรรมที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญคือ นาถกรณธรรมและกุศลกรรมบถ เห็นได้ว่าเจ้าศากยะเน้นเรื่องการพึ่งพาตนเองและประกอบในกุศลธรรมมาก เนื่องจากมีทัศนคติที่ฝังแน่นในเรื่องความบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ของสายเลือด แต่จากทัศนคตินี้เองได้นำไปสู่ความมีสักกายทิฏฐิและมานะอย่างเหนียวแน่น จนนำไปสู่การถูกสังหารล้างเผ่าพันธุ์และความล่มสลายของเหล่าศากยวงศ์และแคว้นสักกะในที่สุด

จากการวิจัยยังพบว่าการที่พระราชามีปัญญาทางธรรมที่ดี สามารถขจัดอคติในจิตใจได้ย่อมนำมาสู่การมีผู้ช่วยหรือผู้บริหารราชการที่ดีด้วย ซึ่งผู้ช่วยพระราชามีบทบาทสำคัญมาก คือนอกจากต้องมีความสามารถแล้วยังต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อผู้นำด้วย ซึ่งพระราชาที่มีกัลยาณมิตรเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะนำแคว้นไปสู่ความเจริญได้พระราชาต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อผู้อื่นด้วย จึงจะสามารถรักษาความจงรักภักดีของผู้ใต้บังคับบัญชาไว้ได้